AI love you เป็นไปได้ไหมที่ปัญญาประดิษฐ์จะตกหลุมรักมนุษย์ ? | Techsauce

AI love you เป็นไปได้ไหมที่ปัญญาประดิษฐ์จะตกหลุมรักมนุษย์ ?

วันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลแล้ว คุณคิดว่าปัญญาประดิษฐ์ จะตกหลุมรักเราได้ไหม? 

AI love you เป็นไปได้ไหมที่ปัญญาประดิษฐ์จะตกหลุมรักมนุษย์ ? 

Ai_love_you

จริงอยู่ที่ปัจจุบันนั้น A.I มีความฉลาดก้าวล้ำไปมาก A.I ทำงานหลายอย่างได้มีประสิทธิภาพ และฉลาดกว่ามนุษย์เสียอีกในบางมิติ อย่างไรก็ตามหากเราพูดถึงความสามารถในการรับรู้ ควบคุม และสามารถประเมินอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้าง ที่เรียกว่า ความฉลาดทางอารมณ์ คุณสมบัติหนึ่งของความเป็นมนุษย์ A.I จะสามารถเรียนรู้และทำตามได้หรือไม่

เพราะฉะนั้น ก่อนจะไขคำตอบว่าปัญญาประดิษฐ์จะตกหลุมรักเราได้ไหม คงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจระบบและกลไกการแสดงอารมณ์ของมนุษย์ก่อน

อารมณ์ของมนุษย์เกิดจากอะไร 

เหมือนที่เขาว่า ‘จิตมนุษย์นี้ไซร้ อยากแท้หยั่งถึง’

อารมณ์ (Emotion) เป็นสภาวะทางจิตวิทยาที่มีความสลับซับซ้อน เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติโดยเราไม่รู้ตัว เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกและภายในร่างกาย

อารมณ์นั้นเกิดจากการเชื่อมต่อกันระหว่างระบบประสาทในสมอง ในสมองของเราจะมีระบบที่เรียกว่า ระบบลิมบิค (Limbic System)  มีหน้าที่ตอบสนองทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเรา ซึ่งระบบลิมบิคนั้นประกอบไปด้วยการเชื่อมต่อกันของหลายส่วน ได้แก่

  • ไฮโปทาลามัส  ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองทางอารมณ์ การตอบสนองทางเพศ การหลั่งฮอร์โมน และการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย 

  • ฮิปโปแคมปัส   มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการเรียนรู้ และความทรงจำ 

  • อมิกดาลา  ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ เช่น ความกลัว ความก้าวร้าว 

แล้วทำไมมนุษย์จะต้องมีอารมณ์?  คำตอบคือ เพราะอารมณ์ช่วยให้มนุษย์อยู่รอด

อารมณ์ช่วยกระตุ้นให้เกิดการกระทำ, ช่วยเราเอาชีวิตรอดหรือหลีกหนีจากอันตราย, ช่วยเราตัดสินใจ, ช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่น และสุดท้ายคือช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจเรา

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัดขึ้นดีกว่า  สมมติเราเดินอยู่บนถนน เหลือบตามองไปเห็นวัตถุสีออกเขียว  สมองเราจะสั่งการให้เรากระโดดหลบ หรือหยุดเดินทันที เพราะเราคิดว่ามันคือ ‘งู’ ทั้งที่จริงแล้วมันอาจเป็นเพียงเศษกิ่งไม้ที่หล่นอยู่ แต่สัญชาตญาณของเรามันสั่งให้กลัว

เช้าวันหนึ่ง เราหยิบนมออกมาจากตู้เย็น เปิดฝาขวดออกแล้วยกดื่ม ในขณะที่มันกำลังอยู่ในคอ เราสัมผัสได้ถึงกลิ่นเปรี้ยว และบ้วนมันออกมาทันทีโดยอัตโนมัติ

นี่คือเหตุผลว่าทำไมอารมณ์จำเป็นสำหรับมนุษย์ อารมณ์ช่วยกระตุ้นให้เราตอบสนองต่อสิ่งเร้าบางอย่างได้ทันที  การหยุดนิ่งเมื่อเจออันตราย ต่อสู้เพื่อแย่งชิง หรือคายบางอย่างออกทันที เมื่อสัมผัสได้ว่าสิ่งที่กินเข้าไปอันตราย

แล้วเราจะสอนให้ A.I มีอารมณ์เหมือนเราได้ไหม 

แม้เราจะสามารถสอน A.I ให้จัดการกับข้อมูลจำนวนมาก บังคับเครื่องจักร หรือชนะเกมหมากรุกได้ แต่การศึกษาและเลียนแบบสภาพทางอารมณ์ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสมองของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกทั้งสมองมนุษย์ยังมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนั้น สมองมนุษย์มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน ประกอบด้วยการเชื่อมต่อกันของเซลล์เป็นพันล้านเซลล์ ในขณะที่ปัจจุบันเรามีการพัฒนาสมองกล (Artificial Neural Network) ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถคัดลอกรูปแบบของสมองมนุษย์ได้ ทั้งโครงสร้าง และประสิทธิภาพ ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องความเสถียรอีกด้วย

สมองกล คืออะไร

ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้เรายังห่างไกลกับการพัฒนาสมองกลที่จะคัดลอกการทำงานของสมองมนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตอันใกล้นี้เราสามารถสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจำลองการทำงานของสมองมนุษย์ได้จริง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีอารมณ์และความรู้สึกเป็นของตัวเอง

เพราะนอกจากการทำงานของระบบต่างๆ ในสมองแล้ว  ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้น คือความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและภายในของเรา

โลกภายนอกนั้นเรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส  ส่วนภายในร่างกายนั้นก็เป็นไปอย่างอัตโนมัติเพื่อรักษาสมดุลในร่างกายไว้ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่ซับซ้อนยิ่งกว่าคือ การรับรู้

เรากลัวงูเพราะเรารู้ว่ามันคือสัตว์มีพิษ เราคายของเสียเพราะเรารู้ว่ามันอันตราย เรารับรู้สิ่งเหล่านี้ได้ผ่านประสาทสัมผัส และประสบการณ์ชีวิตของเรา ยิ่งทำให้มันเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ปัญญาประดิษฐ์รับรู้ได้ถึงประสบการณ์เหล่านี้

โลกภายนอกของ Chatbot ก็เป็นเพียงข้อความที่มนุษย์ป้อนให้ สิ่งเร้าของระบบจดจำใบหน้า มีเพียงภาพวิดิโอ ไม่มีทางเทียบกับสิ่งเร้าที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์รับรู้ได้

การจะสร้าง A.I ที่แสดงความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์ ไม่เพียงแต่จะต้องสร้างสมองกลที่มีระบบการทำงานใกล้เคียงกับสมองมนุษย์มากที่สุดเท่านั้น เราจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาระบบประสาทสัมผัส ร่างกาย ระบบการรับรู้และยิ่งไปกว่านั้นคือ ประสบการณ์ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาและออกแบบหุ่นยนต์ที่มีเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูง

Emotion AI ปัญญาประดิษฐ์ที่พยายามจะเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์ 

แม้จะยังไม่สามารถสร้าง A.I ที่แสดงความรู้สึกเหมือนมนุษย์ได้ แต่ปัจจุบันเรามี Emotion AI หรือ Affective Computing รูปแบบหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ได้ !

มันสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตอบสนองอารมณ์มนุษย์ ผ่านการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นข้อความในแชต, น้ำเสียง, หรือการวิเคราะห์สีหน้า ภาษากาย และท่าทางมนุษย์ จากภาพนิ่งหรือวิดิโอ เพื่อช่วยให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น

นับเป็นโอกาสสำคัญของภาคธุรกิจที่จะใช้เจ้า A.I นี้อ่านใจและวิเคราะห์อารมณ์ของลูกค้า เพื่อปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นด้านการตลาด การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ และอีกมากมาย

จะดีแค่ไหนหากเรารู้ว่าลูกค้ามีอารมณ์และความรู้สึกยังไงกับสินค้าตัวใหม่ของเรา การบริการของฝ่ายขาย หรือความรู้สึกของผู้บริโภคต่อแคมเปญการตลาดที่เราปล่อยไป หรือคอลเซนเตอร์อัจฉริยะที่โต้ตอบกับเราได้เหมือนมนุษย์

Ai chatbot

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะบอกว่า การที่ Emotion A.I สามารถวัด และเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของเราได้ แปลว่าพวกมันมีความฉลาดทางอารมณ์ เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่เช่นกัน เพราะผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่า สิ่งที่ A.I พยายามแสดงว่าเข้าใจนั้น เป็นการเข้าใจอย่างถ่องแท้หรือไม่ 

ขนาดมนุษย์เราเอง ยังไม่เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้างได้ตลอดเวลา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ก็ซับซ้อน ยังมีทั้งเรื่องความแตกต่างทางประสบการณ์ วัฒนธรรม เชื้อชาติ ทัศนคติมาเกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้ ทั้งนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และด้านประสาทวิทยา ต่างลงความเห็นตรงกันว่า A.I. นั้นไม่สามารถมีอารมณ์ของตัวเองได้ ทำได้เพียงเลียนแบบ เช่น แสดงความเห็นอกเห็นใจ 

ยกตัวอย่างการใช้ Synthetic Speech หรือระบบการแปลงข้อความเป็นเสียง ที่ทำให้เสียงของ A.I ดูสมจริงคล้ายมนุษย์มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกได้ถึงความเป็นมิตรที่ส่งออกมา

นอกจากนั้น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์อารมณ์มนุษย์ ก็ยังมีข้อถกเถียงกันมากมาย เช่น เรื่องกฎหมาย ความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และอคติของผู้ที่โปรแกรมมันด้วย อย่าลืมว่า A.I นั้นฉลาดได้ด้วยการโปรแกรมของมนุษย์ 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจ มาจากข้อกังวลของ Erik Brynjolfsson อาจารย์จาก MIT Sloan ในบทความ ‘Emotion AI, explained’ โดย Erik กล่าวถึง A.I ที่ถูกฝึกให้จดจำอารมณ์จากใบหน้าของคนผิวขาว อาจจะมีปัญหาในการวิเคราะห์อารมณ์ของชาวแอฟริกันอเมริกัน นอกจากนั้นยังมีเรื่องท่าทาง ภาษากาย และน้ำเสียง ที่ความหมายแปรผันไปตามวัฒนธรรมได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการใช้ Emotion A.I ในธุรกิจ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ

ปัจจุบันเรายังห่างไกลกับการสร้างปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถจำลองทุกสิ่งที่มนุษย์ทำได้ โดยเฉพาะการแสดงอารมณ์หรือความรัก ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่แยกมนุษย์กับเครื่องจักรออกจากกัน

แต่นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะต้องลบข้อจำกัดดังกล่าว และสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดได้สักวันหนึ่ง 

สิ่งที่น่ากลัวคือความฉลาดทางอารมณ์นี่แหละ มันคือสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถลอกเลียนแบบมนุษย์ได้ มันเป็นคุณสมบัติ ทักษะสำคัญ และทรัพย์สินที่มนุษย์เท่านั้นที่มี หากวันหนึ่ง A.I สามารถมีความฉลาดทางอารมณ์ได้จริง ความกลัวที่ว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์ อาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ 

Sources : humintell, emotionalai, business.blogthinkbig, bitbrain

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...