ห้องปฏิบัติการ Grab-NUS AI ซึ่งมีสถานที่ปฏิบัติงานอยู่ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ข้อมูลของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS Institute of Data Science) จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนแพลตฟอร์มของแกร็บเพื่อพัฒนาวิธีแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งรวบรวมจากบริการรับส่งผู้โดยสารกว่าสองพันล้านเที่ยวของแกร็บนั้นมีความสำคัญ และจะช่วยให้นักวิจัยมีความเข้าใจ เชิงลึกเกี่ยวกับการเดินทางของผู้คนในแต่ละวันทั่วทั้งภูมิภาค และเมื่อข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ถูกนำมาผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเอไอของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถพัฒนาแบบแผนต่างๆ ด้านการจราจร ตลอดจนคิดค้นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการเดินทางและการใช้ชีวิตของคนในเมืองต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายแอนโทนี่ ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ ชี้ให้เห็นว่านับจากนี้เป็นต้นไป ข้อมูลเชิงลึกที่จะได้รับจากห้องปฏิบัติการ Grab-NUS AI จะสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับเมืองเช่นกรุงเทพฯ ได้อย่างไร “ข้อมูลจากแพลตฟอร์มแกร็บ สามารถนำมาใช้สร้างแบบแผนด้านการจราจรและการเดินทางของคนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลของเราระบุได้ว่า เราสามารถร่นเวลาในการเดินทางจากตลาดประตูน้ำไปสนามบินดอนเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ หากเราสามารถใช้เส้นทางเดิมด้วยวิธีการที่ดีกว่า อาทิ ระบบขนส่งที่ใช้ร่วมกันได้ เช่น รถเมล์ รถไฟ บริการเรียกรถโดยสารผ่านแอพ และบริการทางเดียวกันไปด้วยกัน เราจะสามารถประหยัดเวลาการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนได้ถึง 25% หรือจาก 45 นาที เหลือเพียง 34 นาที โดยแกร็บหวังว่าเราจะสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลของแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ Grab-NUS AI แห่งนี้มาใช้ในการร่วมแก้ไขปัญหาให้กับเมืองต่างๆ ได้”
ห้องปฏิบัติการ Grab-NUS AI จะมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพและความเสถียรของระบบขนส่งบนแพลตฟอร์มแกร็บที่ใช้ในเมืองต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะขยายผลการวิจัยไปสู่ระดับการแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ที่หลายเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด และคุณภาพการใช้ชีวิตของคนเมือง โดยทีมนักวิจัยประจำห้องปฏิบัติการ Grab-NUS AI จะสร้างแพลตฟอร์มเอไอที่ชาญฉลาดเพื่อรองรับระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้เองและแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล จนสามารถแปลงชุดข้อมูลมหาศาลของแกร็บ พัฒนาเป็นรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ได้ โดยห้องปฏิบัติการแห่งนี้จะช่วยให้แกร็บเข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้งานและพันธมิตรได้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำไปสู่การคาดการณ์ความต้องการล่วงหน้าได้ในที่สุด
ศาสตราจารย์ ตัน เอ็ง ชี อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในการเปิดแล็บเอไอแห่งแรกที่มีความสำคัญของแกร็บครั้งนี้ ห้องปฏิบัติการ Grab-NUS AI นับเป็นความร่วมมือที่ยอดเยี่ยม ที่จะทำให้ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลของแกร็บ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ จากข้อมูลเชิงลึกที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้คนในเอเชียและทั่วโลก นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยและนักศึกษาของเราจะมีโอกาสได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจริง ผ่านการทำวิจัยด้านการวิเคราะห์ผลข้อมูลและเอไออีกด้วย ในอนาคต เราหวังว่าจะสามารถพัฒนานักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักวิจัยด้านเอไอที่มีคุณภาพ เพียบพร้อมด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ต่อไป”
“แกร็บมุ่งมั่นช่วยแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะปัญหาจราจรที่ส่งผลกระทบต่อเมืองต่างๆ ที่ผ่านมาการทำงานของเราก้าวหน้าไปมาก โดยเรามุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านข้อมูลเชิงลึกที่สุดและมากที่สุดที่ได้จากข้อมูลนับล้านที่เกี่ยวข้องกับเส้นทาง การเดินทาง และสถานที่ที่ผู้คนสนใจ ซึ่งแล็บเอไอแห่งนี้จะสามารถใช้ประโยชน์จากความมหัศจรรย์ของข้อมูลเหล่านี้และระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้เองของแกร็บ รวมถึงงานวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชั้นนำระดับโลกแห่งนี้ เพื่อสร้างเครื่องมือที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถนำไปใช้สร้างระบบขนส่งอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในเมืองของตนได้” นายแอนโทนี่ กล่าวสรุป
นอกจากนี้ แล็บเอไอยังมีส่วนช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรที่มีความสามารถด้านเอไอของสิงคโปร์ ผ่านการฝึกอบรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ลงเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board - EDB) โครงการอบรมในหลักสูตรระดับปริญญาเอกจะช่วยสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับนักศึกษา อีกทั้งยังสามารถนำผลลัพธ์ไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงผ่านแพลตฟอร์มของแกร็บได้อีกด้วย
ห้องปฏิบัติการ Grab-NUS AI ตั้งอยู่ที่อาคารนวัตกรรม 4.0 ภายในวิทยาเขตเคนท์ริดจ์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ประกอบด้วยทีมนักวิจัยจำนวน 28 คน ที่จะประจำการอยู่ที่แล็บเอไอแห่งนี้ เพื่อดำเนินโครงการด้าน เอไอหลายโครงการด้วยกัน
---------------------------------------------
เกี่ยวกับ แกร็บ (Grab)
แกร็บ (Grab) คือแพลตฟอร์ม O2O (Online to Offline) ที่ให้บริการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของลูกค้าในการเดินทาง รับประทานอาหาร ส่งของ รวมไปถึงชำระเงินผ่านมือถือและโมบายวอลเล็ต ซึ่งได้รับการเรียกใช้งานมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แกร็บ เชื่อว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนควรได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัล จึงได้ให้บริการที่หลากหลาย ซึ่งครอบคลุมการเดินทาง การรับส่งอาหาร การจัดส่งพัสดุสินค้า รวมไปถึงการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงินต่างๆ ในปัจจุบัน แกร็บให้บริการใน 8 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา สามารถอ่านและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.grab.com
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS)
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางทวีปเอเชีย โดยเป็นมหาวิทยาลัยสำคัญของชาติ ที่มอบวิทยาการระดับโลกในการศึกษาและการค้นคว้า โดยมุ่งเน้นด้านทัศนะและความเชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชีย
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ประกอบด้วยสามวิทยาเขต ซึ่งมีคณะและวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 17 สาขา โดยมุ่งปฏิรูประบบการศึกษาด้วยหลักสูตรรวมวิชา ที่สร้างเสริมโดยวิชาสหวิทยาการ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคณะ นักศึกษาจำนวนกว่า 38,000 คนจากกว่า 100 ประเทศ ได้ร่วมสร้างสังคมด้วยมุมมองทางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ยังพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนและสร้างความแปลกใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ใช้ระบบบูรณาการและสหวิทยาการในการทำวิจัย ร่วมงานกับพันธมิตรทั้งจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสถาบันทางวิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความสำคัญและซับซ้อนทั้งในเอเชียและในระดับโลก นักวิจัยในคณะและวิทยาลัย สถาบันและศูนย์วิจัย 30 แห่งที่เทียบเท่าระดับมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ (Research Centres of Excellence) ได้ทำการศึกษาหัวข้อต่างๆ นับตั้งแต่ด้านพลังงาน ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเมือง การรักษาและป้องกันโรคที่พบบ่อยในประชากรเอเชีย พฤฒพลัง วัสดุขั้นสูง การบริหารความเสี่ยง และเสถียรภาพของระบบการเงิน สำหรับหัวข้อการศึกษาล่าสุดที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นสำหรับงานวิจัย คือ การใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล การวิจัยการปฏิบัติการ และความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการก้าวสู่ความเป็นชาติอัจฉริยะ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nus.edu.sg
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด