KBANK เผยงบ Q1/64 กวาดกำไร 10,627 ล้านบาท โต 44.10% | Techsauce

KBANK เผยงบ Q1/64 กวาดกำไร 10,627 ล้านบาท โต 44.10%

 ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เผยผลประกอบการไตรมาส1/2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 10,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,252 ล้านบาท หรือ 44.10% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่เปรียบเทียบกับ ไตรมาส 4/2563 กำไรลดลงจากไตรมาสก่อน 2,631 ล้านบาท หรือ 19.85% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้

KBANK เผยงบ Q1/64 กวาดกำไร 10,627 ล้านบาท โต 44.10%

คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2564 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้แรงส่งจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขาดความต่อเนื่อง แม้จะมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ก็เริ่มได้รับอานิสงส์บางส่วนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2564 นั้น มองว่าเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความไม่แน่นอน และสถานการณ์ในแต่ละภาคส่วนยังมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์ COVID-19  ภายในประเทศ  

ไตรมาส 1 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,627 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 2,631 ล้านบาท หรือ 19.85% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 23,496 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2563 จำนวน 4,857 ล้านบาท หรือ 26.06% หลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,530 ล้านบาท หรือ 5.75% ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.16% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 414 ล้านบาท หรือ 3.36% ส่วนใหญ่เป็นผลจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,129 ล้านบาท หรือ 13.60%  ส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน และค่าธรรมเนียมรับจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 3,741 ล้านบาท หรือ 18.45% เนื่องจากในไตรมาสก่อน หลัก ๆ มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 41.30% นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสนี้จำนวน 8,650 ล้านบาท แม้ว่าไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารตั้งสำรองฯ ลดลงหลังจากที่ตั้งในระดับที่สูงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่แพร่ระบาดในวงกว้างช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2564 รวมทั้งธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ จึงมีสำรองฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  

ไตรมาส 1 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,252 ล้านบาท หรือ 44.10% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 1,923 ล้านบาท หรือ 19.30% เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to Market) ของสินทรัพย์ทางการเงินตามภาวะตลาด และค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 950 ล้านบาท หรือ 5.44% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.30% รวมทั้ง ธนาคารและบริษัทย่อยมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,650 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,222ล้านบาท หรือ 27.14% โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ของโควิด-19  

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,767,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 108,317 ล้านบาท หรือ 2.96% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ และการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ซึ่งธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 3.93% ในระดับเดียวกับสิ้นปี 2563 อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 153.98% โดยสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 18.44% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 อยู่ที่ 15.80% 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Sovereign AI สำคัญอย่างไร ? จากปาก Jensen Huang ในวันที่ ‘ข้อมูลไทย’ คือทรัพยากรใหม่

สำรวจบทบาทของ Sovereign AI ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พร้อมคำอธิบายจาก Jensen Huang CEO ของ NVIDIA เกี่ยวกับ AI ไทยและ Open Thai GPT ที่จะเปลี่ยนอนาคตของเทคโนโลยีในประเทศไทย...

Responsive image

สรุป 3 ความร่วมมือ Jensen Huang ร่วมงาน AI Vision for Thailand ไทยได้อะไรบ้าง ?

Jensen Huang เดินทางเข้าร่วมงาน AI Vision for Thailand จัดขึ้นโดย SIAM.AI CLOUD โดยได้เผยวิสัยทัศน์การขับเคลื่อน AI ในประเทศไทย ทั้งนี้ Siam.AI ได้เปิดตัวโครงสร้างพื้นฐาน AI ของ...

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...