7 เหตุผลที่ไทยต้องลุยอุตสาหกรรม Semiconductor ก่อนตกขบวนเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ! | Techsauce

7 เหตุผลที่ไทยต้องลุยอุตสาหกรรม Semiconductor ก่อนตกขบวนเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง !

ตั้งแต่การคิดค้นทรานซิสเตอร์เมื่อประมาณ 70 ปีก่อน เซมิคอนดักเตอร์ได้กลายมาเป็นแกนหลักของความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ 

และในปัจุบันมันไม่ได้เป็นเพียงหัวใจสำคัญของยุคดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังการพัฒนาของนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา ตั้งแต่สมาร์ทโฟนที่กลายเป็นอุปกรณ์ประจำตัว คอมพิวเตอร์ที่ช่วยเราทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์คือแกนกลางของเทคโนโลยีเหล่านี้

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงเข้มข้นขึ้น ประเทศมหาอำนาจต่างพยายามแย่งชิงพื้นที่ในตลาดนี้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยเองก็เริ่มเล็งเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ การเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงการก้าวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี แต่ยังเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ

บทความนี้ Techsauce จึงอยากชวนทุกคนมาเจาะลึกกับ 7 เหตุผลที่ทำให้ ‘เซมิคอนดักเตอร์’ สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทย

ภาพรวมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก PWC หรือ PricewaterhouseCoopers บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เผยว่า รายได้จากเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะเติบโตเร็วกว่าการเติบโตของ GDP ทั่วโลกถึงสองเท่า โดยคาดว่าจะสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 34 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 ด้วย 3 ปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตนี้ อาทิ

1. Memory ICs

เป็นหมวดหมู่ที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะ DRAM และ HBM

  • DRAM คาดว่าจะคิดเป็น 14% ของรายได้รวมของเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2024
  • HBM (High Bandwidth Memory) มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแอปพลิเคชัน AI โดยใช้ประโยชน์จากความเร็วสูงและความหน่วงต่ำ ซึ่งเห็นได้จากการใช้งานใน GPU ของ NVIDIA และ AMD ซึ่งเหมาะสำหรับการประมวลผลคู่ขนานและการทำงาน AI คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น (CAGR) ที่ 64% ในการเติบโตของบิต และ 58% ในรายได้จนถึงปี 2028

2. Automotive 

ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ยานยนต์ กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการนำรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ (SDVs) มาใช้อย่างแพร่หลาย โดยในปี 2023 ขนาดตลาดเซมิคอนดักเตอร์ยานยนต์มีมูลค่ารวมสูงถึง 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.5 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าจะเติบโตเป็น 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.9 ล้านล้านบาท) ภายใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 8.9%

3. Electrification

การเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าช่วยเพิ่มความต้องการเซมิคอนดักเตอร์สำหรับระบบพลังงาน โดยเฉพาะในส่วนของระบบ EV เช่น Inverters และระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management Systems) อุปกรณ์วงจรกว้างพิเศษ (Wide Bandgap Devices) เช่น Silicon Carbide (SiC) และ Gallium Nitride (GaN) กำลังได้รับความนิยมจากประสิทธิภาพที่เหนือกว่า โดยคาดว่าตลาดของ WBG จะเติบโตจนมีมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 18% ของตลาดทั้งหมดภายในปี 2028

ซึ่งทาง PWC ได้เปิดเผยบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่ปี 2023-2027 ที่ประเทศต่างๆ จัดสรรให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 หมื่นล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา: มอบเงินสนับสนุนแล้ว 29.5 พันล้านดอลลาร์ และอนุมัติเงินกู้ 25.1 พันล้านดอลลาร์ ให้แก่ 9 บริษัทใน 18 โครงการ ใน 12 รัฐ โครงการเหล่านี้มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 348 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030
  • สหภาพยุโรป (EU): ตั้งงบไว้ 46 พันล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการลงทุน แต่ยังไม่มีการอนุมัติเงินสนับสนุน
  • อินเดีย: วางแผนใช้งบ 10 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการเซมิคอนดักเตอร์ ให้การสนับสนุนสูงสุด 50% ของมูลค่าโครงการ
  • ญี่ปุ่น: วางแผนลงทุน 7 พันล้านดอลลาร์ ผ่านความร่วมมือระหว่าง Rapidus และ TSMC
  • เกาหลีใต้: ดึงดูดการลงทุน 50 พันล้านดอลลาร์ ผ่านเครดิตภาษี 20% รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลเทียบเท่า 90 พันล้านดอลลาร์
  • ไต้หวัน: บริษัทที่มีคุณสมบัติได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ลดหย่อนภาษี 25% สำหรับการวิจัยและพัฒนา  ลดหย่อน 5% สำหรับเครื่องจักรใหม่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตขั้นสูง
  • สิงคโปร์: ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนที่ดีที่สุดนอกสหรัฐฯ สามารถลดต้นทุนการเป็นเจ้าของโรงงานได้ถึง 25%-30%
  • จีน: สนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศมากว่า 10 ปี ใช้กองทุนต่างๆ เช่น National Integrated Circuit Investment Fund: $21 พันล้าน (2014), $35 พันล้าน (2019), $41 พันล้าน (2023) รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและเงินกู้ รวมการลงทุนจากภาครัฐมากกว่า 190 พันล้านดอลลาร์

7 เหตุผลที่ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สำคัญสำหรับประเทศไทย

หากยังจำกันได้เรื่องปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปี 2021 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เมื่อรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาตรการควบคุมการขายเซมิคอนดักเตอร์แก่บริษัทจีน เช่น Huawei และ ZTE รวมถึงการขึ้นบัญชีดำ Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน สถานการณ์นี้ทำให้บริษัทจีนเร่งสะสมชิปสำรอง ส่งผลให้บริษัทในสหรัฐฯ เผชิญปัญหาขาดแคลนชิปในกระบวนการผลิต

ด้วยความขัดแย้งดังกล่าว รวมถึงนโยบาย CHIPS Act ของสหรัฐฯ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ปรับฐานการผลิตมายังประเทศพันธมิตร ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน และนี่คือ 7 เหตุผลที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญต่อไทย:

1. หัวใจสำคัญของการส่งออกไทย

  • สินค้าเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็นกว่า 62% ของการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เช่น แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
  • สหรัฐฯ และฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ช่วยสร้างมูลค่าการส่งออกมหาศาลให้กับประเทศ

2. ฐานการผลิตในอาเซียนที่มีศักยภาพ

  • ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • การลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ เช่น TSMC และ Samsung ทำให้ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก
  • รัฐบาลไทยสนับสนุนการดึงดูดนักลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์พิเศษในเขตอุตสาหกรรม เช่น EEC

3. ตอบสนองความต้องการในยุคดิจิทัล

  • เทคโนโลยี 5G, AI, IoT และ Data Center ต้องพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความซับซ้อนสูง
  • ความต้องการของอุตสาหกรรมเหล่านี้ขยายตัวทุกปี ซึ่งไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้เพื่อส่งออกได้

4. ตลาดโลกที่ขยายตัวไม่หยุด

  • เซมิคอนดักเตอร์เป็นสินค้าที่ความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
  • ตลาด AI และการจัดเก็บข้อมูล (Data Storage) เช่น การใช้ AI Servers และ Data Center ต้องการชิปที่มีประสิทธิภาพสูง

5. ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

  • รัฐบาลไทยมีนโยบายจูงใจการลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ BOI
  • นักลงทุนต่างชาติมองไทยเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นทุนต่ำที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกได้ง่าย

6. สร้างงานและพัฒนาทักษะขั้นสูง

  • อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นแหล่งงานสำคัญสำหรับผู้เชี่ยวชาญในสายงานเทคโนโลยี เช่น วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นโอกาสให้รัฐบาลและเอกชนร่วมมือพัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมแรงงานทักษะสูง

7. ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

  • EV ต้องการเซมิคอนดักเตอร์มากถึง 2-3 เท่าของรถยนต์ทั่วไป โดยเฉพาะในระบบควบคุมแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า
  • ความต้องการ EV ที่เพิ่มขึ้นช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยเติบโต

การขยับตัวของไทยในด้านเซมิคอนดักเตอร์

ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เริ่มตื่นตัวในด้านเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ตั้งแต่การที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้สนับสนุนโครงการมูลค่าสูงอย่างการร่วมทุนระหว่าง ฮานา และ ปตท. ในการตั้งโรงงานผลิตชิปซิลิคอนคาร์ไบด์แห่งแรกของไทยที่จังหวัดลำพูน ด้วยเม็ดเงินลงทุนเฟสแรกกว่า 11,500 ล้านบาท โรงงานนี้มีกำหนดเริ่มผลิตในปี 2570 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูล และระบบกักเก็บพลังงานในอนาคต ถือเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดเทคโนโลยีระดับโลก

อีกหนึ่งการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือการเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ในเดือนตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดตัวหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มเปิดสอนปีการศึกษา 2568 ในสถาบันชั้นนำอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมตั้งเป้าผลิตวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี เพื่อเติมเต็มความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโต

และล่าสุดในเดือนธันวาคม 2024 BOI อนุมัติการลงทุนมูลค่า 10,500 ล้านบาท จากกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือ Foxconn ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก เพื่อสร้างโรงงาน 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โรงงานนี้นับเป็นแห่งที่ 4 ของ Foxsemicon ต่อจากจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ

โรงงานจะจ้างบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน ผลิตอุปกรณ์ความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ คาดสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 25% ในระยะเริ่มต้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

โครงการนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ตอกย้ำศักยภาพของไทยในฐานะฐานการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง นายนฤตม์ระบุว่าก่อนหน้านี้ บริษัทชั้นนำอย่าง Analog Devices และ Hana ก็ได้เริ่มลงทุนในไทยในด้านการออกแบบ IC การทดสอบ Wafer และการผลิตชิปต้นน้ำแล้ว

ด้วยการตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไทยพร้อมเดินหน้ากำหนดโรดแมป พัฒนาบุคลากร และเสริมสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อยกระดับประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์การแพทย์

อ้างอิง: pwc, scbeic

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

พลิกโฉมการจัดการโรคด้วย AI เปลี่ยนการรักษาสู่การป้องกันเชิงรุก

AI กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการโรค ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรักษาอีกต่อไป แต่ยังครอบคลุมไปถึงการตรวจหาโรคตั้งแ...

Responsive image

Translucia ใช้ Generative AI อย่างไร ให้ผู้คนมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี

ชวนดูแนวทางที่ Translucia บุกเบิกการใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มความสามารถให้ AI Agent เรียกว่า ‘Empathetic AI’ ที่เข้าใจและใส่ใจความรู้สึกของผู้ใช้ ทั้งยังโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ใน Metaver...

Responsive image

อนาคตของ AI ใครจะเป็นผู้นำ? สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่ง แต่ชาติอื่นกำลังเร่งไล่ตาม

การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วย AI ทำให้การแข่งขันเพื่อความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้กำลังทวีความเข้มข้นขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาในขณะนี้กำลังครองตำแหน่งผู้นำอย่างโดดเด่น แ...