ประกาศใช้กฎหมายควบคุม-เก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" ครอบคลุม ICO และ Cryptocurrency | Techsauce

ประกาศใช้กฎหมายควบคุม-เก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" ครอบคลุม ICO และ Cryptocurrency

มาแล้ว! ประกาศใช้กฎหมายควบคุมและเก็บภาษีจาก "สินทรัพย์ดิจิทัล" อย่างเป็นทางการ ครอบคลุมทั้ง Cryptocurrency, ICO และ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด

  • ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด
  • โทษหนักหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้รับอนุญาตลงทะเบียนกับ ก.ล.ต.
  • เก็บภาษี Cryptocurrency 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้
  • ระบุออกกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาฉ้อโกงประชาชน ปัญหาการฟอกเงิน และไม่ให้เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ
Photo: CoinTelegraph

มาแล้ว! กฎหมายควบคุม-เก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" ครอบคลุมทั้ง Cryptocurrency, Digital Token, ICO และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด โดยมีการออกกฎหมายมาด้วยกัน 2 ฉบับ ได้แก่

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากการประชุมร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัลหรือ ICO (Initial Coin Offering) รวมทั้งเรื่องเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)  แหล่งข่าวของประชาชาติธุรกิจกล่าวว่า

เรื่องนี้จำเป็นเร่งด่วน เพราะมีบริษัทสนใจระดมทุนกันมาก ทำให้ต้องรีบดูแลนักลงทุนรายย่อย และเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ มีศัพท์ดิจิทัลใหม่ ๆ เกี่ยวข้องมาก จึงเห็นควรให้เสนอเป็น พ.ร.ก. เพราะสามารถใช้อำนาจรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารประกาศบังคับใช้ได้เลย ไม่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 3-4 เดือนเป็นอย่างต่ำ

ใน พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ หรือวันที่ 14 พฤษภาคม 2561

ส่วน พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (13 พฤษภาคม 2561)

ซึ่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ประกาศใช้จะครอบคลุมการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกเรื่อง ทั้ง ICO, Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) และ Token (โทเคน) ต่าง ๆ รวมทั้งวางหลักเกณฑ์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ที่จะระดมทุน ICO ตัวกลางซื้อขาย ผู้จะจัดทำแพลตฟอร์มตลาดรอง และคุณสมบัติผู้ลงทุน

รายละเอียดมีดังนี้

นิยาม "สินทรัพย์ดิจิทัล"

พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัลในมาตรา 3 ดังนี้

  • ทรัพย์สินดิจิทัล หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency), โทเคนดิจิทัล (Digital Token)
  • คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
  • โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
    • กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ
    • กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

นอกจากนี้ มาตรา 5 ยังย้ำว่า หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ให้ถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลตาม พ.ร.ก. ดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนิยามของ "ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล" ว่าประกอบไปด้วย

  • ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้น เพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ
  • นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือ บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น
  • ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล คือ บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่า พร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
  • และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ให้ ก.ล.ต. คุมสินทรัพย์ดิจิทัล ICO และ Cryptocurrency

Photo: Pexels

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ จัดทำร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยที่ประชุม ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. นี้ โดย ก.ล.ต.จะต้องกำกับดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด

มาตรา 10 ของ พ.ร.ก. ระบุว่า

เพื่อประโยชน์ในการกำกับและควบคุมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีหน้าที่และอำนาจวางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับและควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้

นอกจากนี้ยังให้ หน้าที่และอำนาจอื่น ๆ แก่ ก.ล.ต. ได้แก่

  • ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
  • กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต การอนุญาต คำขอความเห็นชอบ การให้ความเห็นชอบ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี การยื่นคำขอต่าง ๆ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบ
  • กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับ พ.ร.ก. นี้

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่เพียงรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และมีอำนาจแค่ออกประกาศและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.ก. นี้

นอกจากนี้กฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอีกด้วย

โทษหนักหากไม่ลงทะเบียนกับ ก.ล.ต.

พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้กำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งทางอาญาและทางแพ่งรวมแล้วมากกว่า 40 มาตรา เช่น

  • กรณีผู้เสนอขาย Token โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ทำผ่านตัวกลางที่ถูกกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของราคาขาย Token ที่เสนอขาย โดยต้อง0jkpค่าปรับไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีให้ข้อมูลในไฟลิ่ง (Filling) เป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 เท่าของที่เสนอขายโทเคน (ต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท)
  • หากเสนอขาย Token ระหว่างที่ ก.ล.ต.ระงับการไฟลิ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่าที่เสนอขาย (ต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และหากยังฝ่าฝืนปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท
  • ผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • เป็นต้น

กรณีที่มีบริษัทดำเนินการระดมทุน ICO (Initial Coin Offering) ไปก่อนหน้าที่ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ กฎหมายมีบทเฉพาะกาลให้ต้องมาขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต.ใน 90 วัน (ประมาณ 3 เดือน)

ไฟเขียวเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้นายณัฐพรยังระบุต่อว่าปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น ครม. เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษี) โดยมีการเพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลใน ดังนี้

  • เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล
  • ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

โดยได้กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินอีกด้วย ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายนั้นสามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว

เหตุผลในการประกาศให้กฎหมายสองฉบับนี้

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ใน พ.ร.ก. ระบุว่า ในปัจจุบันได้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล

แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับหรือควบคุมการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ดังนั้น เพื่อกำหนดให้มีการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ใน พ.ร.ก. ระบุว่า ในปัจจุบันได้มีการถือหรือครอบครอง โทเคนดิจิทัล หรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี

แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเป็นการเฉพาะเป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีกฎหมายลูกอื่น ๆ ที่จะออกมาจากกระทรวงการคลังประมาณ 10 ฉบับ และจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีก 5 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้จะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ผู้ที่เป็นตัวกลางหรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, ผู้ที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) และผู้ที่เป็นผู้ค้า (ดีลเลอร์) เพื่อให้ทราบข้อมูลจำนวนของผู้ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว

ปรับปรุงข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย, คมชัดลึก, ประชาชาติธุรกิจ (1) และ ประชาชาติธุรกิจ (2)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...