ในช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีของภาคการเงิน จนทำให้สถานะความเป็นเสาหลักของ “ธนาคาร” ต้องสั่นคลอน เป็นสาเหตุให้ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องเร่งเครื่องรับการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การปรับองค์กรมากมาย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังเข้มข้นและหนักหน่วงถึงขั้นที่คุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ใช้คำว่า “กระเสือกกระสน” ต่อการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บนเวทีเผยวิสัยทัศน์และกลยุทธของธนาคารไทยพาณิชย์ประจำปี 2019 เลยทีเดียว
Techsauce ได้รับโอกาสจากธนาคารไทยพาณิชย์ให้เข้าร่วม Press Trip ประจำปี 2018 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์และกลยุทธจากผู้บริหารโดยตรง จึงขอนำรายละเอียดที่เกิดขึ้นมานำเสนอให้ได้ทราบกัน
คุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยวิสัยทัศน์อันเป็นแนวคิดหลักของการก้าวไปข้างหน้าเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงที่ถือว่ายากลำบากไม่น้อย
คุณอาทิตย์กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบและความน่ากังวลไปทั่วทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นที่น่ากังวลคือความสามารถของบุคลากรและภาคธุรกิจ ซึ่งธนาคารต้องพึ่งพาพวกเขาในการดำเนินกิจการไปพร้อมกัน จึงพยายามสนับสนุนการบ่มเพาะความสามารถของบุคลากรและภาคธุรกิจให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
แต่ทั้งนี้ ธนาคารก็ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยพาณิชย์เน้นการ “ซ่อม เสริม สร้าง” ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีไปแล้วประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามกลยุทธ Upside Down คิดเป็นมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท แต่ธนาคารจะปรับเปลี่ยนได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ได้มาจากการลงทุน แต่มาจากความคิดที่ต้องการ “เข้าใจลูกค้า”
แอพฯ ปัจจุบันจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าเลือกใช้ หากเราสร้างแต่สิ่งที่เราเลือก ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าเลือก
คุณอาทิตย์ย้ำว่า ไทยพาณิชย์ “กระเสือกกระสน” จะหลุดออกจาก “การทำงานแบบเดิมที่เน้นผลกำไร" เพื่อให้ทำสิ่งใหม่มากขึ้น แต่องค์กรขนาดใหญ่หากทำผิด ก็จะเกิด Impact เป็นวงกว้าง และต้องรับผลกระทบเยอะ ต่างจากองค์กรเล็กอย่าง Startup หากทดลองแล้วผิด จะเกิด Impact ไม่มาก จึงกล้าทำและเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ ไทยพาณิชย์จึงได้พัฒนาหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ได้แก่ Digital Ventures, Abacus และล่าสุดคือ SCB10X โดยนำแนวคิดยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ดึงบุคลากรความสามารถสูง และใช้กระบวนการลองผิดลองถูกมากขึ้น
ดังนั้น ในปี 2019 ไทยพาณิชย์จะเน้นเปิดตัว Product ใหม่บ่อยครั้งกว่าเดิม จะมีการทดลองหรือ Demo Service ใหม่ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งอาจจะได้เห็นกันตั้งแต่เดือนแรกของปี 2019
เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปีนี้และแนวโน้มในปีต่อไป ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center จึงขึ้นมานำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2018 และแนวโน้มในปี 2019 โดยสรุปว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2019 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 3.9 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าชะลอตัวจากปี 2018 ปัจจัยหลักจากความท้าทายภายนอกประเทศอันได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความแน่นอนเชิงนโยบายออกมาในตอนนี้ ส่วนปัจจัยภายในที่ต้องจับตามองคือด้านการใช้จ่ายครัวเรือนซึ่งกระจุกอยู่ที่กลุ่มรายได้สูงมากกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของกลุ่มรายได้ปานกลางและต่ำอยู่ในระดับสูง ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการบริหารของรัฐบาลชุดต่อไปที่จะมาจากการเลือกตั้งในต้นปี 2019
นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกด้วย ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยอาจสูงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ภาคธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการขยายตัวของกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองที่จะเข้าไปในพื้นที่โครงการ EEC
หลังจากที่คุณอาทิตย์เล่าถึงวิสัยทัศน์ในปี 2019 แล้ว คุณอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer และ Chief Strategy Officer ของธนาคารไทยพาณิชย์ก็ขึ้นมาเล่าถึงแผนกลยุทธที่ไทยพาณิชย์จะปฏิบัติภายในปีหน้า โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ Core Business และ Future Banking
สำหรับ Core Business ของไทยพาณิชย์จะมีทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรม บริการสินเชื่อ และบริการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) โดยในเวลานี้ สิ่งที่หายไปมากที่สุดคือ ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรม จากการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมไปเมื่อช่วงกลางปี 2018 ธนาคารจึงหันมา Focus กับ Core Business 2 อย่างมากขึ้น คือ สินเชื่อ และการบริหารความมั่งคั่ง
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกค่าธรรมเนียมไม่ได้มีแค่ข้อเสีย แต่ยังมีข้อได้เปรียบเมื่อลูกค้าหันมาทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านธนาคารมากขึ้น สิ่งที่ธนาคารจะได้ก็คือ “ข้อมูลธุรกรรม” จำนวนมหาศาล ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน ไทยพาณิชย์มีผู้ทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัลมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้ปรับกลยุทธของ Core Business ทั้งสองอย่าง ดังนี้
ไม่เพียงเท่านี้ ไทยพาณิชย์ยังพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ ทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อสร้าง Ecosystem ที่ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าบุคคลให้ได้รับความสะดวก รวมถึง SME ที่จะได้รับศักยภาพใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในยุค Digital
สำหรับฝั่ง Future Banking นั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตั้งหน่วยงานมาดำเนินงานแล้วถึง 3 หน่วย ได้แก่ Digital Venture, SCB Abacus และล่าสุดคือ SCB10X ที่เพิ่งประกาศเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 องค์กรมีจะเน้นการพัฒนา Digital Product and Service ด้วยวิธีการทำงานที่เน้นความรวดเร็วแบบ Startup เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ในปี 2018 ทั้ง 3 หน่วยงานมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว Blockchain Solution ของ Digital Ventures ทั้ง B2P และ B.Ver ส่วนทาง SCB Abacus ก็ได้เปิดตัวแม่มณีศรีออนไลน์ บริการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME บน Platform ของ Lazada และล่าสุด SCB10X ก็เตรียมเปิดตัวบริการ Digital Lending สำหรับรายย่อยบนแอปพลิเคชัน SCB Easy ภายในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด