ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนกลยุทธ์ 3 ปี มุ่งยกระดับความเชื่อมั่น เพิ่มเครื่องมือ AI ปกป้องผู้ลงทุน | Techsauce

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนกลยุทธ์ 3 ปี มุ่งยกระดับความเชื่อมั่น เพิ่มเครื่องมือ AI ปกป้องผู้ลงทุน

สิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่ชอบมาพากลกับหุ้นบางตัวในรอบปีที่ผ่านมา คงทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยหายใจไม่ทั่วท้อง หรืออาจขาดความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย ในฐานะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหุ้นและให้บริการด้านการลงทุน และจัดงานแถลงแผนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง มาในปีนี้ซึ่งเป็นการก้าวสู่ปีที่ 50 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงออกมาประกาศแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2567-2569) ว่า มุ่งสร้างตลาดทุนไทยที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Delivering Market Quality x Growth) และที่สำคัญ คือ การยกระดับความเชื่อมั่นด้วยการพัฒนาระบบและนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการป้องปรามการกระทำผิด ปกป้องผู้ลงทุน รวมทั้งติดตามคุณภาพบริษัทจดทะเบียน 

SET

นอกจากการเพิ่มเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลและป้องกันการกระทำผิด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังกำหนดกลยุทธ์เดินหน้าสร้างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยและสนับสนุนบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาจดทะเบียน การดึงดูดผู้ลงทุนผ่าน In-bound / Out-bound roadshow พร้อมทั้งสนับสนุน SMEs / Startups ผ่าน LiVE Platform การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานระดับโลกเพื่อเป็น Platform ในการขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระสำคัญของตลาดทุนไทยและประเทศสู่ความยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายในปี 2050 

ท่ามกลางความท้าทายและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะการกำกับดูแลให้ตลาดทุนมีความโปร่งใสและเป็นธรรม (Market Integrity) ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ไปจนถึงการเพิกถอน โดยทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน พร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างความน่าสนใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งการระดมทุนและการลงทุน สร้างโอกาสแก่ผู้ร่วมตลาดทุน รวมทั้งขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ พร้อมก้าวสู่ปีที่ 50 พัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ผ่านแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567-2569 “สร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน” ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน 2. เสริมศักยภาพการแข่งขัน 3. สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตลาดหลักทรัพย์ SET

1. ยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน

    1. เสริมสร้างคุณภาพและเครื่องมือในการปกป้องผู้ลงทุน 
      โดยพัฒนาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์และติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการจัดทำระบบ Financial Data Health Check และ Surveillance Prevention and Analytics (SPA) รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียน และนำมาใช้ประมวลผลได้อย่างรวดเร็วขึ้น

    2. ปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน 
      โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจจับข่าวปลอมหลอกลงทุนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อเตือนผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายงานไปยัง Anti-Fake News Center ในการดำเนินการเตือนสาธารณชนต่อไป นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบที่จะแจ้งไปยังผู้ประกอบการสื่อโซเชียลในการนำข่าวปลอมออกและปิดเพจปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

2. เสริมศักยภาพการแข่งขัน

2.1 เพิ่มความน่าสนใจดึงดูดการลงทุน

  • Supply side 
    สนับสนุนบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Target industries) เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตร พร้อมนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งบริษัทที่จะระดมทุนและบริษัทจดทะเบียน เช่น One Report และ Digital IPO System และสนับสนุนการทำงานของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนา LiVE Platform ให้ผู้ประกอบการ SMEs / Startups สามารถเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และเข้าใช้งานง่าย นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียนเพื่อดึงดูดผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศผ่านการทำ In-bound / Out-bound roadshow

  • Demand side 
    เพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม (More Choice) โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้ลงทุนรุ่นใหม่ เช่น Small Size Thai Share รวมถึงสภาวะตลาดเพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยง เช่น Inverse ETF เตรียมพร้อมขยายระยะเวลาการซื้อขายหลักทรัพย์ ปรับปรุงการพัฒนาดัชนีใหม่ ๆ การทำให้การเข้าถึงตลาดทุนเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (More Streamline) ทั้งการเปิดบัญชีซื้อขายที่สะดวกรวดเร็ว และพัฒนาช่องทางที่เข้าถึงการลงทุนที่ง่ายขึ้นและรองรับการซื้อขายสินทรัพย์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ จะมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชนในวงกว้างผ่านโครงการต่างๆ พร้อมให้ความรู้เชิงลึกเพื่อเพิ่มทักษะแก่ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน

2.2 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ขยายความร่วมมือในรูปแบบพันธมิตรทั้ง IT Service และ Data Solution

SET

3. สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) มุ่งให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ SET ESG Academy และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ESG ผ่านโครงการ Climate Care Collaboration Platform และ SET Carbon ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจาก ESG Data Platform  นอกจากนี้ จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการยกระดับ SET ESG Assessment สู่มาตรฐานระดับโลก
  • ด้านสังคม (Social)  มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)  โดยเชื่อมโยงธุรกิจครอบครัวสู่ LiVE Platform ให้มากขึ้น รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนให้กับกลุ่ม Multi-jobber & Freelance
  • ด้านบรรษัทภิบาล (Governance) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุนและการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสนับสนุนให้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน

ขณะเดียวกัน กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation) พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance)

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการใช้ AI เป็นเครื่องมือในกระบวนการลงทุน การประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน 

"AI ช่วยวิเคราะห์เทรนด์ต่างๆ ได้ เช่น ESG Data รายงานด้านความยั่งยืนที่เราเพิ่งเริ่ม และไม่นานมานี้เราเพิ่งทำ Hackathon ไป โดยให้คนทำงานหรือเด็กรุ่นใหม่ดู Data ของเรา แล้วเขามีข้อเสนอที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง เช่น ให้ AI หรือ ML ประเมินว่า มีจุดไหนของบริษัทที่เทียบกับ PIER แล้วนำไปใช้งานได้ หรือในเชิงการลงทุน นักลงทุนสามารถใช้ AI ดูได้ว่า ควรดูข้อมูล ESG ด้านไหนประกอบกับ Financial Data เพื่อเลือกลงทุน หรือการใช้ ChatGPT เราสามารถทำดราฟต์แรกได้ เป็นไอเดียเริ่มต้นของการทำรายงานได้ แต่ท้ายที่สุดคนก็ต้องดู ซึ่งเราก็เริ่มจากการทดลองใช้เองก่อน เพื่อนำไปถ่ายทอดให้องค์กรต่างๆ ใช้งานได้ต่อ" 

ส่วนผลงานในปีที่ผ่าน ดร.ภากรเปิดเผยถึงพัฒนาการสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามแผนงานในปี 2566 ดังนี้

ตลาดหลักทรัพย์

1)  สร้างโอกาสการระดมทุนและลงทุน

  • หุ้น IPO มีมูลค่าระดมทุน 38,260 ล้านบาท สูงสุดอันดับ 7 ในเอเชีย โดยมี 12 บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy
  • ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2566 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 53,331 ล้านบาทต่อวัน
  • TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 534,898 สัญญา
  • เพิ่ม 11 สินค้าที่อ้างอิงหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป อเมริกา (รวม 23 หลักทรัพย์) SMEs / Startups กว่า 3,000 รายเข้าร่วม LiVE Platform และมี 4 บริษัทจดทะเบียนใน LiVEx
  • ผลักดันจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG Fund) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

2)  ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและรักษาความน่าเชื่อถือตลาดทุน

  • SET CONNECT เปลี่ยนระบบซื้อขายใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่เป็นมาตรฐานสากล มีประสิทธิภาพสูง
  • TDX เปิดซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เรียลเอ็กซ์ (RealX) เป็นสินค้าแรก
  • สนับสนุนการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนผ่าน ESG Data Platform โดยมี 658 บริษัทเข้าร่วม (74% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด)
  • ยกระดับกระบวนการกำกับดูแลทั้ง 5 ขั้นตอน
    1. Listing: เพิ่มคุณสมบัติบริษัทเข้าจดทะเบียน
    2. Ongoing Obligations: เพิ่มการกำกับดูแล บจ. ที่มีปัญหาด้านผลการดำเนินงาน โดยเพิ่มเหตุ C-sign
    3. Trade Surveillance: เพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ และศึกษาแนวทางการจัดตั้ง “Securities Bureau”
    4. Delisting: เพิ่มเหตุในการถูกเพิกถอน
    5. Escalation to Public: ให้ บจ. เปิดเผยข้อมูลเพิ่มกรณีมีเหตุสงสัย และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ข้อมูลกรณีการซื้อขายร้อนแรง รวมทั้งเปิดเผยข้อมูล Program trading

SETคณะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคณะสื่อมวลชน ในงานแถลงแผนกลยุทธ์ ปี 2567-2569 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 19 มกราคม 2567 

3)  พัฒนาตลาดทุนเพื่อสังคมและประเทศ

  • 28 บริษัทจดทะเบียนอยู่ในดัชนี DJSI มากที่สุดในอาเซียน
  • จัดทำ "คู่มือการใช้สัญญามาตรฐานสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต” แก่บริษัทจดทะเบียนและสร้าง ESG partners ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
  • ประกาศเป้าหมาย Net-Zero Commitment ในปี 2050 และเข้าร่วม การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD)
  • ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงิน / การลงทุนแก่คนไทยและธุรกิจ ผ่านโครงการ Happy Money, รู้สู้หนี้, LiVE Platform และ Family Business
  • ร่วมมือกับพันธมิตร องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ จับปลอมหลอกลงทุน”
  • เสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม โดยมี 51 Business co-creation ระหว่างพันธมิตรภาคธุรกิจและ Social Enterprise

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สินค้าจีนบุกสิงคโปร์ ฐานที่มั่นใหม่ทดลองตลาดโลก มุ่งหาแหล่งรายได้ใหม่ เหตุเศรษฐกิจจีนซบเซา

สมรภูมิใหม่ของการค้าโลกกำลังระอุ เมื่อแบรนด์จีนเลือก สิงคโปร์ เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ สิงคโปร์กำลังจะเป็นฐานทดลองเพื่อขยายธุรกิจจีนสู่ตลาดโลก เนื่องจากผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกและตะวั...

Responsive image

เปิด 7 ข้อเสนอ สมาคมสตาร์ทอัพไทย เร่งรัฐบาลใหม่หนุน Startup Ecosystem

สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) ประกาศวิสัยทัศน์และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลชุดใหม่ หวังผลักดันให้ประเทศไทยใช้จุดแข็งด้านสุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว สร้างความได้เปรียบในต...

Responsive image

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (EVAT) เปิดตัวนายกฯ คนใหม่ ตั้งเป้าดันไทยศูนย์กลางผลิต-ส่งออก EV อันดับต้นใน SEA

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดตัวนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และคณะกรรมการชุดใหม่นาทัพโดยนาย สุโรจน์ เเสงสนิท พร้อมประกาศเดินหน้าผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกยานยนต...