เปิดตัว Nissan Leaf ราคานี้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเกิดในไทยหรือไม่ | Techsauce

เปิดตัว Nissan Leaf ราคานี้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเกิดในไทยหรือไม่

  • Nissan เปิดตัว Nissan Leaf อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตั้งราคาจำหน่าย 1,990,000 บาท นับเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่เปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
  • การเปิดตัว Nissan Leaf ในประเทศไทยเป็นไปตามที่แนวทางที่เคยเผยในงาน Techsauce Global Summit 2018
  • ราคาขายที่สูงเมื่อเทียบกับ Segment เดียวกัน และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อมทำให้เกิด Electric Vehicle Ecosystem ได้ยาก และอาจไม่ทันใช้แก้ปัญหาที่เราคาดหวัง

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงนี้ทีเดียว สำหรับการเปิดราคาขายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยของ Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายสูงระดับโลก ซึ่งความน่าสนใจคือระดับเพดานราคาที่สูงเมื่อเทียบกับ Segment เดียวกัน จะส่งผลต่ออนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่มีผลดีต่อเมืองในประเทศไทยอย่างไร

Nissan Leaf ขายในประเทศไทยแล้ว

เริ่มต้นที่รายละเอียดของ Nissan Leaf กันก่อน โดยอันที่จริงแล้ว รถยนต์รุ่นนี้มีข่าวลือเรื่องการเข้ามาทำตลาดในบ้านเราตั้งแต่ปลายปี 2017 จนกระทั่งเปิดตัวช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2018 นั่นเอง

Nissan Leaf รุ่นที่ขายในประเทศไทยเป็น Generation ที่ 2 เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 โดยเป็นรถยนต์ 5 ประตู ระดับ C-Segment ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 148 แรงม้า แรงบิด 320 นิวตันเมตร พร้อมด้วยแบตเตอรี Li-ion ขนาด 40 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง โดยวิ่งได้ระยะทางประมาณทาง 311 กิโลเมตร ตามมาตรฐานการวัดค่าไอเสียและอัตราสิ้นเปลืองในการขับขี่ของยุโรป หรือ NEDC

สำหรับราคาของยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ในประเทศไทยอยู่ที่ 1,990,000 บาท โดยมีเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ไม่มีรุ่นย่อยอื่น โดยมีการรับประกันแบตเตอรี 8 ปี และระบบไฟฟ้า 5 ปี

Nissan Leaf ถือเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก โดยมียอดขายมากกว่า 300,000 คัน จากการจำหน่ายตั้งแต่ปี 2010 ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

Nissan เคยพูดถึงยานยนต์ไฟฟ้าใน Techsauce Global Summit 2018

คุณ Peter Galli, Vice President of Communication จาก Nissan Thailand เป็นหนึ่งใน Speaker ของ Techsauce Global Summit 2018 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ Tipping Point for EV, what does it look like? ซึ่งพูดถึงเรื่องราวของยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับคุณกฤษดา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กรของ BMW Thailand, ผศ.ดร.ยศพงศ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และคุณวริศ เตชะจินดา ผู้จัดการ Value Chain ด้านไฟฟ้าจาก ปตท.

คุณ Peter Galli กล่าวว่า “เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราจับมือกับ Frost and Sillivan จัดทำสำรวจเกี่ยวกับอนาคตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทย รายงานระบุว่า ความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่า พวกเขาจะพิจารณารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในการวางแผนเพื่อซื้อรถคันต่อไป”

“ผลการสำรวจพบว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องราคา แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัย รวมถึงระยะทางในการขับขี่” คุณ Galli กล่าว

ดร.ยศพงษ์ เสริมว่า โครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จแบตเตอรีเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผู้พิจารณาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากังวลมากที่สุด ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินกลยุทธ์ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

“เรามีแผนนำ Nissan Leaf ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายดีที่สุดในโลก เข้าสู่ตลาดประเทศไทย และกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและ Ecosystem ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย” คุณ Galli กล่าว

ความเห็นกองบรรณาธิการ: ราคาที่สูงและโครงสร้างไม่พร้อม รถไฟฟ้าจึงยังไม่ครองเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาของยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ก็นับว่าสูงเอาการเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับรถยนต์ใน Segment เดียวกัน การตั้งราคาสูงขนาดนี้ไม่ได้เกิดจากผู้ผลิตรถยนต์อย่างที่คิดกัน แต่เกิดจาก “ภาษี” เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจึงต้องนำเข้าและโดนภาษีที่สูง ดังที่เคยเห็นจากราคาขายในไทยของ Tesla Model S ที่สูงถึง 8,000,000 บาท แม้ราคาขายในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 3,000,000 บาทเท่านั้น

โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นอีกประเด็นที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อมใช้งาน แม้เราจะมีไฟฟ้าใช้เกือบทั้งประเทศ แต่การสร้างจุดชาร์จไฟก็ต้องมี Solution รองรับที่เหมาะสม ทั้งยังการลงทุนสร้างเพื่อตอบรับการใช้งานที่สอดคล้องกับผู้ใช้รถในปัจจุบัน อีกโครงสร้างหนึ่งที่ควรคำนึงไม่แพ้กันคือฐานการผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าตามความต้องการของตลาด ซึ่งในไทยยังไม่มีกระบวนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ใหญ่พอจะขับเคลื่อนส่วนนี้ได้

เมื่อโครงสร้างต่างๆ ไม่พร้อม Support การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งราคาที่สูง ขาดแหล่งเติมพลังงานที และความไม่พร้อมเป็นฐานการผลิต รถยนต์ไฟฟ้าก็จะกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มที่ไม่ก่อ Impact ต่อสังคมมากนักอย่างที่เราคาดหวัง

การเปิดตัวขาย Nissan Leaf ถือเป็น Trigger ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการพัฒนา Ecosystem ซึ่งอันที่จริง เราถูกเร่งให้ลงมือทำเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและความแออัดของเมือง หลายคนมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแก้ไขตรงนี้ได้ แต่ก็ต้องดูกันว่า Ecosystem จะโตทันความจำเป็นใช้ หรือจะตายเสียก่อนจนเราต้องหาทางเลือกอื่นแทน

ขอบคุณภาพประกอบจาก Nissan

หากสนใจเรื่องยานยนต์ ลองอ่านบทความ Automotive Tech Trend ในอนาคตได้ที่นี่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

องค์กรไทยพร้อมแค่ไหนเรื่อง AI? ซิสโก้เผยไทยพร้อมเพียง 21% แม้ลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนยังต่ำกว่าคาด

ซิสโก้เผยผลสำรวจ 'ดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปี 2024' ชี้องค์กรไทยเผชิญความท้าทายในการใช้ AI แม้จะมีการตื่นตัวและลงทุน แต่ความพร้อมโดยรวมยังต่ำ โดยมีองค์กรเพียง 21% ที่พร้อมใช้งาน ...

Responsive image

ทุนจีนดันไทยเป็นฐานที่ตั้งการผลิตแห่งใหม่ ตั้งรับภัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งให้ตลาดรถยนต์ EV-อิเล็กทรอนิกส์พุ่งแรง

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้บริษัทจีนหลายแห่งทั้งในอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ได้พร้อมใจเร่งขยายฐานธุรกิจในประเทศไทย เพื่อ...

Responsive image

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน...