ธนาคารออมสิน จับมือ ทิพย และ บางจาก เดินหน้าจัดตั้ง Non Bank รัฐ รุกธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เบื้องต้นคาดว่าจะคิดดอกเบี้ยต่ำ 8-9% หวังดึงดอกเบี้ยตลาดให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ออมสินจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% ส่วนที่เหลืออีก 51% จะเป็นของทิพย และบางจาก ซึ่งเบื้องต้นจะประเดิมทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายใน ก.ย. - ต.ค. 65 นี้
ผู้สื่อข่าวได้มีการรายงานว่า ภายในสัปดาห์นี้ ธนาคารออมสิน จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมทุนธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก กับ บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินโดยตรง ซึ่งเบื้องต้นมีการระดมทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท มีธนาคารออมสินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% ส่วนที่เหลืออีก 51% เป็นการร่วมทุนของบางจาก และทิพย กรุ๊ป จากนั้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565
การร่วมมือครั้งนี้เป็นการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ไม่ได้เข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทอื่น โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โดยในช่วงแรกจะเริ่มเข้าไปแข่งขันในสินเชื่อที่ดินและขายฝากก่อน เพราะที่ผ่านมามีการคิดดอกเบี้ยสูงมาก จึงจะเข้าไปแข่งทำให้ดอกเบี้ยตลาดลดลงตามนโยบายของรัฐบาล โดยเบื้องต้นจะคิดดอกเบี้ยประมาณ 8-9% ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยในตลาดที่เก็บสูงถึง 15-30% และในระยะต่อไปบริษัทมีแผนเข้าไปประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลอีกด้วย
ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทสินเชื่อที่ดินและขายฝาก จะมีสถานะเป็นนอนแบงก์รัฐ โดยพันธมิตรทั้งหมดที่เข้าร่วม จะมีหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นผู้หุ้นอยู่ เช่น ออมสินมีรัฐบาลเป็นประกัน ขณะที่ ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยเป็นถือหุ้นใหญ่ ส่วน บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ก็มีสำนักงานประกันสังคม กองทุนรวมวายุภักษ์ และกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก
จากการร่วมมือนี้ จะช่วยให้เกิดการนำเครือข่ายเข้ามาสนับสนุนการปล่อยกู้ โดยออมสินมีความเชี่ยวชาญด้านการปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อย และมีสาขามากกว่า 1,080 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจประกันและมีทีมนักสำรวจที่มีความพร้อม ส่วนบางจาก มีสถานีบริการน้ำมันกระจายมากถึง 1,233 แห่งทั่วประเทศ
ส่วนแนวทางการบริหาร ออมสินจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยการปล่อยกู้เบื้องต้นคำนวณการปล่อยสินเชื่อสูงสุด 75% จากราคาประเมินที่ของกรมธนารักษ์ หรือ 50% ของราคาตลาด ขณะเดียวกันจะเน้นเลือกกลุ่มที่ดินที่มีศักยภาพ ไม่เลือกที่ดินตาบอด หรือที่ดินที่มีการขุดหน้าดินออกไปขายแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจด้วย ส่วนการทำธุรกิจขายฝาก ก็จะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณา และวงเงินสินเชื่อที่ยืดหยุ่นมากกว่าสินเชื่อที่ดิน
อ้างอิง matichon
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด