SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทย Q1 2020 ช่วง COVID-19 เข้าสู่ภาวะถดถอย คาดไตรมาส 2 หนักสุด | Techsauce

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทย Q1 2020 ช่วง COVID-19 เข้าสู่ภาวะถดถอย คาดไตรมาส 2 หนักสุด

SCB EIC ประเมิน เศรษฐกิจไทย ใน Q1 2020 เข้าสู่สภาวะถดถอยจากผลกระทบโดย COVID-19 คาดตัวเลขไตรมาสที่ 2 หนักที่สุด ชี้การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นครึ่งปีหลังแบบค่อยเป็นค่อยไป

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2020 หดตัวที่ -1.8%YOY (นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2014 และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/2011) โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว (technical recession) หลัง GDP แบบ %QOQ sa หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส

  • โดยสรุป เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2020 ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ผ่านการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่ภาครัฐมีการเบิกจ่ายล่าช้าทำให้รายจ่ายด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐปรับลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตในหลายพืชสำคัญหดตัวเช่นกัน
  • EIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 จากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการภาครัฐและมาตรการเปิดเมืองบางส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญคือหากมีการกลับมาระบาดของ COVID-19 ในระดับที่น่ากังวล 
ก็อาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวเพิ่มเติมได้
  • ด้วยเศรษฐกิจไทยที่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแนวโน้มการหดตัวที่น่าจะรุนแรงขึ้นใน
ไตรมาสที่ 2/2020 รวมถึงการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก EIC จึงยังคงมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ในไตรมาสที่ 2/2020 
และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค. นี้ 
  • สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอย่างละเอียดของ EIC โปรดติดตามการเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2020 นี้

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2020 หดตัวที่ -1.8%YOY เป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2014และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2011 ที่ไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ และถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว (Recession) จากการที่เศรษฐกิจหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QOQ sa) ติดต่อกัน 2 ไตรมาส (ไตรมาสที่ 4 ปี 2019 -0.2%QOQ sa และไตรมาสที่ 1 ปี 2020 -2.2%QOQ sa)

เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) ได้รับแรงกดดันจากภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และรวมถึงรายจ่ายภาครัฐที่ลดลงจากความล่าช้าของการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2020 

  • มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ -6.7%YOY
    • การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวหดตัวกว่า -29.8%YOY ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปถึง -38.0%YOY ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา
    • แม้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.0%YOY แต่มาจากการส่งออกทองเป็นหลัก โดยการส่งออกทองคำจะไม่ถูกนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยหากหักผลของทอง มูลค่าการส่งออก ในช่วงไตรมาสแรกจะหดตัว -1.3%YOY โดยเป็นการหดตัวของหลายสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ข้าว รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวได้ดี จากอานิสงส์ของการ work from home ทั่วโลก ที่ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
  • การลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัว -5.5%YOY หลังจากขยายตัว 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวทั้งในส่วนของลงทุนก่อสร้าง (-4.3%YOY) และลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร (-5.7%YOY) โดยเฉพาะในหมวดรถยนต์
  • ความล่าช้าของการอนุมัติ ..งบประมาณปี 2020 ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายอุปโภคบริโภคของรัฐบาลดลง -2.7%YOY ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวที่ -9.3%YOY ปัจจัยหลักมาจากการก่อสร้างของรัฐบาลที่หดตัวสูงถึง -29.6%YOY แม้จะมีการขยายตัวของการก่อสร้างรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 20.8%YOY ส่วนด้านการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรภาครัฐขยายตัวที่ 4.2%YOY 
  • การใช้จ่ายเพื่อบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ 3.0%YOY โดยการขยายตัวมาจากใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่คงทน ขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนและกึ่งคงทนมีการหดตัวลงตามกำลังซื้อของครัวเรือนที่ชะลอตัวลง และผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มส่งผลในช่วงปลายไตรมาส

ในด้านการผลิต (Production Approach) ภาคเกษตรหดตัวมากจากผลของภัยแล้ง ภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวตามการส่งออก ส่วนด้านบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีการหดตัวในระดับสูง ขณะที่การก่อสร้างหดตัวมากจากทั้งการลดลงของการก่อสร้างภาคเอกชนและภาครัฐ

  • ภาคการเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ -5.7%YOY จากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลดลง อาทิ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น 
  • การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ -2.7%YOY ตามการลดลงของภาคส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อนข้างซบเซา โดยสินค้าสำคัญที่การผลิตหดตัว เช่น ยานยนต์ อาหาร
    การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และยางและพลาสติก
  • สาขาที่พักแรมและอาหารพลิกกลับมาหดตัวสูงถึง -24.1%YOY หลังจากขยายตัว 6.8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก
  • สาขาการขนส่งและจัดเก็บสินค้าลดลง -6.0%YOY โดยปัจจัยสำคัญมาจากการการหดตัวของการขนส่งทางบก (-4.2%YOY) และการขนส่งทางอากาศ (-20.8%YOY) ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง รวมถึงปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
  • ก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ -9.9%YOY ทั้งจากการลดลงของการก่อสร้างภาคเอกชนตามภาวะเศรษฐกิจ
    ในประเทศ และภาครัฐจากการอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้า
  • อย่างไรก็ดี การผลิตในหลายสาขายังขยายตัวแม้จะชะลอลง โดยสาขาสำคัญได้แก่ การขายส่งและ
    ขายปลีกที่ขยายตัว 4.5%YOY ชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.2%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการขยายตัวที่ชะลอลงได้รับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2020 ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ผ่านภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ สังเกตได้จากภาคการผลิตด้านโรงแรมและภัตตาคารที่หดตัวไปกว่า -24.1%YOY ขณะที่ด้านการส่งออก แม้ในภาพรวมจะสามารถขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรก แต่การขยายตัวส่วนใหญ่มาจากการส่งออกทองคำที่จะไม่ถูกนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยหากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัว ซึ่งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมลดลง -2.7%YOY อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกได้รับผลบวกจากการบริโภคสินค้าจำเป็น (Non-discretionary items) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้าก่อนที่จะมีการปิดเมือง นอกจากนี้ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในบ้านและ work from home ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เฟอร์นิเจอร์ และการสื่อสาร (ค่าอินเทอร์เน็ต) เป็นต้น

ในระยะต่อไป EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 จากผลกระทบมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก โดยการปิดเมืองจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลก (sudden stop) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของไทย ผ่านเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาด้าน supply chain disruption โดยจากรูปที่ 4 จะเห็นได้ว่าเครื่องชี้การส่งออกของโลก (Global PMI: Export orders) ในเดือนเมษายนลดลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 จะหดตัวในระดับสูง

นอกจากการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง ภาคท่องเที่ยวของไทยก็จะหดตัวในระดับสูงเช่นกัน โดยการปิดการเดินทางเข้าออกประเทศของไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% ในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน (รูปที่ 5) ประกอบกับการปิดเมืองที่ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงภาคขนส่ง และการค้าขายหลายประเภทที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวลึกที่สุดในปีนี้

ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี บนสมมติฐานสำคัญว่าจะต้องไม่มีการระบาดอีกรอบของ COVID-19 อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงไตรมาส 2 (%QoQ sa เป็นบวก) แต่หากคำนวณเทียบกับปีก่อนหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวทั้งปี 2020 นี้ (%YOY เป็นลบ)

เม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐจะมีส่วนอย่างมากในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปี 2020 โดยมาตรการที่จะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจปีนี้คือ พ.ร.ก. กู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือ 1) วงเงินสำหรับช่วยเหลือรายได้ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและเกษตรกรวงเงินกว่า 5.55 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายเงินบางส่วนไปแล้วตามนโยบายช่วยเหลือเงินผู้ได้รับผลกระทบเดือนละ 5 พันบาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศช่วยเหลือเกษตรกรในจำนวนเงินเท่ากันที่ 5 พันบาทต่อคน ในระยะเวลา 3 เดือน และ 2) วงเงินสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 4 แสนล้านบาท โดยเม็ดเงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท จะไม่ได้เข้าสู่เศรษฐกิจปีนี้ทั้งหมด แต่จะทยอยเข้าพยุงเศรษฐกิจในช่วงปัจจุบันจนถึงเดือนกันยายนปี 2021 ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐบาล 
ซึ่ง EIC ประเมินว่าเม็ดเงินดังกล่าวเป็นเม็ดเงินที่ใหญ่พอสมควร จึงน่าจะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2020 นี้ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปถึงขนาดเม็ดเงินและรายละเอียดนโยบายที่จะมีการจัดทำในระยะต่อไป

Cover Photo by allPhoto Bangkok from Pexels

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทุนจีนดันไทยเป็นฐานที่ตั้งการผลิตแห่งใหม่ ตั้งรับภัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งให้ตลาดรถยนต์ EV-อิเล็กทรอนิกส์พุ่งแรง

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้บริษัทจีนหลายแห่งทั้งในอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ได้พร้อมใจเร่งขยายฐานธุรกิจในประเทศไทย เพื่อ...

Responsive image

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน...

Responsive image

สยาม เอไอฯ ได้รับ NVIDIA DGX Blackwell B200 รายแรกในอาเซียน

NVIDIA DGX Blackwell B200 เป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของ Siam.AI Cloud ทำให้สามารถรองรับการประมว...