จากปัญหาราคายารักษาโรคมะเร็งนำเข้าที่มีราคาสูงลิ่ว ล่าสุด ปตท. ได้เสนอแนวทางสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง หวังช่วยลดต้นการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ไม่มุ่งเน้นกำไร ตั้งเป้าผลิตยาเองภายในปี 2025 คาดลดค่าใช้จ่ายนำเข้ากว่า 50%
คุณวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยถึงแผนพัฒนาและความคืบหน้าของ “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API)” ที่ร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) จากปัญหาเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณในการสร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็งขององค์การเภสัชกรรม ทำให้เกิดความร่วมมือนี้ขึ้น โดยเน้นการทำให้ต้นทุนถูกและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสิทธิบัตรรวมถึงผลิตภัณฑ์การจัดจำหน่ายจะเป็นขององค์การเภสัชกรรม โดยคาดว่าจะได้ข้อตกลงที่ชัดเจนภายในปีนี้และ ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งเนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจปิโตรเคมีและการบริหารจัดการโรงงาน และให้องค์การเภสัชกรรมทำสัญญาเช่าโรงงานระยะยาว
การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) กับ ปตท.ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2018 โดยตัวยาหลัก 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด(Chemotherapy) ที่เป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย 2. ยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน 3. ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง(Targeted Therapy)
อ้างอิงข้อมูลจาก Mgronline , Matichon, Energynewscenter
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด