การแข่งขัน eSports ในระดับมหาวิทยาลัยอย่าง U-League กลับมาอีกครั้งในชื่อ "U-League Thailand 2018" แข่งขันด้วย 2 เกม คือ เกมประเภทต่อสู้อย่าง DOTA2 และเกมประเภทยิงปืน Counter Strike Global Offensive โดยมีสถาบันการศึกษาที่ร่วมเข้าการแข่งขันครั้งนี้นับ 20 สถาบัน
ในปีนี้ U-League ยังร่วมมือกับศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ จัดโครงการ Pantip E-Sports Academy X U-League 2018 เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมและสนับสนุนน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่เป็น นักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกีฬาอี-สปอร์ต พัฒนาทักษะในการก้าวเป็นนักกีฬา eSports รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ให้พร้อมเข้าสู่สนามแข่งขันในระดับสากลอีกด้วย
ในอดีตประเทศไทยมีการคัดค้านการนำ eSports มาเป็นกีฬา โดยให้เหตุผลว่าสภาวะสังคมไทยในขณะนั้นมีปัญหาในด้านการจัดการพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ในเรื่องเกี่ยวกับเสพติดเกม ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาในหลายๆ ด้านตามมาภายหลัง
ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบให้ eSports จัดอยู่ในรูปแบบอย่างหนึ่ง และสามารถจัดตั้งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมในประเทศไทยได้ ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในกีฬา eSports ในนามทีมชาติไทยได้อย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้มีกล่าวถึง eSports ในหัวข้อ "บทบาทของ eSports ต่อเยาวชนและสังคมไทย" ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนกีฬา eSports และการแข่งขัน U-League ไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.เดชรัต เริ่มเปรียบเทียบ eSports โดยเปรียบเทียบกับการแข่งขันฟุตบอล FIFA WORLD CUP 2018 ที่ผ่านพ้นไป โดยเรื่องของฟุตบอลไม่ได้มีแค่เรื่องของผลแพ้ชนะ แต่ยังมีการพูดถึงเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความฝัน ความหวัง การฝึกฝนตามรูปแบบที่แต่ละทีมหรือผู้เล่นแต่ละคนแสดงให้ดูผ่าน "กีฬา"
ดร.เดชรัต: การเป็นกีฬามันช่วยให้พลังของการพัฒนามีความเด่นชัด มีความมุ่งมั่นเพิ่มขึ้น การเป็นกีฬาจึงมีความสำคัญมากๆ
มีการคาดหมายกันว่ากีฬา eSports จะมีการเล่นกันทั่วโลกเป็นประเภทที่ 2 ต่อจากฟุตบอล โดยยกตัวอย่างประเทศไทยเราถนัดมวยและตะกร้อ แต่บางประเทศอาจจะไม่ถนัดเหมือนเรา แต่ eSports ต่อไปทุกประเทศจะเล่นได้เหมือนกันหมด
"ผมคิดต่อไปว่าสิ่งที่ eSports จะเหนือกว่าฟุตบอลอีกอย่างหนึ่งคือจะเล่นได้ทุกวัย คนแก่สู้วัยน้องๆ ไม่ได้หรอก การมี eSports สำหรับผู้สูงอายุน่าจะง่ายกว่า มีคนเล่นเยอะกว่าฟุตบอลสำหรับผู้สูงอายุ" ดร.เดชรัต กล่าว "ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นวิวัฒนาการในอนาคต"
ดร.เดชรัต ระบุว่าการทำให้เกมหรือ eSports เป็น "กีฬา" เพราะตัวของ "กีฬา" มีองค์ประกอบที่ทำให้...
รวมถึงทำให้เกิด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ซึ่งหลายคนต่างว่าจะเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งไม่ได้เกิดจากการท่องจำ แต่มันเกิดจากแรงบันดาลใจที่ไม่ใช่แค่นักกีฬา eSports แต่รวมไปถึงนักพัฒนาเกมใหม่ๆ ให้นำมาใช้ในการแข่งขัน eSports ก็เป็นไปได้ด้วยเช่นกัน
จริงๆ แล้ว eSports หรือเกม เสริมศักยภาพและทักษะในหลายๆ ด้าน เช่น ทักษะการทำงานหลายด้านพร้อมกัน, ทักษะการคิด ตรรกะ ความจำ ไหวพริบ การแก้ปัญหา, ผ่อนคลาย ลดความเครียด, ทักษาภาษา, เนื้อหาความรู้, สร้างมิตรภาพ, การทำงานเป็นทีม, การจำลองสถานการณ์และความคิดสร้างสรรค์
ที่สำคัญ งานวิจัยจากต่างประเทศหลายอันระบุว่าการเล่นเกมทำให้ผู้เล่นมีผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นเกม เมื่อทำวิจัยในเชิงลึกก็พบว่าผู้เล่นได้ฝึกการเปลี่ยน "ทัศนคติที่มีต่อปัญหาที่พบ" ได้
หมายความว่า เวลาเราเล่นเกมเรามีเวลาเพียงเสี้ยววินาทีที่จะต้องสู้ต่อ ลุยต่อ วิธีที่สู้ทำอย่างไร แก้ไขอย่างไร เผชิญหน้าอย่างไร แพ้ไม่เป็นไรเริ่มใหม่ นี่คือสิ่งที่มีอยู่ในกีฬาและมีอยู่มากในกีฬา eSports
ทำให้ครูในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่งเสริมให้เด็กเล่นเกม ส่งเสริมให้เด็กเล่นเกม หรือ eSports เพราะมันทำให้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อปัญหาได้
การก้าวสู่ความเป็นเกมหรือกีฬา eSports จึงเป็นเสมือนการเปิดประตูบานใหญ่ ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้เล่น แต่รวมไปถึงเยาวชนและสังคมไทย ได้เห็นถึงสปิริตของนักกีฬาและผู้เล่นเกม ได้เห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ รวมถึงจะทำให้ประเทศก้าวเข้าไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ใช่แค่ก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ยังขยายไปข้างๆ ถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
รวมไปถึงก้าวไปข้างใน เพราะสร้างความมีวินัย และความมีน้ำใจนักกีฬาแก่ผู้เล่นอีกด้วย