บริษัท iPrice Group -- แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ได้รับเงินระดมทุนใหม่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกครั้งใน Series B จาก ACA Investment Pte Ltd ร่วมกับ Daiwa PI Partners และกองทัพนักลงทุนเดิมอย่าง LINE Ventures, Mirae Asset-Naver Asia Growth Fund เพื่อผลักดัน iPrice ก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้นำแอพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ที่มีคุณภาพ
ในปี 2014 กลุ่มบริษัท iPrice Group ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางอันสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร จากการที่ผู้บริโภคมักถูกกระหน่ำด้วยตัวเลือกอันมากมายจากหลากหลายเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซตลอดหลายปีที่ผ่านมา iPrice ได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของตลาดอีคอมเมิร์ซ SEA ที่มีสินค้ามากกว่า 1.5 พันล้านรายการจากคู่ค้ากว่า 1,500 ราย ปัจจุบัน iPrice เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมเว็บอีคอมเมิร์ซชั้นนำในภูมิภาคโดยเฉพาะตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศอินโดนีเซีย, เวียดนาม, ไทย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฮ่องกง
ด้วยธุรกรรมกว่า 5 ล้านรายการที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม iPrice ในปี 2019 ควบคู่ไปกับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มากกว่า 20 ล้านคนต่อเดือนทำให้แนวโน้มธุรกิจของ iPrice อยู่ในสภาวะ ‘ขาขึ้น’ เรื่อยมา เสริมทับด้วยผลสำรวจจาก Google และ Temasek ที่คาดการณ์ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะมีค่า GMV แตะ 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯภายในปี 2025
“อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต และเราเล็งเห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่นี้ กลุ่มบริษัท iPrice จะมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการครอบคลุมตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นประตูสำคัญไปสู่การช้อปปิ้งออนไลน์” นาย Tomohiro Fujita กรรมการผู้จัดการด้านการลงทุนของ บริษัท ACA Investments Pte. Ltd. กล่าว
เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีที่สุด กลุ่มบริษัท iPrice Group จะยกระดับสถานะจากการเป็นผู้รวบรวมเว็บอีคอมเมิร์ซชั้นนำก้าวสู่มิตรแท้ของนักช้อปออนไลน์ที่แท้จริง
เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นี้ iPrice จึงกำลังขยายอนาเขตการเป็นเว็บไซต์ที่ให้มากกว่าการเปรียบเทียบราคา โดยให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาสินค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้น iPrice จะทำการรวบรวมรายการสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ควบคู่ไปกับการรีวิวสินค้าระดับมืออาชีพ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ขายมาบริการนักช้อป ยิ่งไปกว่านั้น iPrice ยังจะมุ่งมอบสินค้าที่มีราคาที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคโดยการรวบรวมคูปองลดราคา และข้อเสนอที่ดีที่สุดสดใหม่ทุกวัน
ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศออนไลน์ ผู้บริโภคจึงมักพบว่าตัวเองหลงทางอยู่เสมอ เมื่อพิจารณาจากการเพิ่มขึ้น-ลดลงอย่างรวดเร็วของร้านค้าอีคอมเมิร์ซ iPrice จึงค้นพบว่าแท้จริงแล้วนักช้อปออนไลน์ต้องการแพลตฟอร์มเดียวที่สามารถรวบรวมสินค้าและร้านค้าอันมากมายมหาศาลไว้ในหนึ่งเดียว จึงมุ่งหวังที่จะทำให้ประสบการณ์ช้อปปิ้งของผู้บริโภคง่ายขึ้นโดยการปรากฎในทุก ๆ แหล่งที่นักช้อปออนไลน์จะเข้าถึง
“เพื่อให้เป้าหมายของเราลุล่วงต่อไป เราต้องอยู่ในทุกที่ที่ผู้บริโภคอยู่ เราจำเป็นต้องดึงดูดผู้ใช้ให้ยังคงใช้และกลับมาใช้บริการบนแพลตฟอร์มของเราต่อไป และคงฐานะผู้นำแพลตฟอร์มอันมั่นคงบน Google เนื่องจากมันยังคงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับนักช้อปปิ้งจำนวนมาก และทำให้คู่ค้าทั่วทั้งภูมิภาค เช่น แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดีย และแอพฯ สุดยอดใหม่ ๆ สามารถจัดหาเนื้อหาด้านอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้เยี่ยมชมของพวกเขา” นาย David Chmelar กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มบริษัท iPrice Group กล่าว
“iPrice มีศักยภาพที่จะเป็นผู้รวบรวมเว็บอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียทั้งหมด บริษัทขยายบริการด้วยสุดยอดแอพฯต่าง ๆ อย่าง LINE และ Home Credit นอกเหนือจากนี้ การจัดการที่แข็งแกร่งของ iPrice ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพนักงานที่มีความสามารถจากหลากหลายประเทศ ทำให้เรามีความมั่นใจในการลงทุนในบริษัทนี้ เพราะเห็นถึงศักยภาพมากที่จะเติบโตต่อไป” นาย Hirofumi Imamura ผู้อำนวยการด้านหุ้นส่วน บริษัท Daiwa PI กล่าว
การลงทุนรอบนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณค่าของกลุ่ม meta-search และศักยภาพที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หน่วยธุรกิจหลักของ iPrice คิดเป็น 50% ของรายได้ ดำเนินงานอยู่ที่ 30% EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) และอยู่ในแผนที่จะเปลี่ยนส่วนอื่น ๆ ของธุรกิจให้อยู่ในระดับการทำกำไรเดียวกันภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ด้วยความพยายามทั้งหมดที่จะเดินหน้าต่อไป มันยังคงอยู่บนเส้นทางที่จะกลายเป็นเกตเวย์หลักของประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คุณ David Chmelar แจ้งว่า “Covid-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซทางตรง แต่เป็นทางอ้อมมากกว่า จะเห็นว่ายอดการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั่นเพิ่มขึ้นในช่วงที่ไวรัสระบาด แต่ปัญหาคือสินค้าส่วนใหญ่ล้วนมีฐานการผลิตอยู่ที่จีนทำให้มีระยะเวลาการจัดส่งที่ยาวนานกว่าเดิมเหตุจากพนักงานถูกยกเลิกจ้าง หรือขาดงาน แม้การมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นดูเหมือนจะเป็นข้อดี แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่ามูลค่าการซื้อขายไม่ได้เพิ่มมากเท่าที่ควร”
มากไปกว่านั้นนางสาวขนิษฐา สาสะกุล หัวหน้าทีม Content Marketing ประจำประเทศไทยยังกล่าวเสริมว่า “หากสถานการณ์ Covid-19 ในไทยยังไม่ดีขึ้น iPrice ก็มีแผนการผลิตคอนเทนต์เชิงให้ความรู้เชื่อมโยงกับหลากหลายประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว, อีคอมเมิร์ซและธุรกิจขนส่ง เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านใช้ชีวิตประจำวันในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงนี้ได้ดียิ่งขึ้น”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด