‘ทิม พิธา’ เผย ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 25 จาก 186 ประเทศทั่วโลก รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนสูงติดอันดับ 10 ของโลก แถมภาคเกษตรและท่องเที่ยวรับผลกระทบโดยตรง ระบุพรรคอนาคตใหม่ร้องรัฐบาลไทย ยื่นขอปรับปรุง NDC ต่อ UNFCCC ภายใน เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตั้งเป้าให้มีความท้าทายขึ้น เพื่อยกระดับการรับมือกับปัญหาโลกร้อนในฐานะพลเมืองโลก และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนไทยให้มากที่สุด
คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม องค์กรนานาชาติทั้งหมด 631 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ถึงเหล่าผู้นำนานาชาติกำลังร่วมประชุมหารือภายในงานประชุมโลกร้อน COP25 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน เรียกร้องให้แต่ละประเทศทบทวนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศกำหนดเอง หรือ NDCs (Nationally Determined Contributions) ให้มีความท้าทายมากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการตามแผนลดโลกร้อนอย่างเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สู่การใช้พลังงานหมุนเวียน โดยประเทศภาคีต้องยื่นเป้าหมายใหม่นี้ ภายใน ปี 2563 (ปีนี้)
จากรายงาน UN’s annual Emissions Gap Report ฉบับล่าสุด ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมๆ กันแล้วยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยในรายงานชี้ว่า นานาชาติจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 45% ภายในปี พ.ศ.2573 เพื่อปิดช่องว่างของเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ
ล่าสุด มี 75 ประเทศ ได้แสดงความจำนงที่จะยกระดับ ปรับปรุงเป้าหมาย NDC เดิม เพื่อให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ให้บรรลุเป้าหมายตาม Paris Agreement อีก 35 ประเทศกำลังทบทวนและอัปเดตเป้าหมาย NDC มีเพียง 14 ประเทศเท่านั้นที่แสดงเจตจำนงว่าจะยึดตาม NDC เดิมที่ได้ยื่นมา และจะไม่ปรับปรุงเป้าหมายให้สูงขึ้น โดยหากประเทศไทยไม่ยื่นเป้าหมายใหม่ เราจะเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศ จาก 112 ประเทศทั้งหมด ที่ไม่ให้ความร่วมมือในครั้งนี้
ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 25 ของโลก เราจึงเป็นหนึ่งในตัวต้นเหตุของการก่อปัญหานี้ และควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับที่ 25 จาก 186 ประเทศทั่วโลก ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่อคนต่อปีของไทยยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) สูงถึง 5% เทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ต่อปีเท่านั้น
ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก climate change สูงติดอันดับ 10 ของโลก จากงานวิจัย Global Climate Risk Index 2019 ที่ทำการประเมินผล ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับ 10 ของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ในปี 2560 (สูงขึ้นจากอันดับที่ 20 ในปี 2559) โดยระบุว่าในปี 2017 มีคนไทยได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นจำนวนสูงถึง 1.6 ล้านคน
สองภาคเศรษฐกิจไทยที่จะถูกกระทบหนักคือ ภาคเกษตรและท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่กินสัดส่วนแรงงานกว่า 1 ใน 3 ของประเทศไทย จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง ทั้งจากภาวะที่อาจเกิดฝนแล้งและน้ำท่วมที่รุนแรงและบ่อยขึ้นหรือ ผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตร โดย Global Climate Risk Index 2019 ได้ระบุไว้ว่า ภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรไทยลดลงไม่น้อยกว่า 25%
ส่วนการท่องเที่ยวไทยเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ในระยะ 10 - 20 ปีข้างหน้า การท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็จะได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นด้วย เช่น จากการพยากรณ์สภาพอากาศ พบว่าหน้าหนาวมีโอกาสจะสั้นลงประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ไฮซีซั่น ภาคเหนือที่อยู่ระหว่างเดือน ธ.ค.-ปลายเดือน ก.พ. อาจหดสั้นลง กระทบการท่องเที่ยวภาคเหนือค่อนข้างมาก หรือ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ที่บริเวณใกล้ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะและอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เป็นต้น
อีกเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัด คือปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เรากำลังประสบปัญหากันอย่างรุนแรงทุกวันนี้ นอกจากปัญหาเรื่องมาตรการจากภาครัฐแล้ว ส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความรุนแรงของไฟป่าและมลพิษฝุ่น PM2.5 และจากสถานการณ์สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ปัญหาไฟป่าและมลพิษจากฝุ่น PM2.5 จึงมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต หากไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆขึ้น
ทางพรรคอนาคตใหม่จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ยื่นขอปรับปรุง NDC ต่อ UNFCCC ภายใน เดือนกุมภาพันธ์ 2563 (เดือนหน้า) โดยตั้งเป้าให้มีความท้าทายขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 20 – 25% ภายในปี 2573 จากภาคพลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย เพื่อยกระดับการรับมือกับปัญหาโลกร้อนในฐานะพลเมืองโลก และเพื่อมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไทยให้มากที่สุดครับ
ข้อมูลและภาพจาก Facebook : Pita Limjaroenrat-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด