กระทรวงคลังเตือนซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency อาจทำผิดกฎหมายพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ มีสิทธิติดคุกได้ พร้อมเผยว่าระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. และ ปปง. อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดูแลสกุลเงินดิจิทัลอย่างเหมาะสม
กระทรวงการคลังออกเอกสารข่าวฉบับที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ในหัวข้อเรื่อง "ประกาศแจ้งเตือนซื้อ – ขายสกุลเงินดิจิทัลที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527"
โดยเอกสารข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า ตามที่กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เคยแถลงข่าวสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ในการนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ในข้อกฎหมายของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ) และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการชักชวนซื้อ-ขาย สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่มีการดำเนินการ กันอยู่ในขณะนี้
ชวนอ่าน : พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (เนื้อหาไม่ยาวมาก มีเพียง 8 มาตรา)
โดยกระทรวงการคลังแบ่งชี้แจงออกเป็น 4 ข้อ คือ
1. ปัจจุบัน “สกุลเงินดิจิทัล” อาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้และมีมูลค่าดังเช่นสกุลเงินสกุลหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin เป็นต้น เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย ซึ่งปรากฏตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉบับที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557
2. มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลเกิดจากอุปสงค์และอุปทานของตัวมันเองที่ทำให้มูลค่าของมันเพิ่มขึ้นหรือลดลงโดยที่ตัวมันเอง ไม่มีกิจการใดที่ถูกต้องตามกฎหมายรองรับในการสร้างรายได้เพื่อการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน
3. มูลค่าของเงินสกุลดิจิทัลที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เป็นแรงจูงใจทำให้ประชาชนสนใจที่จะซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เพราะคิดว่ามีผลตอบแทนสูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจส่งผลให้มีการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น
4. ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ ได้วางหลักข้อกฎหมายว่า ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยโฆษณาหรือประกาศเชิญชวนให้ลงทุนใด ๆ ที่มีพฤติกรรมจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูง โดยไม่มีกิจการใดที่ถูกต้องตามกฎหมายรองรับ อาจมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
ทั้งนี้เอกสารข่าวระบุปิดท้ายว่า
ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดูแลสกุลเงินดิจิทัลอย่างเหมาะสม
อ้างอิงข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด