ครม.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 'ไม่ว่าเพศไหนก็แต่งงานกันได้' | Techsauce

ครม.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 'ไม่ว่าเพศไหนก็แต่งงานกันได้'

คุณรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….   หรือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว

โดยมีหลักการ เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

9 สาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต 

1. “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต


5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้

8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ร่างพ.ร.บ คู่ชีวิตถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกันให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน- คุณรัชดากล่าว

สาระสำคัญร่างของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  • กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี "คู่สมรส" หรือ "คู่ชีวิต" อยู่ไม่ได้
  • กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน "คู่ชีวิต"
  • กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ. รวม 2 ฉบับในเรื่องนี้ มีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้งให้ร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิตให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Meta ท้าชน Sora เปิดตัว Movie Gen หรือ AI สร้างวิดีโอตัวใหม่

ล่าสุด Meta เปิดตัว Movie Gen เครื่องมือสร้างวิดีโอด้วย AI โดยทาง Meta ได้ประกาศเรื่องนี้หลังจาก OpenAI เปิดตัวโมเดลสร้างวิดีโอจากข้อความชื่อว่า Sora เมื่อไม่กี่เดือนก่อน อย่างไรก็...

Responsive image

Google ทดสอบ ‘ติ๊กฟ้า’ ยืนยันเว็บไซต์ทางการ ยกระดับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์

Google ทดลองกำกับติ๊กฟ้าบนเว็บไซต์ทางการของหลากหลายแบรนด์ที่ได้รับการยืนยัน ช่วยให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงการคลิกเว็บไซต์ปลอมหรือฉ้อโกง และเป็นการยืนยันได้ว่าไม่ใช่บริษัทลอกเลียนแบบที่พยา...

Responsive image

YouTube Shorts ยกระดับวิดีโอสั้น เพิ่มความยาววิดีโอสูงสุดเป็น 3 นาที พร้อมฟีเจอร์ใหม่ เริ่ม 15 ตุลาคมนี้

YouTube Shorts กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสร้างคอนเทนต์วิดีโอสั้น โดยเตรียมเพิ่มความยาวสูงสุดของวิดีโอจาก 60 วินาที เป็น 3 นาที นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้...