ไลฟ์โค้ชจะตกงานไหม ? The New York Times รายงานทีม AI Google กำลังพัฒนา AI ให้คำปรึกษาชีวิต แต่ความสามารถของมันจะช่วยเราได้แค่ไหน ?
รายงานระบุว่าหนึ่งในทีม AI ของ Google DeepMind กำลังพัฒนาเครื่องมือหลากหลายแบบ ที่ผู้ใช้สามารถถามคำถาม รับฟังคำตอบ เกี่ยวกับปัญหาชีวิต การวางแผน บทเรียนการใช้ชีวิต ฯลฯ
การพัฒนาเครื่องมือชุดนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย AI ของ Google นำเสนอกับผู้บริหาร ว่าผู้ใช้ที่ขอคำปรึกษาด้านชีวิต จาก AI อาจต้องพบเจอประสบการณ์ที่ทำลายสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือสิทธิ์เสรีของพวกเขา (สามารถควบคุมหรือมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมตัวเอง) และผู้ใช้บางคนที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปอาจคิดว่ามันมีความรู้สึก
บริษัทยังทำสัญญากับ Scale AI สตาร์ทอัพที่สามารถฝึกอบรมและตรวจสอบซอฟต์แวร์ AI เพื่อทดสอบเครื่องมือดังกล่าว โดยเน้นทดสอบว่ามันสามารถให้คำแนะนำด้านความสัมพันธ์หรือให้คำตอบเชิงส่วนตัวได้หรือไม่
ตัวอย่างหนึ่งจากคำสั่งที่เขียนให้ AI ช่วยตอบ ผู้ใช้ต้องการให้ AI ช่วยแนะนำว่าเขาควรจะไปงานแต่งงานของเพื่อนสมัยเรียนไหม ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยไปอีกว่า เขาหรือเธอนั้นตกงาน และไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก จึงไม่สามารถไปได้ และอยากให้ AI ช่วยหาข้อแก้ตัว
มันยังสามารถให้คำแนะนำกับทุกกิจกรรมของชีวิต เช่น ถ้าเราเป็นนักวิ่งต้องพัฒนาทักษะอย่างไร การจัดตารางออกกำลัง วางแผนการเงิน หรือแพลนมื้ออาหาร
ต้องบอกว่าสิ่งที่ Google DeepMind กำลังพัฒนานั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับการใช้งานด้านการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิต
ด้วยข้อจำกัดที่วงการแพทย์กำลังถกเถียงกัน กับการใช้ AI ในบริบททางการแพทย์หรือการบำบัด ว่ามันจะก่อผลเสียหรือดีมากกว่า และต้องคิดให้รอบคอบก่อนเอาไปใช้
ในเดือนมิถุนายน The National Eating Disorder Association สมาคมโรคกินแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้ปิดบริการสายด่วนให้คำปรึกษา รวมถึงแชตบอท AI ที่ชื่อว่า Tessa ที่ตั้งใจเอามาให้คำปรึกษากับผู้ที่เป็นโรคการกินผิดปกติ หลังจากมีรายงานว่ามีการให้คำแนะนำที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
แม้แต่โมเดล Bard ของ Google ยังถูกจำกัดไม่ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การเงิน หรือกฎหมาย และในด้านสุขภาพจิต ตัวโมเดลจะให้คำตอบได้เพียงแหล่งข้อมูลอื่นๆ ไม่สามารถตอบเองได้
ที่มา : CNBC, The New York Times
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด