จากประเด็นร้อนในแวดวงอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่าน เมื่อ Pavel Durov นักธุรกิจชาวรัสเซียวัย 39 ปี ผู้ก่อตั้งและ CEO ของแอป Telegram (แอปแชตคล้าย Line และ Whatsapp) ถูกจับกลางสนามบินเลอบูร์เกต์ ประเทศฝรั่งเศส ในข้อหาไม่ควบคุมและสกัดกั้นอาชญากรรมบนแอปพลิเคชัน
ท่ามกลางแอปแชตมากมาย ทำไมทางการถึงต้องมุ่งเป้าไปที่ Telegram บทความนี้ Techsauce จะมาสรุปข้อพิพาทที่ผ่านมาของ Pavel Durov ให้ฟังกัน !
ข้อพิพาทของ Pavel Durov ที่ทางการถึงต้องมุ่งเป้าไปหา Telegram
- 2006: เป็นปีแรกของการเดินทางเข้าสู่อุตสาหกรรม Social Media ของ Durov ในฐานะผู้ก่อตั้ง VKontakte (คล้าย Facebook ของรัสเซีย) ซึ่งกลายเป็นกลุ่มสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซียในเวลาเพียงไม่นาน
- 2013: Durov ได้เปิดตัว Telegram ซึ่งเป็นแอปแชตที่โด่งดังพลุแตกในรัสเซีย ยูเครน และอดีตประเทศสหภาพโซเวียตอื่นๆ
- 2014: Durov เริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลรัสเซีย เนื่องจากเขาปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของรัฐบาลในการปิดกั้นกลุ่มฝ่ายค้านบนแพลตฟอร์ม VKontakte ด้าน Durov จึงตัดสินใจอพยพออกจากรัสเซีย และขายหุ้นที่ถือใน VKontakte
- 2018: รัสเซียพยายามบล็อก Telegram หลังจากที่ Durov ปฏิเสธที่จะให้รัฐเข้าถึงข้อความของผู้ใช้
- 2021: หลังจากอพยพออกจากรัสเซีย Durov ก็ย้ายไปอยู่ที่ดูไป (ปัจจุบัน Telegram ตั้งสำนักงานใหญ่ในดูไบ) และได้รับสัญชาติฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- 2022: หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนเต็มรูปแบบ Telegram ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับเนื้อหาที่ไม่ได้ผ่านการกรองและบางครั้งมีเนื้อหาที่รุนแรงจากทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้แอปนี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเจ้าหน้าที่ของรัสเซียและยูเครน รวมถึงประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy ของยูเครน ประเทศในยุโรปหลายประเทศ รวมถึงฝรั่งเศส ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของ Telegram
- 2024: Durov ถูกรวบกลางสนามบินฝรั่งเศส การจับกุม Durov เชื่อมโยงกับการสืบสวนของหน่วยงานในฝรั่งเศสที่มุ่งเน้นการปกป้องเยาวชน จากแพลตฟอร์มที่ไม่มีการสกัดกั้นและคัดกรองเนื้อหาที่เป็นอันตราย เช่น การฉ้อโกง การค้ายาเสพติด อาชญากรรม การส่งเสริมการก่อการร้าย และการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
Pavel Durov เล่าถึงแรงกดดันจากรัสเซียและหน่วยงานรัฐทั่วโลก
ในบทสัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายนกับ Tucker Carlson อดีตพิธีกรของ Fox News โดย Durov ได้เปิดใจถึงช่วงเวลาที่เขาบริหาร VKontakte เขาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากทางการรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้เขาต้องออกจากประเทศในปี 2014
และหลังจากสร้าง Telegram ก็ต้องเผชิญกับการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานรัฐทั่วโลก เพราะความกังวลเกี่ยวกับแนวทางที่ไม่เข้มงวดของแพลตฟอร์มในการกลั่นกรองเนื้อหา แม้จะต้องเผชิญกับแรงกดดันและคำวิจารณ์มากมาย แต่ Durov ก็ยังคงยึดมั่นในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์ม
ผมอยากเป็นอิสระมากกว่า ผมไม่อยากรับคำสั่งจากใคร
Durov กล่าว โดยเน้นย้ำถึงความตั้งใจของเขาที่จะดำเนินการโดยปราศจากการควบคุมหรืออิทธิพลจากภายนอก ซึ่งด้าน Elon Musk เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง X ก็ออกมาปกป้อง Pavel Durov ผ่านแฮชแท็ก #FreePavel เพราะ Musk เองก็เข้าซื้อ X ด้วยอุดมการณ์เดียวกัน คือ การสนับสนุนเสรีภาพในการพูด
อ้างอิง: bloomberg , theguardian, nypost