Gartner เผย 12 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์มาแรงในปี 2022 ที่องค์กร ธุรกิจจะต้องจับตามอง | Techsauce

Gartner เผย 12 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์มาแรงในปี 2022 ที่องค์กร ธุรกิจจะต้องจับตามอง

Gartner Inc. เผยเทรนด์เทคโนโลยีมาแรงที่องค์กรธุรกิจต้องจับตาดูและศึกษาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในปีหน้า  

นายเดวิด กรูมบริดจ์ นักวิจัยอาวุโสของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นของซีอีโอและบอร์ดบริหารที่ต้องการสร้างการเติบโตแก่องค์กรผ่านการเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ร่วมกับลูกค้าโดยตรงเป็นภารกิจสำคัญของผู้บริหารด้านไอทีที่ต้องวางแผนและดำเนินการให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสามารถพิจารณาและปรับใช้แต่ละแนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่มาแรงในปี 2565 ของการ์ทเนอร์ได้”

“ผู้บริหารไอทีต้องหาตัวคูณที่เป็นกำลังสนับสนุนด้านไอทีเพื่อสร้างการเติบโตแก่องค์กรและสร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนสร้างรากฐานทางเทคนิคที่มีความยืดหยุ่น ปรับขนาด และสร้างสภาพคล่องทางการเงินในด้านการลงทุนดิจิทัลได้ ส่งผลให้เกิดเทรนด์เทคโนโลยีในปีนี้เป็น 3 ธีมหลัก ๆ ได้แก่: ความน่าเชื่อถือทางวิศวกรรม (Engineering trust) การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปร่าง (Sculpting change) และการเติบโตอย่างเร่งด่วน (Accelerating growth)”

แนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์มาแรงแห่งปี 2565 

กำเนิดใหม่ปัญญาประดิษฐ์ [Generative Artificial Intelligence (AI)]

หนึ่งในเทคนิคของการพัฒนา AI ที่เป็นที่รู้จักและมีประสิทธิภาพมากที่สุดและกำลังเข้าสู่ตลาดคือ Generative AI ซึ่งเป็นแมชชีนเลิร์นนิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับคอนเทนท์หรือ Data Object และใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมรวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นต้นฉบับและมีความเสมือนจริง 

Generative AI สามารถใช้กับกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การสร้างโค้ดซอฟต์แวร์ เร่งกระบวนการพัฒนายาและการทำตลาดที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (Targeted Marketing) อย่างไรก็ดียังพบว่ามีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ใช้เพื่อละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผู้อื่น ปลอมแปลงข้อมูลประจำตัว หลอกลวง ฉ้อโกง บิดเบือนข้อมูลทางการเมือง และอื่น ๆ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 เทคโนโลยี Generative AI จะมีสัดส่วนเป็น 10% ของข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับการผลิตขึ้นมา สูงกว่าปัจจุบันที่มีปริมาณน้อยกว่า 1% 

โครงข่ายข้อมูล [Data Fabric]

จำนวนข้อมูลและแอปพลิเคชันแบบไซโลเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนบุคลากรที่มีทักษะในด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ (Data and Analytics - D&A) กลับคงที่หรือลดลง

Data Fabric ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการรวมข้อมูลที่ยืดหยุ่นและรองรับการทำงานระหว่างแพลตฟอร์มและระหว่างธุรกิจได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานในการรวมข้อมูลขององค์กรง่ายขึ้น และสร้างสถาปัตยกรรมที่พร้อมสำหรับการขยายขนาดซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสะสมทางเทคนิคที่เกิดขึ้นหรือที่เราเรียกกันว่า “หนี้ทางเทคนิค” (Technical Debt) ซึ่งพบบ่อยในทีม D&A โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความท้าทายในการรวมข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเข้าด้วยกัน

ประสิทธิภาพที่แท้จริงของ Data Fabric คือความสามารถในการปรับปรุงการใช้ข้อมูลแบบไดนามิกด้วยการวิเคราะห์ภายในตัวมันเอง ลดความซับซ้อนในการจัดการข้อมูลได้มากถึง 70% ซึ่งช่วยให้ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า 

องค์กรแบบกระจาย [Distributed Enterprise]

ด้วยปัจจุบันรูปแบบการทำงานระยะไกลและไฮบริดที่เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันกับองค์กรที่เคยเน้นการทำงานในออฟฟิศเป็นศูนย์กลางก็ปรับตัวไปสู่องค์กรแบบกระจาย (Distributed Enterprise) ที่รองรับรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถทำงานได้จากทั้งในออฟฟิศและนอกสถานที่

กรูมบริดจ์ กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้บริหารไอทีต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคและการบริการที่สำคัญเพื่อมอบประสบการณ์การทำงานที่ราบรื่น อย่างไรก็ดีเหรียญมักมีสองด้านเสมอ เพราะรูปแบบการทำงานดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจ ไม่ว่าจะองค์กรใด ตั้งแต่กลุ่มค้าปลีกไปจนถึงกลุ่มองค์กรทางด้านการศึกษาที่จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์และสร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบกระจายเช่นนี้ เพราะคนทั้งโลกไม่เคยมีใครคาดมาก่อนว่าภายในช่วงเวลาแค่สองปีเราต้องเปลี่ยนการไปลองเสื้อผ้าที่ร้านไปเป็นการลองผ่านระบบดิจิทัลแทน”

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2566 75% ขององค์กรที่ใช้ประโยชน์จากการสร้างประสบการณ์ทำงานในรูปแบบกระจายจะมีรายได้เร็วเติบโตไวกว่าคู่แข่ง 25%

แพลตฟอร์ม [Cloud-Native (CNPs)]

เพื่อนำเสนอความสามารถด้านดิจิทัลได้อย่างแท้จริงจากทุกที่ องค์กรจำเป็นต้องทิ้งกลยุทธ์การถ่ายโอนการทำงานแบบเดิม “ยกและเปลี่ยนใหม่” ไปสู่ CNP โดยการปรับใช้ CNP นั้นจะใช้ความสามารถหลักของคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อสร้างบริการในรูปแบบ “As A Service” ซึ่งจะเพิ่มความสามารถแก่ระบบไอทีให้มีความยืดหยุ่นและรองรับการปรับขยายให้แก่บริษัทเทคโนโลยีที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเพิ่มมูลค่าจากการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการไปยังตลาดและผู้บริโภคได้รวดเร็วกว่า ขณะที่ลดต้นทุนไปพร้อมกัน

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 แพลตฟอร์ม Cloud-Native จะทำหน้าที่เป็นเทคโนโลยีหลักที่เป็นรากฐานสำหรับการสร้างนวัตกรรมหรือเครื่องมือดิจิทัลใหม่ ๆ มากถึง 95% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่น้อยกว่า 40% ในปี 2564

ระบบอัตโนมัติขั้นกว่า [Autonomic Systems]

เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น การเขียนโปรแกรมแบบดั้งเดิมหรือใช้ระบบอัตโนมัติแบบเก่าอาจไม่ตอบโจทย์ Autonomic Systems เป็นระบบทางกายภาพหรือระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถจัดการและเรียนรู้สภาพแวดล้อมของการใช้งานได้ด้วยตนเอง จะต่างจากระบบอัตโนมัติทั่ว ๆ ไป หรือระบบอัติโนมัติที่ไม่ต้องอาศัยมนุษย์ควบคุม (Autonomous System) โดย Autonomic Systems สามารถปรับเปลี่ยนอัลกอริธึมของตัวเองได้แบบไดนามิก ไม่ต้องอัปเดตซอฟต์แวร์ภายนอก ทำให้สามารถปรับให้เข้ากับเงื่อนไขหรือการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในรูปแบบเดียวกับที่มนุษย์สามารถทำได้

“ระบบ Autonomic ได้ถูกปรับใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันตามสภาพแวดล้อมการรักษาความปลอดภัยที่ซับซ้อน แต่ในระยะยาวระบบนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไปในแบบที่จับต้องได้ เช่น หุ่นยนต์ โดรน เครื่องจักรที่ใช้ในภาคการผลิต และพื้นที่อัจฉริยะ” กรูมบริดจ์ กล่าว

การตัดสินใจอัจฉริยะ [Decision Intelligence (DI)]

ความสามารถในการตัดสินใจขององค์กรมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์สำคัญที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้องค์กรได้  

โซลูชั่นที่เพิ่มความสามารถในการตัดสินใจได้อัจฉริยะ (Decision Intelligence) เป็นแนวทางปฏิบัติที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจโดยการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมทั้งการออกแบบวิธีการตัดสินใจ และประเมินผลลัพธ์ จัดการ และปรับปรุงจากคำติชมได้ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า หนึ่งในสามขององค์กรขนาดใหญ่จะใช้การตัดสินใจอัจฉริยะเป็นโครงสร้างในการตัดสินใจเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน

แอปพลิเคชันแบบประกอบแยกส่วน [Composable Applications]

ในบริบทของทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ความต้องการในการปรับตัวทางธุรกิจจะนำองค์กรไปสู่สถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เน้นความรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถาปัตยกรรมแอปพลิเคชั่นแบบประกอบแยกส่วน (หรือ Composable application architecture) ได้ช่วยเสริมความสามารถให้กับการปรับตัวดังกล่าว และธุรกิจที่ใช้ปรับใช้แนวทางดังกล่าวจะนำหน้าคู่แข่งถึง 80% ในด้านความเร็วของการนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ ๆ แก่ผู้บริโภค

“ตลอดช่วงการระบาดที่สร้างความปั่นป่วน หลักการทางธุรกิจที่ยืดหยุ่นจะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งจำเป็นต่อความยืดหยุ่นและการเติบโตของธุรกิจ หากไม่มีสิ่งนี้ องค์กรสมัยใหม่เสี่ยงที่จะสูญเสียโมเมนตัมของตลาดและความภักดีของลูกค้าไป” กรูมบริดจ์ กล่าว

เครื่องมืออัตโนมัติแบบยิ่งยวด [Hyperautomation]

Hyperautomation ช่วยเร่งเครื่องให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นด้วยความสามารถในการแปลผลลัพธ์ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว และทำให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปโดยอัตโนมัติให้ได้มากที่สุด

"งานวิจัยของการ์ทเนอร์ชี้ให้เห็นว่าทีม Hyperautomation ที่มีประสิทธิภาพสูงให้ความสำคัญกับสามประเด็นหลัก: ได้แก่ 1.การปรับปรุงคุณภาพงาน 2.การเร่งกระบวนการทางธุรกิจ และ 3.การเพิ่มความคล่องตัวในการตัดสินใจ ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีนักเทคโนโลยีทางธุรกิจสนับสนุนความคิดริเริ่มในด้านระบบอัตโนมัติโดยเฉลี่ย 4.2 โครงการ ในปีที่ผ่านมา” กรูมบริดจ์ กล่าว 

เพิ่มประสิทธิภาพประมวลผลความเป็นส่วนตัว [Privacy-Enhancing Computation (PEC)]

เนื่องจากการประกาศใช้กฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวและการปกป้องข้อมูลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องรักษาความไว้วางใจของลูกค้าที่อาจเกิดจากความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า 60% ขององค์กรขนาดใหญ่จะใช้เทคนิคการประมวลผลข้อมูลเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวอย่างน้อยหนึ่งเทคนิคภายในปี 2568

PEC เป็นเทคนิคการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน ครอบคลุมการปกป้องตั้งแต่ระดับข้อมูลซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ การแบ่งปัน การรวบรวม และการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างปลอดภัยขณะที่ยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัว ปัจจุบันมีการปรับใช้เทคนิคดังกล่าวแล้วในหลายองค์กรจากอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานพับบลิกคลาวด์ (อาทิ สภาพแวดล้อมการดำเนินการที่เชื่อถือได้)

ตาข่ายความปลอดภัยไซเบอร์ [Cybersecurity Mesh]

กรูมบริดจ์ กล่าวว่า "ในปีนี้นอกจากปริมาณดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดาต้ายังเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงกันตลอดทั้งปี แต่ดาต้าจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อองค์กรต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างถูกต้องและแม่นยำเท่านั้น วันนี้สินทรัพย์และผู้ใช้กระจายตัวอยู่ทุกหนแห่ง หมายความว่าเราไม่สามารถใช้การรักษาความปลอดภัยในรูปแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป จึงต้องอาศัยสถาปัตยกรรมที่ป้องกันและจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบตาข่ายหรือ Cybersecurity Mesh Architecture (CSMA)”

CSMA ช่วยเตรียมโครงสร้างและแนวทางการรักษาความปลอดภัยแบบบูรณาการเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับทรัพย์สินทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงแหล่งของสินทรัพย์ ภายในปี 2567 องค์กรต่าง ๆ ที่นำ CSMA มาใช้บูรณาการเครื่องมือและระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานเป็นระบบนิเวศแบบมีส่วนร่วมจะช่วยลดผลกระทบทางการเงินจากเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยส่วนบุคคลได้เฉลี่ยถึง 90%

ปัญญาประดิษฐ์ทางวิศวกรรม [AI Engineering]

ผู้นำด้านไอทีติดปัญหาในการผสานรวมระบบ AI เข้ากับแอปพลิเคชัน ทำให้เสียเวลาและเงินไปกับโครงการ AI ที่ไม่เคยนำไปสู่การผลิต หรือการพยายามรักษาคุณภาพของโซลูชัน AI เมื่อเปิดตัว ซึ่ง AI Engineering เป็นแนวทางแบบบูรณาการสำหรับการดำเนินงานโมเดล AI ในรูปแบบต่าง ๆ

กรูมบริดจ์ กล่าวว่า “สำหรับทีมฟิวชั่นที่ทำงานด้าน AI ตัวสร้างความต่างที่แท้จริงสำหรับองค์กรพวกเขาก็คือความสามารถในการเพิ่มมูลค่าได้อย่างต่อเนื่องผ่านการเปลี่ยนแปลงของระบบ AI อย่างรวดเร็ว ภายในปี 2568 จะพบว่า 10% ขององค์กรที่สร้างแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านวิศวกรรม AI จะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างน้อยสามเท่าจากความพยายามปรับใช้ AI หรือมากกว่า 90% ขององค์กรที่ไม่ได้ทำ”

ประสบการณ์เต็มรูปแบบ [Total Experience (TX)]

TX เป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่ผสมผสานประสบการณ์ลูกค้า (CX) ประสบการณ์พนักงาน (EX) ประสบการณ์ผู้ใช้ (UX) และประสบการณ์หลากหลาย (Multiexperience - MX) เข้าด้วยกัน เป้าหมายของกลยุทธ์ TX คือการสร้างความมั่นใจ ความพึงพอใจ ความภักดี และการสนับสนุนมากขึ้นจากลูกค้าและพนักงานที่พึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้รับการยกระดับ ขณะเดียวกันองค์กรต่าง ๆ สามารถเพิ่มรายได้และสร้างผลกำไรจากการบรรลุประสิทธิผลทางธุรกิจของ TX ที่ปรับตัวและยืดหยุ่น 

แนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ชั้นนำของปีนี้ได้มุ่งเน้นไปที่แนวโน้มที่จะผลักดันให้เกิดการหยุดชะงักหรือโอกาสการเติบโตในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ลูกค้าของการ์ทเนอร์สามารถอ่านรายงานเพิ่มเติมได้ใน "แนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ประจำปี 2565" พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลด้านเทคโนโลยีของปีนี้ในเชิงลึกได้ที่ Gartner e-book


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

8 ล้านคนเสี่ยงตกงานเพราะ AI การบ้านใหญ่ของรัฐบาล UK

สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะหรือ IPPR ประกาศเตือน ชาวสหราชอาณาจักรกว่า 8 ล้านคนเสี่ยงตกงาน จากนโยบายด้าน AI ของรัฐบาล...

Responsive image

พกสะดวก กินได้ทุกที่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ วางขายทางออนไลน์เร็วๆ นี้

นวัตกรรมแห่งรสชาติ เด็กสมบูรณ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ พกติดตัวได้ทุกที่ ใช้งานสะดวกสบาย แค่ละลายพร้อมอาหาร เตรียมจำหน่ายตามช่องทางออนไลน์เร็วๆ นี้...

Responsive image

Adobe GenStudio สร้างแคมเปญด้วย AI ตอบโจทย์การทำคอนเทนต์ครบวงจร เพื่อนักการตลาด

ข่าวดีนักการตลาด ทาง Adobe ประกาศในงาน Adobe’s Summit เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่อย่าง GenStudio ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างโฆษณาครบวงจรด้วย AI...