Aggie Haven Accelerator แห่งศูนย์วิจัยบีซีจีเพื่อเศรษฐกิจชนบทยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำโดย ดร. กำไร เบือนสันเทียะ จับมือกับ ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นม.) พร้อมด้วยสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ 13 เอกชนโคราช ร่วมจัดอบรม Startup Booth Camp “หลักสูตร การระดมทุนและการบริหาร Startup ด้านเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดและยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ระหว่างวันที่ 14-16 และ 21-23 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมแคนทารี่ โคราช จ.นครราชสีมา โดยโครงการได้รับทุนสนับสนุนจาก งบประมาณแผ่นดินสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งการอบรมครั้งนี้มีผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และผู้สนใจทั่วไป ที่มีไอเดียในการทำ startup จากทั่วทุกภูมิภาคสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมฝึกอบรมจำนวนมาก และมีเพียง 60 ท่านที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งในงานได้มีการเสวนา เรื่อง “หลักสูตรการระดมทุนและการบริหาร Startup ด้านเกษตรและอาหารเพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดและยั่งยืน กับ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ Northeastern Economic Corridor : NeEC-Bioeconomy : ศักยภาพ โอกาส และความท้าทายของ Startup”
ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “สร้างเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องสำคัญของสำคัญที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของชาวโคราช โคราชเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงในการผลักดันให้เกิด “โคราชสตาร์ทอัพซิตี้” ซึ่ง อบจ.นครราชสีมา มีความยินดีในการร่วมส่งเสริม สนับสนุน พร้อมผลักดันโคราชให้มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (startup ecosystem) ให้เป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากทั่วโลก
คุณหัสดิน สุพัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคณะที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวย้ำความเป็นผู้นำของ “โคราชเมืองแห่งการสร้างโอกาสทางธุรกิจ” เชื่อมโยงงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พร้อมเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.นครราชสีมา) ที่จะช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจและสตาร์ทอัพให้พุ่งทะยาน ครอบคลุมทุกด้าน พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรเอกชนโคราช ที่จะร่วมผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่จะมาเริ่มทำธุรกิจในโคราชให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาค
คุณ กิตติกร โตใหญ่ ผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้เดินหน้าจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME โดยมุ่งเน้นสร้างการเติบโตครอบคลุมเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม และมุ่งเป้าในกลุ่มที่มีศักยภาพ เพื่อวางกรอบทิศทางการส่งเสริม SME ประจำปีของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญจะเป็นกรอบในการจัดทำข้อเสนอโครงการและงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ สสว. เล็งเห็นว่ามีศักยภาพ จึงได้มีการคัดเลือกเพื่อให้จัดทำโครงการที่จะขับเคลื่อนสตาร์ทอัพในภูมิภาคได้มีโอกาสได้เติบโต นอกจากนี้ สสว. ยังมีบริการดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ (Business Development Service) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่ผู้ประกอบการ SME จะสามารถเลือกรับการบริการ หรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service Provider : BDSP) ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน โดย สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบการ SME แบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50 ตามขนาดของธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการ SME สามารถยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการบริการและการพัฒนาในด้านต่างๆ ตามช่องทางนี้ได้อีกด้วย
ดร.วิวัฒน์ นวลสิงห์ ผู้อำนวยการสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า มทส. เป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา สร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจด้านความเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาแนวคิด องค์ความรู้ และทักษะความเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นยุทธศาสตร์ของภูมิภาค และเป็นแหล่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่า (value add) ให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของ มทส. เกิดประโยชน์สูงสุดกับการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะในการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ NeEC
ดร. นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวเสริมถึงศักยภาพของพื้นที่ในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมการเกษตรไม่เฉพาะของประเทศไทย แต่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำแม่โขง โดย ดีป้าเป็นหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งเสริมประสิทธิภาพและสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มตั้งแต่การผลิต (Smart Manufacturing) และการขนส่งที่ชาญฉลาด (Smart Logistics) จนถึงการสร้าง "เศรษฐกิจแพลต์ฟอร์ม" (Platform Economy) เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างความต้องการซื้อและขายสินค้าและบริการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี โคราชมีความพร้อมทั้งเรื่องของ ทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ รวมถึงความพร้อมของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนความเป็นศูนย์กลางดังกล่าว ซึ่ง ดร. นน อัครประเสริฐกุล ซึ่งเป็นลูกหลานคนโคราชก็อยากที่จะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดและช่วยการขับเคลื่อนระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ NeEC อย่างเป็นรูปธรรม
คุณสายัณห์ ไวรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบ๊คสเตอร์ จำกัด เผยว่า หลักสูตรการระดมทุนและการบริหาร startup ด้านเกษตรและอาหารเพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดและยั่งยืน จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากำลังคน (Human Capital) ด้าน startup ด้านเกษตรและอาหารที่สำคัญ ที่จะผลักดันให้เกิด “โคราชสตาร์ทอัพซิตี้” ที่จะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ปากช่อง ซึ่งมีอากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่ startup ทั่วโลกจะมารวมกันที่โคราช
ดร.กำไร เบือนสันเทียะ ผู้อำนวยการหลักสูตรการระดมทุนและการบริหาร startup ด้านเกษตรและอาหารเพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดและยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) เป็นฐานขับเคลื่อนที่สำคัญด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ภายใต้โมเดล BCG ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านทรัพยากรชีวภาพ เพื่อปลดล็อกการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรูปแบบเดิม ที่“ทำมากถึงได้มาก” ไปสู่การผลิตแบบ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต และยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสร้างมลภาวะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ซึ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องการสตาร์ทอัพมาเป็นพาร์ทเนอร์ พร้อมนี้ ดร.กำไร ได้ทิ้งท้ายว่า โคราชเป็นเมืองที่มีความพร้อม มีอุตสาหกรรมเกษตรจำนวนมาก มีผู้ใหญ่ในจังหวัดให้การสนับสนุน เอกชนรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมทั้งเป็นเมืองแห่งการศึกษาและการเรียนรู้ หากมีการริเริ่ม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างความสำเร็จ” ไปด้วยกัน โดยระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพประกอบไปด้วย Accelerator, Back-office และ Capital จะช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่งผลให้โคราชมีศักยภาพในการปั้น startup ที่แข่งขันได้ในระดับโลก นอกจากนี้หากมีการบูรณาการผลักดันนโยบายการดึงดูดการทำธุรกิจและลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ “สร้างโคราชให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ NeEC โดยคนไทย เพื่อคนไทย” ที่จะผลักดัน “การส่งเสริม SME ในหมุดหมายที่ 7 ภายใต้แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 : ไทยมี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้” ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้สตาร์ทอัพและธุรกิจไทยที่มาตั้งอยู่ที่โคราชให้มีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด