บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE แจ้งหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติที่สําคัญ ดังนี้
1. อนุมัติให้บริษัทฯ ทําการศึกษาความเป็นไปได้ และ ดําเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างบริษัทฯ และ บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ DTAC ภายใต้บทบัญญัติ ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535
และ อนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทําบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non - Binding Memorandum of Understanding) (MOU) กับ dtac เพื่อบันทึกความประสงค์ของ คู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัทฯ และ dtac เข้าด้วยกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พิจารณากําหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สําหรับการจัดสรรหุ้นใน บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของ dtac ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมในบริษัทฯ ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน dtac ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่
อัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกําหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้น ที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมด จํานวน 138,208,403,204 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
รับทราบจากบริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ระหว่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็น ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และ Telenor Asia ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ dtac ว่า Citrine Global มีความประสงค์ ที่จะทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทําคําเสนอซื้อ ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
ด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนี้ ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด