ถอดบทเรียน 'เงินติดล้อ' กับเบื้องหลังองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Agile | Techsauce

ถอดบทเรียน 'เงินติดล้อ' กับเบื้องหลังองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Agile

  • ถึงแม้จะเป็นบริษัทที่มีภาพลักษณ์ติดดินในสายตาคนทั่วไป แต่เงินติดล้อถือเป็นองค์กรที่มีความทันสมัยสูง โดยเฉพาะการใช้รูปแบบการทำงานแบบ Agile ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในบรรดา Tech Company
  • เงินติดล้อให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรมากๆ โดยพยายามเปลี่ยนจาก Organization แบบดั้งเดิม เป็น Culture Company เพื่อให้พนักงานทุกคนมองภาพเดียวกัน
  • ขณะที่ทุกธุรกิจเพิ่งพูดถึงการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะความเร็ว แต่ธุรกิจสินเชื่อจำนำรถมีความเร็วเป็นปัจจัยพื้นฐานมานานแล้ว รูปแบบ Agile จึงสอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจของเงินติดล้อ
  • การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการกับข้อมูลมหาศาล ในขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นในการใช้คนแก้ปัญหาในเรื่องที่เทคโนโลยีไม่เก่งเท่า คือตัวอย่างของการเปิดรับการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด
  • ในขณะที่กระแสในฝั่งของธนาคารกำลังทยอยปิดสาขา แต่ธุรกิจสินเชื่อจำนำรถกลับมีการขยายสาขาย่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลจากรูปแบบการบริการ และพฤติกรรมของลูกค้าที่แตกต่างกัน
  • แต่ถึงอย่างไรพฤติกรรมลูกค้าที่เริ่มผูกพันกับสมาร์ทโฟนก็ทำให้เงินติดล้อต้องคิดเรื่องการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

เงินติดล้อ ธุรกิจให้บริการด้านสินเชื่อจำนำทะเบียนรถซึ่งหลายๆ คนอาจจะติดภาพลักษณ์จากโฆษณาที่มีความเป็นแบรนด์บ้านๆ ให้ความรู้สึกถึงความติดดิน แต่ใครจะเชื่อว่าจริงๆ แล้วเงินติดล้อมีรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจ มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัย ไปจนถึงบรรยากาศออฟฟิศที่ใส่ใจออกแบบเอื้อต่อการทำงานของพนักงาน เรียกได้ว่าแทบไม่ต่างจากบริษัท Tech ชั้นนำอย่าง LINE หรือ Google เลยทีเดียว

Techsauce ได้มีโอกาสเยี่ยมออฟฟิศใหม่ของเงินติดล้อในย่านอารีย์ พร้อมไขวิธีคิดและรูปแบบการทำงานแบบ Agile ที่จะนำพาบริษัทให้เติบโตอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดย Agile เป็นแนวคิดของการทำงานที่เป็นที่นิยมในบริษัทยุคใหม่โดยเฉพาะพวก Tech Company บทความนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่าที่เงินติดล้อนั้นมีการใช้ Agile กันอย่างไร

สัมภาษณ์พิเศษคุณเบอร์นาร์ด โช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่าย IT, การตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด

แนวคิดของธุรกิจเงินติดล้อเกิดขึ้นจากที่ใด

เงินติดล้อทำธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และเป็น Broker ประกันวินาศภัย ลูกค้าของเงินติดล้อ จะเป็นกลุ่มคนที่รายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างธนาคารได้ เพราะไม่มีสลิปเงินเดือน หรือไม่ได้ฝากเงินที่ธนาคาร ทำให้ไม่มี statement ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้ลูกค้ามาหาเราคือถ้าเขามีปัญหาเรื่องการเงิน เขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้หลายๆ คนก็จำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบ สุดท้ายก็อาจจะทำให้เขาแย่กว่าเดิม เพราะดอกเบี้ยสูง บางครั้งก็ถูกเอาเปรียบ

เขามีทางออกและทางเลือกที่ดีกว่านี้ เพราะที่เงินติดล้อ เราเชื่อว่าเขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส อาจจะมีบางคนมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเงินติดล้อว่าเอาเปรียบด้วยการเก็บดอกเบี้ย จริงๆแล้วไม่ใช่แบบนั้น เพราะ บริการของเราเป็นทั้งธรรมและโปร่งใส และยังมีเจตนา ที่อยากให้ลูกค้าพ้นจากปัญหาของเขาอย่าง เราเชื่อว่าการช่วยลูกค้ากับการทำให้บริษัทเติบโตและมีกำไรสามารถทำไปพร้อมกันได้ เรามีสโลแกนว่า “ชีวิตหมุนต่อได้” เราอยากประกาศให้ทุกคนรู้ว่าบริษัทของเรามีเป้าหมายที่จะช่วยให้ลูกค้าที่เข้ามาหาเราให้พ้นจากหนี้นอกระบบ

เห็นว่าเงินติดล้อได้มีการนำแนวคิดการทำงานแบบ Agile มาใช้ อยากให้ช่วยอธิบายรายละเอียดว่าเอามาใช้แบบไหนบ้าง

ช่วงก่อนหน้า 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครพูดถึง Agile กันมากขนาดนี้ แต่มันเริ่มมาจากอยู่ดีๆ ทุกธนาคารทุกบริษัทบอกว่าต้องมี Digital Transformation ต้องทำให้เร็ว เพราะพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป เขาใช้มือถือในการซื้อของและทำธุรกรรมทางการเงิน แต่สำหรับเราความเร็วมาจากลูกค้าที่เขามีความจำเป็นต้องใช้เงิน เพราะอาจจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เกิดอุบัติเหตุ ต้องใช้เงินรักษาพยาบาล หรือ ต้องจ่ายค่าเทอมลูก เพราะฉะนั้นเรื่องความเร็วจึงอยู่ใน core service offering ของเราตั้งแต่ต้น เพราะเรารู้ว่าความเร็วเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับลูกค้า ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ก็มีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ มีช่วงหนึ่งที่เราเพิ่ม product มากขึ้น ทำให้ process ของเราอาจจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ ซึ่งเขาอาจจะใช้เวลาขอสินเชื่อเร็วกว่าเรา เมื่อเรารู้แบบนี้แล้วก็อยู่เฉยไม่ได้ก็ต้อง re-process และระบบทั้งหมด จากนั้นก็เปิดตัว product ใหม่ สำหรับรถจักรยานยนต์ลูกค้าสามารถจอดรถและขอภายใน 10 นาที จากเดิมใช้เวลา 30 นาที หรือสำหรับรถยนต์ก็ประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็สามารถได้เงินกลับบ้านได้

แต่การ re-engineering ครั้งนี้ใช้เวลานานมาก เพราะเราต้องศึกษา เคลียร์ระบบและ process อย่างน้อย 6-9 เดือน ในขณะที่ Facebook หรือ Application สามารถ update ทุก 2 สัปดาห์ได้แล้วทำไมเราต้องใช้เวลาถึง 6-9 เดือน เราก็เริ่มศึกษาว่า Facebook, Uber เขาทำกันอย่างไร

ด้วยความที่เราชอบอ่านหนังสือก็ไปเจอหนังสือ Scrum: The Art of Doing Twice the Work in Half the Time อ่านจบแล้วก็ใช่เลย กรณีของเขาคือทำระบบที่ใหญ่มากอยู่ในอเมริกาของภาครัฐที่โปรเจคล่าช้า แต่เขาสามารถทำให้เปิดตัวได้ภายใน 1 ปี อ่านจบแล้วเราก็อยากได้แบบนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยให้ MD อ่าน และหลังจากที่ MD อ่านจบ เราตัดสินใจส่งทีมไปที่สิงคโปร์ เพื่อไป certified scrum และกลับมาลองทำจริงที่นี่ ซึ่ง เราก็ลองผิดลองถูก และถ่ายทอดความรู้จากน้อง ๆ ให้ผู้บริหารของเรา พอได้ลองทำกัน และเริ่มเห็นผล ทุกคนก็พอใจ

แต่สูตรลับของเราที่ทุกคนสงสัย คือทำได้อย่างไร

Agile พูดง่าย แต่ทำยาก และตัวเร่งที่ยิ่งใหญ่กว่า การทำ project แบบ agile คือ culture transformation ที่ก่อนหน้านี้เราพูดถึงว่าเรามีเจตนาที่จะช่วยลูกค้า ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่กำไร ฟังดูแล้วโลกสวยมาก แต่ถ้าเราไม่สนใจที่จะทำให้พนักงานของเราที่มีกว่า 4,000 คนสามารถช่วยลูกค้าตามเจตนารมย์ของเรา สุดท้ายลูกค้าเห็นในโฆษณาแล้วดีมาก แต่เมื่อไปที่สาขากลับไปเจอกับคนที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่ได้มีเป้าหมายตรงกันก็ได้รับการบริการที่ไม่ดี ฉะนั้นสิ่งที่เราให้สัญญาไว้กับลูกค้าก็เป็นแค่โฆษณา

“ถ้าเราจัดการองค์กรที่ใหญ่ขนาดนี้ เราจำเป็นต้องมีอะไรสักอย่างที่ไม่ได้เขียนอยู่ในกฎ แล้วก็ไปควบคุมเขาเท่านั้น เราต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขามองเห็นเป็นภาพเดียวกันได้โดยไม่ต้องไปบังคับ”  

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราเปลี่ยน เงินติดล้อ ให้เป็น culture company โดยเริ่มจากการส่งคนไปที่ Zappos และเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มา implement ทันที ซึ่ง Zappos เขามี core value อยู่ประมาณ 7-8 ข้อ เราดูแล้วว่าของเราก็น่าจะต้องมี แต่ไม่ใช่หยิบของเค้ามาใช้เลย เพราะ core value ต้องมาจากภายใน เราอยู่ในธุรกิจสินเชื่อมา 30 ปี และพนักงานส่วนหนึ่งอยู่กับเรามาตั้งแต่เราเป็นเพียงแค่ไฟแนนซ์ท้องถิ่น ซึ่งการถอดรหัสวิธีการทำงาน และความเชื่อของเราออกมาเป็น ค่านิยม 7 ข้อของเงินติดล้อ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังที่ช่วยผลักดัน agile ในองค์กรเกิดขึ้นได้จริง แถมทุกคนก็สนุกกับมัน

1. Sustainable impact by creating opportunities เราเป็นบริษัทที่อยากสร้างโอกาสให้ทั้งลูกค้า และพนักงาน แต่โอกาสที่สร้างขึ้นมาต้องยั่งยืน ตาม tagline “ชีวิตหมุนต่อได้” อย่างเราให้เงินลูกค้าไป แต่เขาไม่มีความรู้ในการจัดการเรื่องเงิน สุดท้ายเขาก็อาจจะมีปัญหาอีกครั้ง เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่า Financial Inclusion ต้องมาพร้อมกับ Financial Education เราสอนพนักงานของเราให้มีความรู้ก่อน เพราะพนักงานสาขาของเราก็มาจากชุมชนแถวนั้น ซึ่งเรามีพนักงานที่เป็นอาสาสมัคร 300 กว่าคน ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้า และชุมชนของตัวเองมีความรู้เรื่องหนี้และเรื่องการบริหารการเงินอย่างเข้าใจจริง

2. Sense of ownership: เงินติดล้อเคยเป็นบริษัทที่เล็กกว่าปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เราเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถระดับแนวหน้าของเมืองไทย แต่เราใช้เงินของบริษัท หรืองบประมาณที่ได้รับมาอย่างระมัดระวัง เหมือนเป็นเงินของเราเอง เราวัดผลของทุกการใช้จ่าย และลงทุนเหมือนเป็น start-up ยกตัวอย่าง เราต้องการลองใช้โปรแกรมอะไรบ้างอย่างเพื่อทดลองความเป็นไปได้ บางครั้งเราเริ่มที่โปรแกรมที่ให้ใช้แบบฟรี เมื่อลองแล้วดี และทำได้จริง เราค่อยต่อยอด และลงทุนจริงจัง เพราะเราวางแผนการใช้เงินและทีมงานแบบเป็นธุรกิจของตัวเราเอง เท่านั้นไม่พอ เรายังตัดตอน process ที่ไม่จำเป็น และไม่มีประโยชน์ออกไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่จัดการกันเองได้ในทีมคนทำงาน ไปจนถึงเรื่องที่ต้องเอาระบบเข้ามาจัดการ

3. Candid Teamwork หลายๆ บริษัทจำเป็นต้องมีทีม ไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่คำถามคือวัดอย่างไรว่าบริษัทไหน teamwork ดีหรือไม่ดี เราไป zappos หลายครั้งก็ถามว่าทำไมพนักงานเขารักกันขนาดนั้น เขาทำอย่างไร ซึ่งเค้ามีโครงการ “Who is Who” ซึ่งเป็นการหา influencer ขององค์กร เพื่อปั้นพวกเขาเหล่านั้นให้เป็นทีมที่ช่วยการกระจายข้อมูลให้ทั้งเพื่อน ๆ ในองค์กรทราบอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเก็บ feedback คำแนะนำ และปัญหาต่าง ๆ กลับมาที่ทีมงานที่ดูแลทางนี้โดยตรงเช่นกัน โดยโครงการนี้เอาเทคโนโลยีมาช่วยนิดหน่อย เพื่อสามารถ visualize ความสัมพันธ์พนักงานได้แบบเป็น node เลยทีเดียว

เราเชื่อว่า teamwork จำเป็นต้องเริ่มจาก “ความสัมพันธ์” ก่อนจะย้ายออฟฟิศมาที่นี่ เราก็ไปดูที่อื่น เช่น Google หรือที่ไหนที่เราเห็นว่าเป็น best practice ที่มี open space แล้วก็กลับมาออกแบบ สิ่งที่เราเห็นคือคนในออฟฟิศ 1,000 กว่าคน ทุกชั้นมีบันไดให้ไปกลับแผนกอื่นได้ง่าย และมี open area และแต่ละที่เราก็เปิดให้พนักงานตกแต่งเอง เขาอยากทำแบบไหนก็มีการประกวด หลายคนชอบในสิ่งที่เขาทำ เขาก็อยากจะใช้พื้นที่ๆ เขาตกแต่ง ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่จำกัดอยู่แค่โต๊ะตัวเอง และใครจะนั่งที่ไหนก็ได้ เพราะทั้งออฟฟิศทุกชั้นมี wi-fi ทุกจุด

สำหรับสาขา เราก็พยายามสร้างความใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารกับสาขา โดยต้องไปเยี่ยมแต่ละพื้นที่อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง และเวลาเราคุยงานกัน น้อง ๆ ที่สาขาก็จะเรียกพวกเรา หรือ MD ว่า พี่หนุ่ม ซึ่งมันทำให้การสื่อสาร และแชร์ปัญหากันทำได้เหมือนพี่น้องปรึกษางานกัน

4. Serve with integrity, informality, and authenticity เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะลูกค้าไว้ใจเรา เพราะฉะนั้นเราต้องทำทุกอย่างอย่างซื่อสัตย์ และเมื่อเรามีความซื่อสัตย์ต่อกัน เราก็จะรู้สึกเชื่อใจกัน เมื่อเชื่อใจกัน เราจะกล้าแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา ซึ่งเราพยายามทำให้ไม่เป็นทางการมากที่สุด เพื่อที่จะให้ทุกคนรู้สึกว่าการแสดงความคิดเห็นทำได้แบบสบายๆ สิ่งที่เราทำอาจจะแตกต่างจากองค์กรใหญ่ที่ผู้บริหารจะอยู่ข้างบน มีโปรเจคก็เรียกประชุมตามตาราง แต่เราไม่ใช่ เราไม่คิดว่าใครมีตำแหน่งอะไร เราจะช่วยกันทำ เราลงไปที่สาขาเพื่อให้ได้ feedback ในการเปิดตัว product ใหม่ ถ้าถูกหรือผิดก็จะไปแก้ product ทันที

5. Thirst for wisdom and self-development เราสนับสนุนให้คนของเรากระหายการเรียนรู้ เราสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือ และพวกเรากันเอง ก็จะแชร์กันว่า หนังสือเล่มไหนดีผ่าน Facebook ชาวเงินติดล้อ หรือ line บอกต่อกัน รวมไปถึงการส่งพนักงานไปเรียนรู้เพิ่มเติมที่ต่างประเทศเป็นเวลาเกือบเดือน โดยต้องกลับมาแชร์ และ implement สิ่งที่เขาเรียนรู้ เพื่อทำให้ เงินติดล้อ ช่วยเหลือลูกค้าได้ดีกว่าเดิม

6. Experiment to lead change อันนี้ ยกตัวอย่าง agile ได้เลย เราส่งคนไปเทรน และให้คนที่ไปเทรนเรื่อง agile กลับมาเทรนเราอีกครั้ง เพราะถ้าผู้บริหารไม่เชื่อ เราจะไม่มีวันทำสำเร็จ เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเข้า workshop แบบคล้ายๆ กับที่น้อง ๆ ไป certified ที่สิงคโปร์ ต้องแบ่งงานเป็น sprint ต้องสร้าง model ขึ้นมา เราเห็นชัดเจนว่าก่อนหน้านั้นใช้เวลาเยอะมากแต่สร้างได้นิดเดียว แต่หลังจากที่ทุกคนเข้าใจ เราสามารถวางแผนสร้างของได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็น experiment ของ agile

7. Work smart, Party hard พนักงานที่เข้ามาใหม่บอกว่าที่นี่ที่ทำงานหรือปาร์ตี้ เพราะเราจะมีปาร์ตี้เกือบทุกอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ และบางครั้งเราจะจัดใหญ่แบบงานวัดเลย

Work smart: เราอยู่ในธุรกิจที่เป็นไฟแนนซ์ ผมเข้ามาในกรุงศรี เคยทำงานในสาย risk management ผู้บริหารของเราส่วนใหญ่มาจากธนาคารใหญ่ๆ ที่ต้องใช้ข้อมูลเยอะ ฉะนั้นธุรกิจของเราใช้ดิจิทัลค่อนข้างเยอะ ทุกอย่างที่เราทำ เรามีเครื่องมือ และเทคโนโลยี มาช่วยทำให้เราดู performance ของทุกอย่างได้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นผลของมีเดีย คู่แข่ง ยอดขายที่สาขา หรือช่องทางออนไลน์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เรารู้ลึก รู้จริงในทุกสิ่งที่เราตัดสินใจทำ

ทำไมขณะที่ธนาคารกำลังพากันปิดสาขา แต่กลุ่ม Financial inclusion กลับเพิ่มสาขา

ส่วนมากลูกค้าของธนาคารจะอยู่ที่กรุงเทพ หรือหัวเมือง เพราะธนาคารต้องรับฝากเงิน และปล่อยกู้ รวมถึงต้องมีตู้ ATM ซึ่งลงทุนสูงมาก เพราะฉะนั้นเขาต้องลงอยู่ที่หัวเมือง ซึ่งทุกวันนี้คนใช้มือถือกัน ถ้าคนไม่อยากไปที่ธนาคาร สิ่งที่เขาลงทุนไปก็จะสูญเปล่า จึงจำเป็นต้องลดจำนวนสาขา

ตรงข้ามกับเราคือเราไม่จำเป็นต้องรับฝากเงิน เราปล่อยกู้เท่านั้น ซึ่งเราจะเห็น Demand ของลูกค้าว่าอยู่ที่ไหนก็จะเปิดสาขาที่นั้นก่อน ในต่างจังหวัดเขายังไม่ติดดิจิทัลขนาดนั้น โดยเฉพาะคนที่เขาเดือดร้อนเรื่องเงิน เขามีความกังวลใจ และอยากหาใครสักคนที่เชื่อใจได้ เพราะฉะนั้นยังมีความจำเป็นที่จะเปิดสาขา ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดสาขาของเราไม่จำเป็นต้องลงทุนเท่าธนาคาร ถามว่าเราไม่ต้องลงทุนเรื่องดิจิทัลใช่ไหม? ก็ไม่ใช่ ตั้งแต่มีการแจกมือถือที่รองรับ 3G เห็นได้ชัดว่าลูกค้าเราจากที่ไม่ค่อยใช้สมาร์ทโฟน กลายเป็นว่าเขาเริ่มใช้สมาร์ทโฟนดู Youtube, เล่น Facebook และแชทไลน์กับเพื่อน ๆ ซึ่งตอนนี้ สิ่งที่เราทำคือ ขยายสาขา และวางแผนเตรียม platform เพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้าเช่นกัน

ทำไมต้องทำ scrum

เราเตรียมพร้อมว่าสักวันหนึ่ง module ของเรา อาจจะไม่ใช่มีเพียงแค่แบบเปิดสาขาอีกต่อไป เราจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มดีๆ มาคอยสนับสนุน และเชื่อมต่อบริการทั้งสาขา และออนไลน์ให้ต่อกัน ในธุรกิจของเรามีการใช้เทคโนโลยีในหลายส่วน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีความสามารถพัฒนาระบบของเราภายในไม่กี่อาทิตย์ เช่น 1 ทีม Scrum ของเรา ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่อาทิตย์ในการสร้าง Mobile Application ขึ้นมาเพื่อ

ติดตามทุกช่องทางตั้งแต่ลูกค้าเข้ามา ขอข้อมูลเพิ่มเติม  กรอกเอกสาร ตรวจสอบและรออนุมัติ โดยข้อมูลที่ได้มาก็เป็น dashboard ง่ายๆ ไม่ได้สวยงามมาก แต่เต็มไปด้วยข้อมูลที่สำคัญที่ผู้บริหารต้องดู เพื่อให้สามารถจัดการสาขาทั้งหมด 800 กว่าสาขาให้ถึงเป้าในระหว่างเดือนได้

นอกจากนั้น เรายังทำ dashboard ให้พนักงานสาขารู้เลยว่าในหลายสิ่งอย่างที่ต้องทำ และดูแล อะไรควรทำก่อนหลัง และทำอย่างไร เพื่อให้เค้าคิดให้น้อยที่สุด ซึ่งเรามีระบบที่แสดงทุกอย่างที่ต้องดูในหน้าเดียวให้เขาดูว่าขายเท่าไรจึงจะถึงเป้าที่ตั้งไว้ เป็นต้น

ถ้าองค์กรใหญ่ๆ ที่มีพนักงานเป็นหมื่นคน อยากทำแบบเรา เริ่มต้นคือต้องดู culture ของตัวเองและความคิดหรือ mindset ของผู้บริหารว่าเข้าใจ และต้องการ agile จริง ๆ หรือไม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้เกิด agile ในองค์กรได้จริง

มีวิธีการคัดเลือกคนที่มีลักษณะแบบไหนเข้ามาร่วมทีม

บริษัทของเรามองทั้งความสามารถของคนและค่านิยมที่ตรงกับเรา ซึ่งอยู่ในทั้งแผนก IT และแผนกอื่นๆด้วย เช่น เพื่อดูว่าเขามีใจที่จะช่วยเหลือลูกค้าของเราหรือไม่ เราจะดูว่าเขาสนใจเรื่องราวของคนรอบข้างของเขาที่อาจจะมีรายได้น้อยหรือไม่

จากนั้นเพื่อดูว่าเขามีค่านิยมของความเป็น candid team work หรือไม่ เราก็ชวนคุยและถามเขาเพื่อดูทัศนคติ ถ้าเขามี profile ดูดีทุกอย่างแต่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่คิดจะช่วยเหลือใครเลย เราก็ไม่ต้องการ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำถามของการคัดเลือก เราใส่ใจในรายละเอียดของการจ้างพนักงานมาก ทำให้เรามีคำถามเพื่อแนะแนวให้หัวหน้าแต่ละคน และคนที่ต้องสัมภาษณ์พนักงานใหม่ เพื่อดูว่าคนๆนั้นมีค่านิยมที่ตรงกับเราจริงๆ

หาคนที่ “ใช่” มาร่วมงานได้อย่างไร

จริงๆ เรื่องนี้ก็ถือเป็นความท้าทายของเราเหมือนกัน เริ่มต้นเรามีโฆษณาที่ดูบ้านๆ ใครหลายคนถ้าจบสูงๆ มาก็ไม่เลือกที่จะมาที่นี่ เพราะเมื่อก่อนออฟฟิศเราอยู่ที่หลักสี่ ซึ่งไกลมากถ้าเทียบกับตอนนี้ หลายๆ คนเห็นที่อยู่ก็ไม่อยากไปแล้ว  เราก็เริ่มเห็นว่าต้องมีสถานที่ดีๆ ในใจกลางเมือง ในตอนนั้นเราก็ประกาศรับสมัคร และมีคนเริ่มเข้ามา ซึ่งหลายคนที่เข้ามาเขาก็เห็นว่าที่นี่ไม่ธรรมดา จากนั้นก็มีคนตามมาสมัครเป็นสิบๆ คน แต่ก็ยังเป็นความท้าทายอยู่ เพราะหลายตำแหน่งก็หายาก เพราะเป็นตำแหน่งใหม่ โดยหลาย ๆ ครั้ง คนที่มาสมัครก็มาจากการบอกต่อกันปากต่อปาก

อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจมา

สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการทำสินเชื่อ ในธุรกิจด้านไฟแนนซ์เราจำเป็นต้องปรับตามกฎเกณฑ์ใหม่ๆ และการแข่งขันที่สูง แต่ agile ช่วยเราได้พอสมควรเพราะถ้าบอกว่าจะมีกฎเกณฑ์ใหม่ออกมาบังคับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ปกติอาจจะใช้เวลา 2-3 เดือน เพราะฉะนั้นเราต้องเร็ว แต่ agile ทำให้เราทำได้เร็วกว่าเดิม และพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐได้ทุกเมื่อ

เรื่องคนก็เช่นกัน เราอยู่ในองค์กรใหญ่ ถ้าเรามี core value ที่แข็งแรง พนักงานจะมีจิตสำนึกของความซื่อสัตย์ได้ด้วยตนเอง และเราเองก็มีรางวัลตอบแทน และบทลงโทษที่ชัดเจน ดังนั้น การสร้าง และรักษา Culture ที่ดีของเราให้คงอยู่ต่อไปในพนักงานทุก ๆ คน ก็เป็นเรื่องท้าทายด้วยเช่นกัน

มุมมองต่อทิศทางของ Financial Inclusion Technology

ในอินโดนีเซียหรือจีนเขาไปไกลมากเรื่อง Financial Inclusion Technology และในประเทศที่ Infrastructure ที่ยังไม่ค่อยดี เช่น ปากีสถาน แอฟริกา เราจะเห็นว่าทำไมจากที่เขาไม่มีอะไรเลย กระโดดไปที่ mobile phone เลย เพราะเขาเริ่มช้ากว่า และเกิดมาในช่วงที่เทคโนโลยีมีความพร้อม สำหรับประเทศเรา เรามี Banking Infrastructure ที่ดีตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น แนวทางพัฒนาของ Financial Inclusion Technology ก็อาจจะแตกต่างกับประเทศเหล่านี้ก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือ ทั้ง Bank, Non-Bank หรือ Financial Technology ต่างๆ เข้าใจ Pain Point ของคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้อย่างชัดเจน

ให้พวกเขาได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย และต้นทุนต่ำ เพื่อนำ Technology เข้ามาแก้ปัญหา ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น โดยทั้งนี้ทั้งนั้น เรายังต้องดูความพร้อมของ Infrastructure และ ecosystem ในประเทศด้วยเช่นกัน

บรรยากาศออฟฟิศของ เงินติดล้อ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...

Responsive image

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Key Messages เกี่ยวกับ Sustainability & ESG จากงานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ในโครงการ KATALYST by KBank โดย Beacon VC...