ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักกับธุรกิจสายการบิน จากเดิมที่มีปัญหาหนักจากการแข่งขันสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่แล้ว เรียกได้ว่าครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะ ‘การบินไทย’ ที่ก่อนหน้านี้มีผลขาดทุนสะสมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการแข่งขันของธุรกิจการบินที่มีสายการบิน Lowcost มาตีตลาด ดังนั้นจึงต้องงัดกลยุทธ์ทางธุรกิจมาสู้กันเลือดตาแทบกระเด็น
และจากการที่การบินไทย ถือเป็นบริษัทมหาชน ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แน่นอนว่า ต้องมีเรื่องของหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยชนวนที่จุดประเด็นให้มีข่าวต่าง ๆ ของการบินไทยเกิดขึ้นมากมายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการที่อยู่ดีๆ ราคาหุ้น THAI ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 2 สัปดาห์ ซิลลิ่ง 5 ครั้งติดกัน จนหลายคนต้องตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับการบินไทยกันแน่ หรืออาจจะมีข่าวดีอะไรเกิดขึ้น ?
สัญญาณการฟื้นตัวของ THAI เริ่มต้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงชนเพดาน นับว่าเป็นซิลลิ่งแรกมาอยู่ที่ 3.68 บาทต่อหุ้น ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน ราคาหุ้นมีความร้อนแรงอีกครั้งปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.22 บาท นับว่าเป็นซิลลิ่งที่ 2
และแล้วก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าการบินไทย มีปัจจัยอะไรที่หนุนราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นได้ขนาดนี้ ก็เป็นที่มาของข่าวลือโดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ Hoonsmart ว่า มีแหล่งข่าวที่เป็นผู้บริหารในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่ามีการเจรจาเพื่อดึงเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาช่วยอุ้มการบินไทย และมีนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งสนใจธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องบินของการบินไทยด้วย รวมไปถึงการที่กระทรวงการคลังจะลดความเป็นเจ้าของและจะขายสินทรัพย์เพราะ เพราะการบินไทยขาดทุนหนัก
หลังจากนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา การบินไทยได้แจ้งข่าวมาในเชิงการปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว พร้อมระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ช่วงระหว่างการทำแผนฟื้นฟูเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม อีกทั้งยังไม่ได้มีการหารือการ Strategic Partner รายใดเป็นการเฉพาะ
....ในระหว่างนี้ราคาหุ้นของการบินไทย ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นชนเพดาน หรือ ซิลลิ่ง ในทุกวัน ถือเป็น 4 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา
และแล้วเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ถูกคั่นด้วยวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ต่อวันเมื่อเปิดวันทำการ อย่างวันจันทร์ที่ 13 เมษายน ต้อนรับสงกรานต์แรกที่ไม่ได้เป็นวันหยุด ก็มีข่าวจากกระทรวงการคลัง โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ข่าวหุ้นธุรกิจว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเจ้าสัวเจริญ สนใจที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท การบินไทย ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากการบินไทยยังคงเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หากเอกชนเข้ามาถือหุ้นจะกลายสภาพเป็นภาพของหน่วยงานเอกชนซึ่งขัดต่อนโยบายกระทรวงการคลังที่ต้องการให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป
พร้อมกันนี้ยังมีการระบุอีกว่า ...ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายหน่วยงานที่สนใจจะเข้ามาร่วมเพิ่มทุนการบินไทยในครั้งนี้ประกอบด้วย บมจ. ท่าอากาศยานไทย ธนาคารออมสิน ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มทุนแทนกระทรวงการคลัง โดยวงเงินเบื้องต้น (ยังไม่ได้สรุป) ประมาณ 40,000 ล้านบาท และกู้เงินอีกประมาณ 30,000 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 70,000 ล้านบาท และจะเสนอแผนอีกครั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ในสื่ออื่นๆยังมีการระบุถึงรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. ด้วย
และในวันต่อมาคือวันอังคารที่ 14 เมษายน คุณประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีการกล่าวถึงข่าวลือจากกระทรวงการคลังที่จะมีการเปิดให้รัฐวิสาหกิจรายอื่นเข้ามาร่วมเพิ่มทุนว่า ไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด และในขณะนี้แผนที่ได้มีการหารือเรื่องการฟื้นฟูการบินไทยก็ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่อย่างไรก็ตามเบื้องต้นอาจะต้องการกู้เงินแน่นอน แต่จะเป็นรูปแบบใดนั้นต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูการบินไทยนั้นเบื้องต้นทางรัฐบาลจะดำเนินการเองทั้งหมด
ขณะที่ทางด้านรัฐวิสาหกิจอย่าง ท่าอากาศยานไทย ธนาคารออมสิน และ ปตท. ต่างก็ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวเช่นกัน เริ่มต้นที่ คุณนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ท่าอากาศยานไทย ก็ได้แจ้งหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีแผนที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทยแต่อย่างใด
ด้านคุณชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ไม่ทราบกระแสข่าวดังกล่าว และยังไม่มีนโยบายให้ธนาคารออมสินเข้าไปซื้อหุ้นการบินไทยแต่อย่างใดเช่นกัน
รวมถึงคุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ก็ยืนยันว่า ปตท.จะไม่เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทย เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจตามที่มีกระแสข่าวออกมาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นส่วนตรงหรือส่วนอ้อม
และล่าสุดสถานการณ์การลุ้นแผนการฟื้นฟูของการบินไทยนั้น เมื่อวันที่พฤหัสบดีที่ 16 เมษายน ได้บทสรุปที่..
กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม จะทำงานร่วมกันเพื่อดูแลแผนการฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งในวันนี้รัฐบาลได้มีการประชุมแผนฟื้นฟูวิกฤตของการบินไทย โดยมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะทำงานไม่เป็นทางการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดูแนวทางเร่งด่วนในการดูทิศทางการบินไทยว่าจะทำอย่างไรในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า โดยคณะทำงานชุดนี้มีตัวแทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม เนื่องจากรัฐบาลยังอยากให้การบินไทยกลับมาแข็งแรงและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยคณะทำงานชุดนี้จะทำงานให้เร็ว จากปัญหาด้านสภาพคล่องที่ต้องได้รับการแก้ไขทั้งในระยะสั้น และระยะยาวควบคู่กันไป
ขณะที่ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งได้ร่วมประชุมในครั้งด้วย ระบุว่า จากกระแสข่าวที่มีเอกชนจะเข้ามาซื้อการบินไทยนั้น กระทรวงการคลังยังไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าวร่วมกับเอกชนฝ่ายใดทั้งสิ้น และรองนายกได้กล่าวแล้วว่า ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานฝ่ายบริหารของการบินไทยเอง ส่วนการดูแลสภาพคล่องของการบินไทยยังระบุเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะผู้ที่ทำแผนกำลังเร่งเตรียมการอยู่ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้
ด้านคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มีการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูการบินไทยในเบื้องต้นแล้ว โดยสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปแผนการดูแลธุรกิจการบินไทย ทั้งการดูแลสภาพคล่องและงบประมาณในการบริหารจัดการ จะหารือในรายละเอียดทั้งหมด โดยเรื่องเงินที่จะมาเสริมสภาพคล่องของการบินไทยนั้นจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
…ทั้งนี้ในวันนี้จากสถานการณ์ที่ทำให้การบินไทยมีความหวัง ต่อแผนการฟื้นฟูนั้น ทำให้ราคาหุ้นของการบินไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นชนเพดานอีกครั้ง มาอยู่ที่ 6.35 บาทต่อหุ้น ซึ่งนับเป็นซิลลิ่งที่ 5 ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเข้าฟื้นฟูการบินไทยต่อไป เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถกลับมามีสายการบินแห่งชาติที่แข็งแกร่ง และแข่งขันได้อีกครั้งหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก Hoonsmart ,ข่าวหุ้นธุรกิจ,ฐานเศรษฐกิจ,ประชาชาติ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด