Agritech ถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยคู่สามีภรรยา กฤชและศศิริน นฤสิงห์สำราญผู้สร้างกิจการค้าปุ๋ย “สิงห์ยิ้ม” ซึ่งเกิดแรงบันดาลใจเมื่อครั้งพบกับความยากแค้นของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จึงนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมมันเต๋า ที่ช่วยให้หลุดกับดักขายผลิตผลได้ในราคาต่ำ ตั้งเป้าสร้างกลุ่ม Contract Farming จำนวน 300,000 ไร่ เพื่อปั้นผลผลิตให้ถึง 20,000 ตัน/เดือน ที่เสริมศักยกภาพด้วยการพัฒนา Digital Farming Platform และให้บริการ Robotics Machine ผ่านบริษัทในเครือที่กำลังตามมาด้วย Uber for Tractor ในอนาคต
วงจร pain point ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่ไร้อำนาจการต่อรองในยามที่บรรทุกผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดไปขาย ด้วยเพราะมันสำปะหลังสดมีอายุเก็บรักษาสั้นที่อย่างมากได้เพียง 3 วันเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่รีบขายแล้วปล่อยไว้ก็เน่าเสีย ดังนั้นแม้จะไม่ได้ราคาที่ต้องการก็จำเป็นต้องยอมขาย
ขณะที่แม้จะทำเป็น “มันเส้น” (Chip) ส่งลานมันเพื่อตากแดดให้แห้ง แล้วค่อยรอไว้ขายยามราคาขึ้น ก็จะติดปัญหาใช้เวลาตากนานถึง 4-5 วัน และต้องกังวลเรื่องฝนตก จึงไม่สามารถตากมันได้ตลอดเวลาทุกฤดูกาล รวมถึงตัวเกษตรกรเองต้องการเงินสดไม่สามารถรอเงินจากการทำมันเส้นตากลานได้
ด้วยความเชื่อที่ว่าต้องพัฒนาให้สินค้าการเกษตรมีปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น ควบคู่กับที่ต้องต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมได้ จึงจะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นวงจรดังกล่าวได้
ทำให้คู่สามีภรรยาผู้ผันตัวจากวิชาชีพพนักงานประจำและแม่พิมพ์ของชาติ มาริเริ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก่อนจะมาหาโอกาสใหม่ในธุรกิจค้าปุ๋ยอินทรีย์แบรนด์ “สิงห์ยิ้ม” ภายใต้บริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัดที่จังหวัดระยอง เกิดแนวคิดว่าจะต้องหาทางออกด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยให้ pain point ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังคลี่คลายลง
จนเมื่อปี 2554 กฤชจึงเริ่มนำวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ร่ำเรียนผสมผสานกับประสบการณ์ในฐานะวิศวกรเครื่องในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อนนี้ มาประยุกต์ใช้เพื่อวิจัยและพัฒนา จนนำไปสู่การประดิษฐ์เครื่องจักรแปรรูปมันเส้นที่กว่าจะประสบผลสำเร็จได้นั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกแล้วล้มเหลวมาหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงทุ่มเงินทุนไปหลายสิบล้านบาท กระทั่งสามารถผลิตมันเส้นสะอาดชนิดเต๋า (เรียกย่อ ๆ ว่ามันเต๋า) ได้ในที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้มันเต๋าที่บริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร ฯ พัฒนาขึ้นนั้นมีแก่นหลักสำคัญอยู่ตรงนวัตกรรมเครื่องจักรอบมันสำปะหลังที่มีกระบวนการให้มันสำปะหลังสด คลายความชื้นออกมาในปริมาณเหมาะสม พร้อมกับคงโครงสร้างของมันสำปะหลังไว้ได้เหมือนเดิม ทำให้ยืดอายุเก็บรักษาได้นานนับปี และสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ ต่อไปได้เหมาะสม เช่น สารให้ความหวาน ไซรัป ผงชูรส กรดมะนาว อาหารสัตว์ แอลกอฮอล์ ฯลฯ และอุตสาหกรรมเพื่อโลกอนาคต เช่น ส่วนผสมในไบโอพลาสติก เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด และเครื่องสำอาง เป็นต้น
สำหรับกระบวนการผลิตนั้น เริ่มตั้งแต่ นำมันสำปะหลังสดมาล้างขัดผิวนอกออก จากนั้นจึงนำมันสำปะหลังมาหั่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ คล้าย “ลูกเต๋า” ซึ่งการหั่นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมนั้น มีประโยชน์ช่วยให้ผิวสัมผัสแต่ละก้อนไม่ติดแนบชิดติดกัน เวลานำไปเข้าตู้อบ จะไม่ติดกันเป็นก้อนเดียว ซึ่งขั้นตอนการอบแห้ง ต้องทำถึง 3 ครั้ง สุดท้ายจะได้ออกมาเป็นมันสำปะหลังรูปทรงสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “มันเต๋า” สีขาวสะอาด โดยตลอดทุกขั้นตอนเครื่องจักรทำงานอัตโนมัติต่อเนื่อง ใช้เวลารวมเพียง 90 นาที
“จุดที่ทำให้สำเร็จเกิดจากความลงตัวของสองอย่าง หนึ่ง คือ ตัวมันสำปะหลัง ที่ต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งอยู่ที่ 25-30% ซึ่งเกิดขึ้นได้จากแนวทางด้าน Agritech ที่มาช่วยควบคุมปัจจัยต่าง ๆ อย่างที่สอง คือ เครื่องจักร ที่ผ่านสร้างจากกระบวนการทางวิศวกรรมในการถ่ายเทความร้อนให้มันสามารถคายความชื้นออกมา”
โดยกฤชเปิดเผยว่าเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเป็นอันดับแรกของประเทศไทยที่ได้รับการจดสิทธิบัตร และนำมาใช้จริงเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานแรกอยู่ที่อำเภอแปลงยาว ฉะเชิงเทรา
โดยมันเต๋ามีคุณสมบัติเด่น ตรงค่าแป้งสูงถึง 70-75% มากกว่ามันลาน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 65-67% ส่วนความชื้นอยู่ระดับ 13-15% ต่ำกว่ามันลาน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15-17% และมีการปนเปื้อนเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น ในขณะที่มันลานอยู่ที่ประมาณ 3-5% ที่สำคัญ มันเต๋าเก็บรักษาได้นานนับปี และผลิตได้ตลอดทั้งปี
ก้าวต่อไป ในเชิงธุรกิจที่วางไว้ บริษัท สิงห์ยิ้มฯ จะทำหน้าที่เชื่อมโยงเกษตรอุตสาหกรรมมันสำปะหลังอบแห้งครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะนี้กำลังเชิญชวนเกษตรกรมาเป็นเครือข่าย (Contract Farming) ทำหน้าที่เป็นผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่รวมไปถึง 300,000 ไร่ ภายในปีนี้ ด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ตามคำแนะนำของบริษัทฯ
จากนั้นจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด 100% ให้ราคาตามเปอร์เซ็นต์แป้งและประกาศราคาตลาด ตามด้วยกลางน้ำ นำเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นมันเต๋าเพื่อเพิ่มมูลค่า และปลายน้ำคือเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เข้ามารับซื้อมันเต๋าถึงโรงงานผลิต
โดยกฤช ตั้งเป้าที่จะสร้างผลผลิตมันเต๋าภายใต้กลุ่ม Contract Farming และพันธมิตรที่มีความพร้อมด้านกำลังเงินจะมาร่วมลงทุนเพิ่มในอนาคต ให้อยู่ที่ราว 20,000 ตัน/เดือน (ตามยอดสั่งซื้อที่ลูกค้าต้องการในปัจจุบัน) ภายในปีนี้
แนวคิดด้าน Agritech และ Knowledge Management ที่กฤชสั่งสมมาระหว่างเข้าสู่เส้นทางเกษตรกรถูกนำมาพัฒนาต่อโดย ภาณุพล นฤสิงห์สำราญ ผู้เป็นลูกชาย จนเกิดเป็น Digital Farming Platform (ชื่อทางการค้าว่า Digital Farming Thailand) ที่พัฒนาและดำเนินกิจการเมื่อปีที่ผ่านมาโดย บริษัทอะกรินโน่ เทค แอนด์เซอร์วิสเซส จำกัดที่ร่วมหุ้นกับบมจ. อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย (สนับสนุนเทคโนโลยี Cloud Computing) โดยวางแผนจะนำบริการ Digital Farming Platform ไปเสนอขายให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่เป็น Contract Farming ของบริษัทต่อไป
การทำงานของ Digital Farming Platform ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ Smart Sensing & Monitoring Smart Control และ Smart Analysis & Planning และใช้ AI ของ Watson เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ให้เกิดความแม่นยำ
โดยเริ่มจากการแสกนพื้นที่เพาะปลูกก่อนว่าที่ดินมีคุณสมบัติเช่นไร เช่น ค่าความชื้น ปริมาณแร่ธาตุ เป็นต้น แล้วระบบจะวิเคราะห์ต่อว่าควรปลูกพืชประเภทใดด้วยพื้นที่เท่าไรจึงจะเหมาะสม รวมถึงเมื่อดำเนินการแล้วก็จะมีการตรวจสอบผ่านเรื่องมือทั้งหมด โดยเกษตรกรจำเป็นต้องบันทึกและเก็บข้อมูลเข้าไปในระบบด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะอยู่บนระบบ Cloud Computing จึงสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้ตลอดด้วย IoT
ทั้งนี้ประโยชน์หลัก ๆ ที่จะเกิดขึ้นคือช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานของคน เป็นการทำเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับแนวทาง Smart Farming มีความแม่นยำจากที่สามารถคาดการณ์และติดตามผลได้ และมีการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบ Big Data
กฤชเล่าถึงการนำ Digital Farming Platform ไปใช้เพื่อสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรว่า ต้องออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลที่ผู้ใช้จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมและต้องฝึกฝนให้เกิดการจดจำอัตโนมัติ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ชื่นชอบนัก เพราะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน จึงเป็นบทบาทของบริษัทที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความแตกต่างและประโยชน์ที่จะได้รับ เมื่อนำนวัตกรรมไปใช้
อย่างไรก็ตามในระยะต่อไป จากพื้นฐานของ Digital Farming Platform ยังสามารถต่อยอดสู่การให้บริการ Uber for Tractor หรือเป็นการเรียกใช้บริการรถแทรกเตอร์ (Tractor) ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงผ่านระบบอออนไลน์
เนื่องด้วยเหตุผลที่การใช้งาน หรือ Heavy equipment ที่ต้องเดินทางในระยะไกลจะทำให้เกิดการสึกหรอมากขึ้นและมีต้นทุนค่าสึกหรอสูงมาก จึงจำเป็นต้องมี solution มาช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรได้สะดวกสบายขึ้น ขณะที่เจ้าของ Tractor ไม่ลำบากและยังมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันจาก pain point ที่ขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรเมื่อครั้งที่กฤชเริ่มขยายการเพาะปลูกไร่มันสำปะหลัง จึงต้องทางออกด้วย Agritech ในรูปแบบ Robotics Machine หรือการใช้เครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคนโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลร่วมด้วย จนเกิดเป็นบริการที่เรียกว่า Zen Lion (ภายใต้การบริหารของ Robot Machinery Co. Ltd. )
กฤชเล่าถึงการทำงานของ Robotics Machine โดย Zen Lion เพิ่มเติมว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องจักรเดิมที่ช่วยเกษตรกรในเรื่องการไถ หว่านปุ๋ย และหว่านเมล็ดพันธุ์ได้อยู่แล้ว แต่ทำให้ฉลาดขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ IoT ได้ และปรับปรุงให้มีรูปแบบการทำงานที่กระชับขึ้นกว่าเดิม
สำหรับประโยชน์หลัก ๆ ที่ได้รับจากการใช้ Robotics Machine นอกจากลดการพึ่งพาแรงงานคนแล้ว ยังช่วยในเรื่องการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลด้านการเพาะปลูก ช่วยสร้างประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ตลอดจนสนับสนุนต่อยอดสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมได้ด้วย
“เราทดลองนำ Robotics Machine มาใช้แล้วแต่ยังไม่ได้ commercialize ในรูปแบบของการขายเป็นบริการให้แก่เกษตรกร ซึ่งต้องรอองค์ประกอบเรื่องการขยาย Contract Farming ที่จะมีพื้นที่รวมราว 300,000 ไร่ และความพร้อมของโรงงานผลิตมันเต๋ามารองรับก่อน”
กฤชยังฝากทิ้งท้ายถึงการที่เกษตรกรไทยจะปรับตัวสู่การเป็น Smart Farmer ได้นั้น ว่า อันดับแรกต้องเริ่มจากปรับ mindset แบบการเกษตรดั้งเดิมมาเป็นเกษตรสมัยใหม่ โดยส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่าอาชีพการเกษตรจะต้องเป็นคนเก่าแก่ที่ทำได้ดีกว่าคนสมัยใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วคือทุกวันนี้เทคโนโลยีสามารถแก้ไขในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ลดส่วนสูญเสีย เพิ่ม productivity และเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น
ที่สำคัญคือเมื่อก่อนเกษตรกรรมจะเป็นไปตามฤดูกาล แต่ทุกวันนี้เป็นการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม ไม่อย่างนั้นเกษตรกรของไทยอาจจะต้องสูญเสียโอกาสให้ประเทศอื่น ที่เริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเริ่มใช้มากขึ้นแล้ว
เกษตรดั้งเดิมคือทำแบบตามมีตามเกิด ถ้าไม่ได้ก็เรียกร้องจากรัฐบาล จึงไม่ยั่งยืน แต่ที่เราทำคือสามารถคาดการณ์ผลล่วงหน้าและต่อรองกับโรงงานอุตสาหกรรมได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด