ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz โดย Techsauce ได้รายงานว่า AIS และ dtac จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แต่ไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ True ไม่เข้าร่วมการประมูลทั้ง 1800 และ 900 MHZ
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. จัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดย พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เป็นประธานเปิดการประมูลพร้อมด้วย กสทช. เลขาธิการ กสทช. และคณะผู้บริหารของ สำนักงาน กสทช.
โดยหลักเกณฑ์การประมูลกำหนดให้ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz รวม 45 MHz แบ่งออกเป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต หรือ 20 MHz เท่านั้น
ซึ่งผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เสนอราคารวม 12,511 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูลจำนวน 1 ชุด คลื่นความถี่ชุดที่ 1 รวม 2 x 5 MHz ในช่วงความถี่วิทยุ 1740 - 1745 MHz คู่กับ 1835 - 1840 MHz
และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เสนอราคารวม 12,511 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูลจำนวน 1 ชุด คลื่นความถี่ชุดที่ 2 รวม 2 x 5 MHz ในช่วงความถี่วิทยุ 1745 - 1750 MHz คู่กับ 1840 - 1845 MHz
รวมเงินประมูลทั้งสองค่ายเสนอประมูลอยู่ที่ 25,022 ล้านบาท
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ระบุว่าในเวลานี้ บริษัทฯ ถือเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่ถือครองคลื่นความถี่ที่ได้รับจาก กสทช. มากที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เมื่อนับรวมกับการใช้โรมมิ่งคลื่นร่วมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้มีคลื่นในการให้บริการมากถึง 60 MHz โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีรวมกันถึง 20 MHz ทำให้ลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมายทั่วประเทศได้รับประสบการณ์การใช้งานเพิ่มมากขึ้นในเรื่องคุณภาพทั้งบริการผ่านเสียง และบริการดาต้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
“การประมูลครั้งนี้ ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี 4G เพียงรายเดียวที่มีคลื่นความถี่ติดกันมากที่สุด ทำให้รองรับความเร็วของการใช้งานบริการดาต้าของลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือสามารถรองรับในปริมาณที่มากขึ้นด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในตลาด รวมทั้งยังสามารถสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมในการรองรับคลื่นความถี่ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” คุณสมชัย กล่าว
คุณสมชัย ยังระบุต่อว่า คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่บริษัทประมูลได้มานั้น มีความเหมาะสมและความคุ้มค่าสูงสุดสำหรับการขยายความจุโครงข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของ 4G โดยเป็นการเพิ่มช่องสัญญาณจากเดิม และใช้ได้กับอุปกรณ์โครงข่าย 4G บนคลื่น 1800 MHz ที่มีอยู่ ซึ่งช่วยให้บริษัทประหยัดงบประมาณการลงทุนในระยะยาว
คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ระบุว่าคลื่น 1800 MHz ที่ได้จากการประมูลจะนำมาให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของลูกค้า 2G ที่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก และรวมถึงการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายบริการ 4G ตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
“ดีแทคต้องขอขอบคุณรัฐบาล และ กสทช. สำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่ที่ประสบความสำเร็จโดยคำนึงถึงข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ดีแทคมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะอนุมัติแผนมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการ และ กสทช. เพื่อไม่ให้ซิมดับและมีผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า หลังจากสิ้นสุดสัมปทาน” คุณลาร์ส กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด