ส่อง 3 ธนาคารใหญ่ ปรับทัพตั้งผู้บริหารใหม่ เสริมแกร่งโครงสร้างธุรกิจยุคดิจิทัล | Techsauce

ส่อง 3 ธนาคารใหญ่ ปรับทัพตั้งผู้บริหารใหม่ เสริมแกร่งโครงสร้างธุรกิจยุคดิจิทัล

เทคโนโลยีใหม่ ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภาพรวมของโลก ทำให้ภาคธุรกิจต่างต้องมีการ Transform ปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแผนกลยุทธ์ การค้นหา New S-curve การลงทุนในดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือแม้แต่การปรับทัพผู้บริหารใหม่ก็เช่นกัน อย่างในประเทศไทยเอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่ามีความร้อนแรงไม่น้อยในกลุ่มธุรกิจธนาคารที่มีการประกาศตั้งผู้บริหารใหม่ ถึง 3 ธนาคารใหญ่ ด้วยกัน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  ทั้งนี้  เพื่อเข้ามาดูแลองค์กรให้แข็งแกร่งภายใต้การปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ที่ต้องการจะมุ่งไป 

ธนาคารใหญ่

กลุ่ม SCB ตั้ง ‘กฤษณ์ จันทโนทก’ ขึ้นแท่น CEO นำทัพธุรกิจธนาคาร 

หลังจากที่ กลุ่มไทยพาณิชย์ ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ จากสถาบันการเงิน สู่ Tech Company และได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ของยานแม่ SCBX ในขณะที่ธุรกิจ Cash Cow อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ล่าสุดก็ได้มีการจัดทัพองค์กรครั้งใหญ่ ทางคณะกรรมการธนาคารได้มีการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาได้แต่งตั้งคุณกฤษณ์ จันทโนทก ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย มีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ 

และภายใต้โครงสร้างการบริหารจัดการใหม่นี้ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา จะพ้นจากการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และยังคงดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) 

ส่วนผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ 3 ท่าน ได้แก่ คุณสารัชต์ รัตนาภรณ์ คุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ และดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ จะพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งปัจจุบันผู้จัดการใหญ่ทั้ง 3 ท่านดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินไทยพาณิชย์  ได้แก่ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด บริษัท  ออโต้ เอกซ์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ตามลำดับ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงครั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นภารกิจสำคัญในการนำพากลุ่มไทยพาณิชย์สร้างมูลค่าจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญ รวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ 200 ล้านคน พร้อมทั้งนำพาธุรกิจของกลุ่มฯ ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อยกระดับองค์กรสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินระดับภูมิภาค ที่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกได้อย่างทัดเทียมและทันท่วงทีตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

ttb เปิดบริษัทใหม่ ttb consumer ตั้ง ‘จเร เจียรธนะกานนท์’ นั่ง MD พร้อมดึง ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ เข้าเป็นที่ปรึกษา

หลังจากี่ได้มีการควบรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาติ และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารได้เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามทิศทางที่วางไว้ โดยล่าสุดได้มีการเปิดบริษัทใหม่ “ttb consumer (ทีทีบี คอนซูมเมอร์)” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีเอ็มบีธนชาตถือหุ้น 100% ประกอบธุรกิจตัวแทนขาย ให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ครบวงจ ทั้งนี้เพื่อขยายธุรกิจให้เข้าถึงลูกค้าบุคคลได้กว้างขึ้น จึงได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ นั่นคือ  คุณจเร เจียรธนะกานนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นอกจากนี้ยังได้เชิญ คุณฐากร ปิยะพันธ์ หนึ่งในผู้บริหารด้านการเงินที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินมากกว่า 20 ปี มานั่งแท่นที่ปรึกษาอาวุโสอีกด้วย  ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมาย ttb consumer ก้าวขึ้นติดอันดับหนึ่งในสี่ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ภายใน 3 ปี

สำหรับคุณจเร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ University of Wisconsin – Madison โดยก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ ttb consumer ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต รวมทั้งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการทำงานด้านสายงานธุรกิจรายย่อยร่วมกับธนาคารชั้นนำมากกว่า 18 ปี จึงทำให้เป็นผู้ที่มีความเข้าใจในความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี

EXIM BANK หนุนอุตสาหกรรมใหม่ ตั้ง เบญจรงค์ สุวรรณคีรี นั่งแท่น รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานกลยุทธ์

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  โดยในระยะหลังมานี้ได้มีการปรับทิศทางการสนับสนุนภาคธุรกิจตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่มุ่งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการให้การสนับสนุนโครงการการลงทุนกับธุรกิจด้าน BCG เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ คือ ‘ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี’ เป็น รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานกลยุทธ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 เป็นต้นไป

เพื่อเข้ามาดูแลสายงานกลยุทธ์ ครอบคลุมงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร การวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลผลการดำเนินงาน งานวิจัยธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงกระบวนการทำงานทางธุรกิจและเสริมสร้างนวัตกรรมในองค์กร 

สำหรับดร.เบญจรงค์จบการศึกษาปริญญาเอกและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา และปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

และเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร MEbyTMB ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ก่อนเข้าร่วมงานกับ EXIM BANK ดร.เบญจรงค์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งมีการประกาศแต่งตั้งผู้บริหารใหม่กันอย่างร้อนแรงในวงการธนาคาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านธนาคารกสิกรไทยก็ได้ประกาศแต่งตั้ง 4 รองกรรมการผู้จัดการคนใหม่เช่นกัน  ได้แก่ คุณกระมล พูลเกษ ดูแลสายงาน Data and Analytics Division  คุณนิศานาถ อู่วุฒิพงษ์  ร่วมดูแลสายงาน Transaction and Wealth Banking Division  คุณศรินยา ปิยะวงศ์สมบูรณ์ ดูแลสายงาน Marketing Management Division และดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ ดูแลสายงาน Corporate Strategy and Innovation Division  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กสิกรไทย แต่งตั้ง 4 รองกรรมการผู้จัดการใหม่)


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มองศึก Virtual Bank ไทย เทียบชั้นผู้เล่นบนเวทีโลกได้หรือไม่

หลังจาก ธปท. เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank ยื่นขอเข้ามา ส่งผลให้ธุรกิจการเงินในไทยกลับมาคึกคักมากขึ้น...

Responsive image

Google Workspace อัปเกรดครั้งใหญ่ ! ดึงพลัง AI พลิกโฉมการทำงาน

Google Workspace บริการชุดแอปพลิเคชันผ่านระบบคลาวด์ ได้รับการยกเครื่องครั้งใหญ่ด้วยการผสานความสามารถของ Generative AI ในหลากหลายแอปพลิเคชันยอดนิยม เพื่อช่วยให้การทำงานเป็นเรื่องที่...

Responsive image

จาก ลี เซียงลุง สู่ ลอว์เรนซ์ หว่อง ว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 4

ลี เซียนลุง ได้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 16 เมษายน 2024 ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรั...