เพื่อที่จะต่อสู้กับผลกระทบอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว เราต้องการความร่วมมือจากทุกคน รวมไปถึงหุ่นยนต์ด้วย
Image Source: ABB
ป่าแอมะซอน หรือเรียกอีกอย่างว่าปอดของโลก กำลังประสบปัญหาจากการทำลายล้างอย่างหนัก มีรายงานว่าพื้นที่ 1 ใน 3 ของป่านั้นถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงไปแล้ว
YuMi คือหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่วมกับมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม เรียกง่าย ๆ ว่า โคบอท (Collaborative Robot) สร้างโดยบริษัท ABB Robotics ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันใช้งานในป่าแอมะซอนร่วมกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร Junglekeepers
เป็นหุ่นยนต์ที่เปิดตัวไปในปี 2015 ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีแขนคู่ ที่ยืดหยุ่น มีการควบคุมการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ สร้างขึ้นจากโลหะผสมแมกนีเซียมน้ำหนักเบา และยังออกแบบมาให้สามารถทำงานร่วมกันกับคนได้
พื้นที่ป่าแอมะซอนที่สำคัญกว่า 870,000 ตร.กม. เริ่มถูกรุกรานตั้งแต่ปี 1985 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในทำการเกษตร Junglekeepers จึงได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อปกป้องพื้นที่ 55,000 เอเคอร์ ในป่าแอมะซอนทางฝั่งของประเทศเปรู
YuMi จะช่วย Junglekeepers ทำการปลูกเมล็ดพันธุ์อัตโนมัติในห้องแลปขององค์กร ซึ่งเป็นงานที่น่าเบื่อของมนุษย์ แต่หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าคน ทำให้สามารถเพาะเมล็ดพืชได้ประมาณสองสนามฟุตบอลต่อวัน ซึ่งช่วยให้พนักงานในองค์กรนั้นมีเวลาในการทำงานอื่น ๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไปให้ความรู้แก่ประชากรในท้องถิ่น หรือลาดตระเวนหาคนตัดไม้ผิดกฎหมาย
ในห้องแลปที่ตั้งอยู่กลางป่าแอมะซอน มีการติดตั้ง YuMi เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้คนในการปลูกทั้งหมด YuMi จะทำการขุดหลุมในดิน หยอดเมล็ดลงไป กลบดินให้แน่น แล้วทำเครื่องหมายด้วยแท็กรหัสสี ใช้เวลาในการปลูกไม่ถึง 5 นาที ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 ลัง
Moshin Kazmi หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Junglekeepers กล่าวว่า ตอนนี้ป่าแอมะซอนสูญเสียพื้นที่ป่าฝนไปแล้วกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หากปราศจากการใช้เทคโนโลยีในวันนี้ ป่าที่รักษาไว้ก็จะหายไป
การมี YuMi อยู่เป็นวิธีที่ดีที่ช่วยให้ได้เห็นวิธีการใหม่ ๆ ในการทำสิ่งต่าง ๆ และช่วยขยายการดำเนินงานขององค์กรและทำภารกิจนี้ให้ก้าวหน้าได้
แม้ว่าแนวคิดที่ใช้หุ่นยนต์ปลูกป่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หัวใจหลักคือการเพิ่มต้นไม้ในป่าที่สูญเสียไปจากการตัดไม้และไฟป่า ให้มีการฟื้นฟูหรืออย่างน้อยก็หยุดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งภารกิจนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิจารณ์กล่าวว่า ความพยายามในการปลูกป่าชดเชย ไม่สามารถหยุดยั้ง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ เพราะทั่วโลกยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
การมุ่งเน้นไปที่แคมเปญที่สร้างความรู้สึกดีเหล่านี้ ซึ่งหลายแคมเปญริเริ่มให้มีการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon offset credit) เป็นเรื่องง่าย และเป็นแคมเปญที่ไม่เกิดประโยชน์มากนักสำหรับองค์กรใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปลูกต้นใหม่ฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหายในป่าแอมะซอนของหุ่นยนต์จะไม่สามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามีบทบาทในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด