SCB เพิ่มงบลงทุนแตะ 100 ล้านดอลลาร์ ลุยเฟ้นหา Startup ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง | Techsauce

SCB เพิ่มงบลงทุนแตะ 100 ล้านดอลลาร์ ลุยเฟ้นหา Startup ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง

ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB ภายใต้การดำเนินงานของดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) บริษัทในเครือด้านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมการเงิน ประกาศเพิ่มงบลงทุนในหน่วยงานทุนองค์กรหรือ Corporate Venture Capital อีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก้าวสู่การเป็นองค์กร Ventures Capital ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีขนาดเงินลงทุนรวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมปรับกลยุทธ์มุ่งสู่การลงทุนโดยตรงในเทคสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี  แห่งอนาคตทั่วโลก หนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ดร. อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer and Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุน รวมทั้งการร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ Ventures Capital และ Startup ต่างๆ ทำให้ธนาคารฯ สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) โดยในปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ  ทั่วโลกกว่า 800 ราย และVentures Capitalในต่างประเทศอีกกว่า 60 ราย จาก 29 ประเทศทั่วโลก ทำให้ ธนาคารฯ สามารถเข้าถึง และเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากกิจการที่ได้เข้าไปลงทุน อาทิ บล็อคเชน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการทำงานขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป จากความสำเร็จที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์จึงมีความมั่นใจที่จะเพิ่มเงินลงทุนอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,750 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3,000 ล้านบาท”

นายพลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงานทุนองค์กร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวเสริมว่า “ในการเพิ่มงบลงทุนในครั้งนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์สจะมุ่งเฟ้นหาบริษัท Startup และ Ventures Capital จากทั่วโลกที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ของธนาคาร เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไปของธนาคาร”

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ทั้งในเทคสตาร์ทอัพโดยตรง และลงทุนในเวนเจอร์ส แคปปิตอล ได้แก่

  • Golden Gate Ventures หนึ่งในกองทุน Startup ชั้นนำที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage)
  • Nyca Partners Ventures Capitalชั้นนำด้านฟินเทคของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญจากสองยักษ์ใหญ่แห่งโลกการเงินและเทคโนโลยีอย่าง Wallstreet และ Silicon Valley
  • Dymon Asia Ventures Ventures Capitalชั้นนำของสิงคโปร์ มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ทำธุรกิจแบบ B2B
  • Arbor Ventures Ventures Capital ชั้นนำด้านฟินเทคของฮ่องกงที่ลงทุนครอบคลุมทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลาง
  • Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยธนาคารไทยพาณิชย์นับเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ริเริ่มลงทุน ศึกษา และทดลองการโอนเงินระหว่างประเทศบนเทคโนโลยี Blockchain
  • Pulse iD Startup ด้านการบริการข้อมูลเพื่อระบุพิกัดซึ่งก่อตั้งขึ้นในฮ่องกง มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อระบุตัวตนสำหรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างระบบความปลอดภัยทางการเงิน การระบุตัวตนลูกค้า และการสร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เหนือระดับยิ่งขึ้น
  • PayKey Startup จากอิสราเอล ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปฏิวัติการชำระเงินรูปแบบใหม่บนคีย์บอร์ดของอุปกรณ์สื่อสารที่ช่วยให้ลูกค้าธนาคารสามารถโอนเงินผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คที่หลากหลาย โดยเชื่อมโยงเข้ากับแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของธนาคาร
  • IndoorAtlas ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุพิกัดตำแหน่งพื้นที่ในร่มจากฟินแลนด์ ซึ่งดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ร่วมพัฒนาในแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำทางให้ผู้ซื้อเดินหาร้านค้าได้แม่นยำและรับข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ จากร้านค้าได้แบบเรียลไทม์
  • 1QBit ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีควอนตัมและควอนตัมคอมพิวเตอร์จากแคนาดา มีศักยภาพในการแก้ปัญหาทางธุรกิจที่มีความสำคัญสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน การบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และการรักษาความปลอดภัย

โดยการลงทุนที่ผ่านมานั้น นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสตาร์ทอัพชั้นนำที่มีศักยภาพ Ventures Capital และผู้นำทางความคิดด้านฟินเทคทั่วโลกแล้ว ธนาคารยังสามารถแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ให้แก่ผู้บริหารของธนาคารและลูกค้าองค์กรผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ สัมมนา เวิร์คช็อป เช่น งาน SCB Faster Future Forum เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาสังคมดิจิทัลต่อไป

ดร. อารักษ์ กล่าวว่า “นโยบายการลงทุนของเราครั้งนี้ มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์และบริการ และเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน ความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data / Data Analysis) และอื่นๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับบริการต่างๆ ของธนาคาร อาทิ บริการสินเชื่อ การบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจประกัน การเพิ่มเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการเฟ้นหาและเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับธนาคาร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้าในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้กลยุทธ์นี้ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ Going Upside Down หรือตีลังกากลับหัว ที่จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพด้านดิจิทัล และมีโมเดลการทำงานที่เหมาะสมกับความท้าทายของโลกดิจิทัลในอนาคต สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินการธนาคาร เศรษฐกิจในภาพรวม และการพัฒนาสังคมของประเทศไทยให้ก้าวทันโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Whoscall เผย 89% ของคนไทย เจอมิจฉาชีพทุกเดือน! สถิติภัยมิจฉาชีพพุ่ง

Whoscall แอปพลิเคชันชื่อดัง ออกโรงเตือนภัยมิจฉาชีพ! รายงานล่าสุดจากองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก (GASA) เผยสถิติสุดช็อค พบกว่า 28% ของคนไทย หรือ 1 ใน 4 ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 1 ปี...

Responsive image

Meta ท้าชน Sora เปิดตัว Movie Gen หรือ AI สร้างวิดีโอตัวใหม่

ล่าสุด Meta เปิดตัว Movie Gen เครื่องมือสร้างวิดีโอด้วย AI โดยทาง Meta ได้ประกาศเรื่องนี้หลังจาก OpenAI เปิดตัวโมเดลสร้างวิดีโอจากข้อความชื่อว่า Sora เมื่อไม่กี่เดือนก่อน อย่างไรก็...

Responsive image

จับตาลงทุนในจีน รัฐบาลเตรียมลดภาษี พร้อมปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน หรือ NDRC เตรียมจัดแถลงข่าวครั้งสำคัญ โดยมีวาระสำคัญคือการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนทั่วโลกที่กำลังจั...