ทุเรียน 80,000 ลูก คือโอกาสการเติบโตของสินค้าเกษตรไทย ผ่านแพลตฟอร์มของ Alibaba | Techsauce

ทุเรียน 80,000 ลูก คือโอกาสการเติบโตของสินค้าเกษตรไทย ผ่านแพลตฟอร์มของ Alibaba

จากความสำเร็จจากยอดจองทุเรียนไทยผ่าน Tmall ด้วยยอดจองทุเรียนรวมถึง 130,000 ลูก ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นยอดจองทุเรียนหมอนทองจากช่วงเวลาหนึ่งนาทีแรกของการเปิดจองถึง 80,000 ลูก เป็นการเปิดประตูสู่โอกาสการเติบโต ของสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มของ Alibaba

 

ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยแรงสนับสนุนจากทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ และธุรกิจไทยผู้จัดหาทุเรียนคุณภาพสูงที่ผ่านการคัดเลือกโดย DITP  โดยความร่วมมือกับ Alibaba Group ในโอกาสนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคจีนที่มีขนาดใหญ่และมีความต้องการสินค้านำเข้าคุณภาพสูงหลากหลายประเภทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณจรินทร์ ศิริการ เจ้าของศูนย์กลางรับซื้อผลไม้ ซูเปอร์ฟรุต ไทยแลนด์ กล่าวว่า “เรามีการคัดเกรดทุเรียนก่อนที่จะส่งออก โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสีของเปลือก น้ำหนักที่เหมาะสม และระดับความสุก เราจะเลือกตัดทุเรียนที่สุกราว 70-80% เพื่อให้ทุเรียนสุกพร้อมรับประทานพอดีเมื่อส่งถึงประเทศจีน”

“กระบวนการการคัดเลือกทุเรียนคุณภาพสูงนั้น ต้องมีบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแต่ละขั้นตอน นับตั้งแต่การบำรุงดินไปจนถึงการตัดแต่งกิ่ง การคัดผลก่อนตัด และการขนส่ง ความต้องการสินค้าที่มากขึ้นจากตลาดจีนจะส่งผลดีกับธุรกิจของเราในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือโอกาสการทำงานที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับแรงงานในพื้นที่ เพื่อให้เรารับมือกับการเติบโตของตลาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” คุณจรินทร์ กล่าวเสริม

คุณบุญเรือง ประทุม เจ้าของสวนทุเรียนในตำบลเขาสระบาป อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กล่าวเสริมอีกว่า “การปลูกทุเรียนให้ได้คุณภาพดีนั้น ต้องเริ่มจากการดูแลบำรุงดิน การให้ปุ๋ย การตัดดอก การคัดลูกติดต้น การแต่งกิ่ง และรอให้ทุเรียนแก่จัดพร้อมตัดจากต้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาราว 120 วัน”

“ความร่วมมือกับอาลีบาบา ซึ่งครอบคลุมถึงการเปิดตัวร้าน Flagship Store สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวไทยด้วยนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยสามารถนำเสนอสินค้าออกสู่ตลาดจีนได้โดยมีการลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

“ทุเรียนไทยถือเป็นสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียมที่หาที่ไหนไม่ได้ในโลก และความร่วมมือนี้จะช่วยให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าของทุเรียนและสินค้าเกษตรอื่นๆ จากประเทศไทยบนเวทีโลก ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับเกษตรกรและธุรกิจไทย”

ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในครั้งนี้  Alibaba จะร่วมส่งเสริมการขายทุเรียนมูลค่า 3 พันล้านหยวน (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ภายในระยะเวลา 3 ปี เพิ่มเติมจากสินค้าส่งออกของไทยชนิดอื่น ๆ   การเปิดซื้อขายทุเรียนล่วงหน้ามีระยะเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 - 19 เมษายน เพื่อขายทุเรียนคุณภาพพรีเมี่ยมพันธุ์หมอนทองและพันธุ์พวงมณี ซึ่งเป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงของไทย  จากการทำงานร่วมกันของผู้ส่งออกที่มีคุณภาพระดับแถวหน้าที่แนะนำโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และไช่เหนี่ยวแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ของ Alibaba  ทำให้สามารถส่งทุเรียนจากแหล่งผลิตในประเทศไทยไปยังประเทศจีนได้ภายใน 120 ชั่วโมง และสามารถจัดส่งถึงมือลูกค้าทั่วประเทศจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง

หลังการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บน TMall.com เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา  การขายข้าวซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย ซึ่งระบบกระจายสินค้าของ TMall จะกระจายข้าวไปยังหลากหลายช่องทาง รวมถึงการขายผ่านตู้ขายข้าวอัตโนมัติที่ตั้งอยู่ตามร้านในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในเครือข่ายของ RT-Mart ในประเทศจีน  นอกจากนี้ Tmall ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคที่จะช่วยให้ผู้ค้าได้พัฒนาข้าวให้ตรงกับความชอบของผู้บริโภคชาวจีน เพื่อสร้างความสำเร็จจากการขายข้าวบนแพลทฟอร์ม TMall ซึ่งเห็นได้จากยอดขายข้าวไทยที่เติบโตมากกว่า 2เท่า ในปี 2560

“โปรโมชั่นขายทุเรียนล่วงหน้า เป็นเพียงก้าวแรกตามความมุ่งมั่นของเราที่มีมาอย่างต่อเนื่องที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย” นางสาวซู เฉีย ผู้อำนวยการอาวุโส TMall Fresh กล่าว “ในระยะแรกของความร่วมมือนี้ เราได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกระทรวงพาณิชย์และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการแนะนำผู้จัดหาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพให้นำผลผลิตเหล่านี้มาขายบนแพลตฟอร์มของเรา และเรามีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจในรูปแบบนี้ต่อไป ไม่เพียงแต่ทุเรียนและข้าวเท่านั้น ยังรวมถึงสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อสร้างโอกาสเติบโตและความสำเร็จให้กับพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มของเรา”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...