หนึ่งวันในเซินเจิ้น: เมื่อลองใช้ Mobile Payment ทั้งวันโดยไม่จับเงินสดเลย | Techsauce

หนึ่งวันในเซินเจิ้น: เมื่อลองใช้ Mobile Payment ทั้งวันโดยไม่จับเงินสดเลย

South China Morning Post สื่อจีนได้ทดลองใช้หนึ่งวันเต็มๆ ในเมืองเซินเจิ้น โดยไม่ใช้เงินสดในการซื้อของเลย เพื่อทดสอบระบบไร้เงินสดของประเทศ โดยพ่วงบัญชีธนาคารและ ID เข้ากับสมาร์ทโฟน ผ่าน WeChat Pay และ Alipay ท่องเที่ยวไปทั่วเมือง ทั้งขึ้นแท็กซี่ ซื้อของในตลาด ทานอาหารในร้านอาหาร หรือแม้แต่ซื้อกระดาษทิชชู่ในห้องน้ำ

เมื่อผู้คนและร้านค้าต่างหันมาใช้สมาร์ทโฟนในการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้ไอเดียสังคมไร้เงินสดยิ่งดูเป็นที่สนใจมากขึ้นทุกที เรามาดูกันว่าจริงๆ แล้วระบบ mobile payments นั้นเป็นยังไงในชีวิตจริง

เตรียมพร้อมสำหรับการใช้ E-Wallets

ก่อนหน้าที่จะสามารถใช้ e-wallets ของ WeChat Pay หรือ Alipay ได้นั้น ผู้ใช้จะต้องมีบัญชีธนาคารของประเทศจีนและ เพื่อความปลอดภัย รัฐบาลจีนบังคับให้ต้องใช้ชื่อจริงในการลงทะเบียนและต้อง verify กับ official ID ก่อนจะสามารถเชื่อมต่อได้

การทดลองเริ่มต้นเมื่อซื้อ SIM card มือถือที่มี data สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในราคา 200 หยวน หรือประมาณ 1000 บาท และนั่นก็ถือเป็นครั้งสุดท้ายของวันที่จะใช้เงินสดในการจ่ายเงิน

ใช้ชีวิตด้วย Mobile Payment

ผู้เขียนทดลองขึ้นแท็กซี่ในระยะทางสั้นๆ ดูเป็นอย่างแรก เมื่อเดินทางไปถึงที่หมาย คนขับจอดรถและหันมาถามว่าต้องการจะจ่ายผ่าน Alipay หรือ WeChat Pay จากนั้นโชว์ QR code บนมือถือให้แสกน และใส่ราคาที่ต้องจ่าย ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

จากนั้นจึงเดินหน้าไปยัง Dong Men Ding Plaza สถานที่ช้อปปิ้งที่เต็มไปด้วยรถเข็น street food ที่ขายทั้ง ปีกไก่ยัดไส้ อาหารเสียบไม้ปิ้งย่าง กั้งต้ม หรือปู ปลา สถานที่ที่เคยรับแต่เงินสดในการซื้อขาย แต่วันนี้ทุกร้านต่างมี QR code แปะไว้บนเคาน์เตอร์ หรือบนผนัง บางคนก็ห้อยไว้ตรงหน้าอก การซื้อขายเสร็จอย่างง่ายดายบนสมาร์ทโฟน แม้แต่คนขายที่มีอายุก็ยังใช้วิธีนี้เช่นกัน

มุ่งหน้าต่อไปที่ Sun Square ห้างสรรพสินค้าที่มีทั้งร้านขายของชำ ร้านทำผม supermarket ทุกที่ต่างรับการจ่ายเงินผ่านมือถือทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ตู้ขายของอัตโนมัติหรือห้องคาราโอเกะ

เมื่อถึงเวลาอาหารเที่ยง เธอเลือกเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เมื่อเดินเข้าไปก็เจอกับ QR code ที่มุมโต๊ะ หลังจากที่สแกนแล้วจะมีเมนูขึ้นมาให้เราเลือกผ่านมือถือของตัวเอง โดยทุกขั้นตอนตั้งแต่สั่งอาหารไปจนถึงจ่ายเงินก็ทำบนมือถือเพียงเครื่องเดียว ไม่ยุ่งยากวุ่นวายใดใด

สำหรับการคมนาคมในเมืองเซินเจิ้น นอกจากแท็กซี่ที่รับระบบ mobile payment แล้ว ในปีนี้มีรถบัสบางสายที่เริ่มรับแล้วเช่นกัน และถึงแม้ว่าผู้คนยังใช้บัตร TransCard ในการขึ้นรถไฟใต้ดินแต่ก็สามารถใช้แอป Alipay และ WeChat Pay ในการเติมเงินเข้าบัตรได้ รวมถึงบริการให้เช่าหรือแชร์จักรยานต่างๆ ตอนนี้ไม่รับการชำระเงินด้วยเงินสดอีกแล้ว รับเฉพาะการจ่ายผ่านดิจิทัลเท่านั้น

ปัญหาของการใช้ระบบชำระเงินออนไลน์

ผู้เขียนเจอปัญหาบางอย่างในการใช้ระบบ mobile payment เมื่อใช้งานจริง โดยเมื่อไปที่ร้านเกมส์ arcade และกำลังจะซื้อเหรียญเพื่อมาหยอดตู้ มีประกาศไว้ว่าจะได้ส่วนลดเมื่อซื้อผ่าน Alipay แต่เมื่อถึงเวลาแสกน QR code กลับขึ้นแต่ข้อความ error และแม้แต่พนักงานก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขได้ อีกปัญหาที่เจอคือเมื่อต้องการซื้อทิชชู่จากตู้อัตโนมัติในห้องน้ำ กลับไม่มีสัญญานอินเทอร์เน็ตเพราะเป็นจุดอับ ทำให้ไม่สามารถซื้อทิชชู่ได้เพราะรับเพียงแค่การชำระเงินแบบดิจิทัลเท่านั้น

นอกจากนี้ การใช้ระบบ mobile payment ในจีนน่าจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากการบังคับให้ต้องเชื่อมต่อกับธนาคารของจีนเท่านั้น และปัญหานี้จะยิ่งหนักมากขึ้นเมื่อสังคมกลายเป็นสังคมไร้เงินสดแบบเต็มตัว เพราะนั้นหมายความว่า สำหรับนักท่องเที่ยวมันจะยากมากขึ้นในการเดินทาง ทานอาหาร หรือแม้แต่ซื้อของ ยกเว้นจะมีเพื่อนชาวจีนไปด้วยตลอด

แต่สำหรับชาวจีนแล้ว แอปพลิเคชัน Alipay และ WeChat Pay ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง

Yeung Ching-ching ผู้อาศัยในเมืองเซินเจ้นกล่าวว่า “เมื่อก่อนฉันใช้ Alipay เฉพาะเวลาซื้อของบน Taobao เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ ฉันใช้มันตลอดในชีวิตประจำวัน” เธอบอกว่าเธอใช้แอปในการสั่งอาหาร ซื้อตั๋วหนัง จองตั๋วเครื่องบิน แลกเงิน หรือแม้กระทั่งนัดกับหมอที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ Yeung ยังใช้ Sesame Credit ที่เป็นบัตรสะสมแต้มของบริษัทลูก Alibaba ‘Ant Financial’ โดยเธอบอกว่าเธอใช้แอป Alipay เพื่อจะได้แต้มสะสมที่มากกว่า ซึ่งจะทำให้ได้รับส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆ ด้วย

ข้อเสียอีกอย่างที่ผู้ใช้อาจมองข้ามกับของระบบ Mobile Payment คือความปลอดภัยด้านข้อมูล เนื่องจากมีข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหาศาลที่ไม่เพียงแต่ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการใช้เงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบันทึกที่อยู่ ข้อมูลการเงิน และแม้แต่ประวัติการรักษาพยาบาล ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการอธิบายว่า จะมีการเก็บข้อมูลไว้นานเท่าไหร่ หรือข้อมูลต่างๆ จะถูกแชร์ไปยังบุคคลอื่นหรือไม่ อย่างไรก็ตามตัวแทนของ Ant Financial ได้กล่าวว่า “เราจะไม่แชร์ข้อมูลให้กับผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม”

แต่ผู้ใช้หลายคนกลับรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตามที่ Yeung ให้ความเห็นว่า “Alipay ก็เพียงเก็บ big data เหมือนกับที่แอปพลิเคชันฟังเพลงเก็บข้อมูลของเราเพื่อแนะนำ playlists แบบที่เราชอบ ฉันไม่คิดว่าเขาจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปทำอย่างอื่น เช่นเดียวกันกับพวกธนาคารที่มักจะเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคเอาไว้มากมาย”

สาเหตุที่ทำให้สังคมไร้เงินสดของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อปีที่ผ่านมา มีการจ่ายเงินผ่าน Alipay และ WeChat Pay ถึง 38 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5.76 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยเม็ดเงินมหาศาลทำให้รัฐบาลจีนสั่งทำแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์เพื่อทำธุรกรรมใหม่ทั้งหมด ผ่านสถาบันการเงินแห่งใหม่ภายใต้ธนาคารกลาง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนจมอยู่กับปัญหาการปลอมแปลงธนบัตร ซึ่งการชำระเงินผ่านมือถือได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมการใช้ Mobile Payment ยังไม่ต้องจ่ายค่า Service Charge ที่ปกติจะต้องจ่ายเมื่อใช้บัตรเครดิต และมีความสะดวกในการติดตั้งเพื่อดำเนินการ ซึ่งทำให้ผู้ขายรายย่อยสามารถรับชำระเงินผ่านมือถือได้อย่างง่ายดาย

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังระบบชำระเงินออนไลน์อย่าง Tencent และ Alibaba ต่างมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ตอบรับกับเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นอย่างมาก โดยเมื่อปี 2013 WeChat ของ Tencent ได้ปล่อย mobile payment ออกมา และเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคถึงกว่า 355 ล้านคนต่อเดือนในขณะนั้น เพื่อโปรโมท E-wallet ปัจจุบัน WeChat มีผู้ใช้เกือบพันล้านคน และ 90% มาจากเมืองใหญ่ๆ อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้

สำหรับ Alipay เริ่มปล่อยในปี 2004 เพื่อเป็นช่องทางการชำระเงินบน Taobao และมีผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านคนในปี 2015

ในสองสามปีที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัทลงทุนอย่างหนักเพื่อโปรโมทการซื้อขายผ่านดิจิทัล โดยเน้นภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังไม่ต้องการให้ใช้คำว่า ‘ไร้เงินสด’ และบอกว่าเครื่องอัตโนมัติที่ไม่รับเงินสดนั้นผิดกฏหมาย เนื่องจากตอนนี้จีนยังใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินทางการอยู่

ที่มาของภาพและเนื้อหา South China Morning Post

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...