Infineon Technologies AG บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำจากประเทศเยอรมนี ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (Backend Production) แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกระจายฐานการผลิตของบริษัทให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
หลังจากการประชุมอย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ณ ทำเนียบรัฐบาล ดร.รุตเกอร์ ไวส์เบิร์ก (Dr. Rutger Wijburg) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของ Infineon ได้เริ่มต้นพิธีก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่นี้อย่างเป็นทางการ
โรงงานแห่งแรกมีกำหนดจะเริ่มเปิดดำเนินการในต้นปี 2026 ในส่วนของการขยายตัวในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของตลาด ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโรงงานแห่งใหม่นี้ได้รวมอยู่ในประมาณการค่าใช้จ่ายด้านทุน (Capex) ของปี 2025 โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI)
โรงงานแห่งใหม่นี้ถูกออกแบบให้มีความทันสมัยสูงสุดและมีระบบอัตโนมัติที่ครบครัน โดยจะมีบทบาทสำคัญในการกระจายฐานการผลิตของ Infineon เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Power Module เช่น การใช้งานในอุตสาหกรรมและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีความสำคัญต่อความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอนและปกป้องสภาพภูมิอากาศ
Dr. Rutger Wijburg COO ของ Infineon กล่าวว่า “ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เราจึงกำลังสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (Backend) ที่ทันสมัยขึ้นในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคตและเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนนี้เป็นก้าวสำคัญในกลยุทธ์ของเราในการกระจายฐานการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน สอดคล้องไปกับการขยายกำลังการผลิตในส่วน Frontend โรงงานแห่งใหม่นี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น และมีคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงให้กับลูกค้าได้อย่างน่าเชื่อถือ"
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า "BOI ยินดีต้อนรับและสนับสนุนการตัดสินใจของ Infineon ในการลงทุนก่อตั้งผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในสมุทรปราการ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่าง Infineon และรัฐบาลไทย อีกทั้งยังเป็นการยืนยันถึงความเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและศักยภาพการเติบโตของประเทศไทย การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติในเดือนธันวาคม 2024 และการลงทุนของ Infineon จะช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาค และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก"
Infineon มุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยครอบคลุมองค์ประกอบและวัสดุที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือกับธุรกิจและสถาบันในท้องถิ่น บริษัทจะเสริมสร้างระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์และพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง
นอกจากนี้ Infineon ยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อสร้างกลุ่มบุคลากรที่มีทักษะทางด้านวิศวกรรมขั้นสูง โดยมีการจัดทำโปรแกรมฝึกอบรมและพัฒนาทักษะที่ครอบคลุมในด้าน AI ดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ ซึ่งวิศวกรไทยกลุ่มแรกได้สำเร็จการฝึกอบรมที่โรงงานของ Infineon ในต่างประเทศแล้ว
Infineon ตั้งเป้าที่จะบรรลุ Climate Neutrality ภายในปี 2030 โดยความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนถูกผนวกรวมเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบและก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ โรงงานนี้จะติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตพลังงานหมุนเวียนด้วยตนเอง รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการพลังงานในท้องถิ่นเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเชื่อถือได้
อ้างอิง: infineon
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด