ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลังงานเป็นอีก Sector หนึ่งที่จะถูก Disrupt โดยอาศัยพลังจากเทคโนโลยีอันหลักหลาย แม้จะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและการเกิด Smart City แต่ก็มีส่วนที่ต้องคำนึงก็คือผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานแบบเดิมที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามแนวคิดนั้นๆ ทำให้ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจึงได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นและสรุปร่างแผนงานเกี่ยวกับการใช้ระบบ Microgrid ในประเทศไทยอันเป็นพื้นฐานของการผลิตและใช้พลังงานในอนาคตเพื่อเสนอกระทรวงพลังงาน
คุณวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.เตรียมสรุปข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นระบบธุรกิจ Microgrid ครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนที่จะกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจไมโครกริดที่เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตไฟเอง (Prosumer) รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรายย่อย (Peer to Peer)
นอกจากนี้ แผนจะพูดถึงการจัดการไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันภายใต้โครงข่ายเล็กหรือ Microgrid ไปจนถึงการเตรียมตัวของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คุณศุภสิทธิ์ อัมราลิขิต ที่ปรึกษาโครงการร่างรูปแบบธุรกิจระบบ Microgrid กล่าวว่า ระบบไฟฟ้าแบบ Microgrid ไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานมากกว่าการคอยพึ่งพาระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
คุณสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แสดงความเห็นสอดคล้องในประเด็นยานยนต์ไฟฟ้าว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องการแหล่งชาร์จพลังงานตลอดเส้นทางในประเทศไทย ซึ่งระบบไฟฟ้าแบบ Microgrid จะช่วยตอบโจทย์ในส่วนนี้ เนื่องจากทำให้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ได้ตลอด ทั้งยังมีแนวโน้มได้ราคาถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐฯ ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทขับเคลื่อนสมาร์ทกริดระยะสั้น ปี พ.ศ. 2559 - 2564 ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ มาตรการความร่วมมือการลดใช้พลังงาน, ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนให้สามารถเพิ่มระดับการพึ่งพาได้ และระบบ Microgrid กับระบบกักเก็บพลังงานที่ไว้ใช้ในยามวิกฤติ ทั้งนี้ จะตั้งเป้าให้เกิดการใช้ระบบ Microgrid เชิงธุรกิจภายใน 3-5 โครงการ ในพื้นที่อุตสาหกรรมและ Smart City ต่างๆ เช่น ในพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC
อ้างอิง: ศูนย์ข่าวพลังงานและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด