บุกตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross-border eCommerce ตอนที่ 1 | Techsauce

บุกตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross-border eCommerce ตอนที่ 1

ยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดจีนเป็นตลาดที่เนื้อหอม มีแต่คนอยากจีบและสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของขนาดเศรษฐกิจที่มีประชากรมหาศาลและมีกำลังซื้อสูง เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย  หากพูดถึง “ตลาดจีน” อาจจะต้องร่ายยาวเป็นภาคมหากาพย์เลยก็ว่าได้ ดังนั้นเลยจะแบ่งเป็นบทแยกย่อยเพื่อให้ติดตามกันต่อไป  

ก่อนที่จะเจาะลึกเรื่อง การเข้าตลาดจีนด้วยวิธีที่เรียกว่า Cross-border eCommerce (CBEC) หรือ การทำธุรกรรมการค้าข้ามพรมแดนแบบช่องทางออนไลน์ ขอปูพื้นฐานให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Internet และ Digital Landscape ของประเทศจีนกันก่อน

จากภาพประกอบ จะเห็นได้ว่าด้วยจำนวนประชากรของประเทศจีนที่มีสูงถึง 1,420 ล้านคน แต่ทราบหรือไม่ โอกาสของตลาดอีคอมเมิร์ซ ณ ตอนนี้ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถจับต้องได้ ไม่ใช่ตัวเลข 1,420 ล้านคน เพราะจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของประเทศจีน มี 830 ล้านคน (ตัวเลขในปี 2561) อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือ Internet Penetration มีเพียงประมาณ 60% เท่านั้น

ภาพรวม Internet Landscape ของประเทศจีน   

  • จีนถือได้ว่าเป็น Mobile-first country  เพราะ 99% มีพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ 80% เล่น Social Media และอีก 70% ซื้อของออนไลน์และจ่ายเงินผ่านมือถือ (Mobile payment) 

  • ตัวเลขของนักช็อปออนไลน์มีสูงถึง 610 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ  42% ของจำนวนประชากรจีนทั้งหมด และกลุ่มนักช็อปออนไลน์จีนเหล่านี้ก็ได้มอบมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ให้กับโลกกว่าครึ่งนึงเลยทีเดียว ส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซโลกอย่างแท้จริง มูลค่าการซื้อขายปีที่แล้ว (ปี 2561) สูงถึง 1.13 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐ หรือมากกว่า GDP ไทยประมาณ 2.6 เท่า และมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ซื้อของออนไลน์ในจีนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีการเติบโตสูงขึ้นได้อีก 30%-40% ดังนั้นลองจิตนาการดูว่าหากประเทศจีนมี Internet Penetration ที่สูงเทียบเท่าสหรัฐอเมริกา (89%) หรือ เกาหลีใต้ (95.9%) มูลค่าของอีคอมเมิร์ซ จีนจะยิ่งเติบโตขนาดไหน  

  • เมื่อเทียบกับสัดส่วนระหว่าง Online และ Offline ของการซื้อขายปลีกในประเทศจีนจะพบว่า  Online คิดเป็นเพียง 18% ของส่วนแบ่งการตลาดเท่านั้น เรื่องนี้ประเทศจีนแก้ปัญหาด้วยวิธี New Retail (Online-to-Offline: O2O) ซึ่งจะนำเสนอในภาคต่อ ๆ ไป

ผู้ประกอบการไทย สามารถได้อะไรจากโอกาสการเติบโตอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน 

การทำธุรกิจกับประเทศจีน อาจจะแบ่งได้เป็นสองวิธีหลักๆ คือ วิธีนโยบายเชิงรุก และ วิธีนโยบายเชิงรับ สองวิธีนี้จะมีนโยบาย กลยุทธ์ในการคิด เครื่องมือและเกมการเล่นที่แตกต่างกัน นโยบายเชิงรุกในที่นี้ คือการบุกตลาดเข้าไปในประเทศจีน นโยบายเชิงรับคือ การมีฐานธุรกิจที่ไทย แต่จะเป็นการตั้งรับหรือดึงดูดนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวจีนมายังประเทศไทยนั่นเอง 

นโยบายเชิงรุก หรือการบุกเข้าไปยังตลาดจีนแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลักๆ ได้แก่ 

  1. วิธีการค้าปกติ หรือ  Normal Trade ซึ่งก็แบ่งได้ออกเป็นแบบทั้ง Offline และ Online

  2. วิธีแบบ Cross-border eCommerce (CBEC) หรือ วิธีการค้าข้ามพรมแดนแบบออนไลน์เท่านั้น จากภาพประกอบด้านบน จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันตลาด CBEC ในประเทศจีนมีผู้ช็อปออนไลน์แบบ CBEC ประมาณ 150 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนที่มองหาแต่สินค้านำเข้าที่มาจากต่างชาติ ภาษาจีนเรียกว่า 海淘 อ่านว่า ไห่เถา

Normal Trade VS. CBEC Trade 
ความแตกต่างในสองเรื่องนี้สำคัญมาก เนื่องจาก ไม่ใช่ผู้ประกอบการไทยทุกรายเหมาะกับวิธี CBEC แต่อาจจะเหมาะกับวิธี Normal Trade ก็ได้ ดังนั้นก่อนอื่นต้องดูความแตกต่างและข้อจำกัด รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งจะสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ดังนี้

ตั้งแต่วันที่ 1  มกราคม 2563 นี้ ทางรัฐบาลจีนได้ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อเอื้ออำนวยการนำเข้าผ่าน CBEC เป็นอย่างมาก อาทิ 

  1. เรื่องภาษี Cross-border 11.2% จากปีที่ผ่านๆมา ลดลงมาอยู่ที่ 9.1%

  2. โควตาการซื้อของบน CBEC  จากที่ชาวจีนสามารถซื้อได้เพียง 2,000 หยวนต่อคนต่อครั้ง และ 20,000 หยวนต่อคนต่อปี ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5,000 หยวนต่อคนต่อครั้ง และ 26,000 หยวนต่อคนต่อปี

  3. การเพิ่มหมวดหมู่สินค้าอีก 63 รายการ จนปัจจุบันมีรายการสินค้าที่ได้รับอนุญาตนำเข้าผ่าน CBEC รวมทั้งสิ้น 1,321 รายการ

การทำเช่นนี้ก็เพื่อที่จะส่งเสริมพัฒนาการค้าแบบ CBEC และยังเป็นการช่วยเพิ่มการนำเข้าสินค้ากลุ่ม consumer goods ที่มีคุณภาพสูงมาจากต่างประเทศ อีกทั้งก็เพื่อตอบสนองความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้บริโภคชาวจีน  

สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการไทย จะสังเกตได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบในตารางด้านบน การนำเข้าสินค้าผ่านช่องทาง CBEC จะลดความยุ่งยากและลดต้นทุนทางภาษีไปได้มากเลยทีเดียว เนื่องจากภาษีตามกฎเกณฑ์ของ CBEC ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 9.1% แต่หากเป็นสินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยจะอยู่ที่ระหว่าง 17.9%- 28.9% ซึ่งถ้าเทียบกับ Normal Trade ก็ยังถือว่าเสียภาษีที่น้อยกว่ามาก แต่ในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจีนนั้น หากชาวจีนมีการซื้อเกินโควตาก็ไม่สามารถซื้อใน CBEC ได้อีก ต้องรอในปีถัดไป  

ดังนั้นสินค้าที่จะนำเข้ามาขายใน CBEC ไม่เหมาะกับสินค้าที่มีราคาสูงมากจนเกินไป และต้องตรวจสอบว่าสินค้าของผู้ประกอบการไทยอยู่ในรายการที่อนุญาตให้นำเข้าได้หรือไม่  ส่วนสินค้าที่มาขายผ่านช่องทาง CBEC เป็นสินค้าประเภทอะไรบ้าง ผู้บริโภคชาวจีนมองหาอะไรจากการซื้อของผ่าน CBEC และพฤติกรรมผู้บริโภคจีนนั้นเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ในตอนที่ 2 ค่ะ 

ข้อมูลอ้างอิง 

English Website: Statista; Forbes, China Internet Watch, China Daily, Worldwide eCommerce Sales Report, Internet World Stat
Chinese Websites: http://www.gov.cn/xinwen/2018-12/01/content_5344980.html ; www.jd.hk/service/taxrate/html 

ประวัติผู้เขียน

  • พิมพ์ขวัญ อดิเทพสถิตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจีน (Assistant Vice President), China Business Development สายงาน China Business  
  • มีประสบการณ์ทำงานในด้านการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนมากว่า 10 ปี เคยทำงานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่บริษัทพัฒนาซอฟแวร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประสบการณ์ด้าน Start-up ที่มาดริด ประเทศสเปน 
  • เป็นวิทยากรรับเชิญเพื่อพูดในหัวข้อ eCommerce, Social Media และเทรนด์เทคโนโลยีในประเทศจีน อาทิ Money Expo 2019, WeChat Conference และงานเพื่อผู้ประกอบการไทย SMEs เป็นต้น
  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ2) จากคณะศิลปศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท MBA จาก IE Business School กรุงมาดริด ประเทศสเปน
    Website: www.pimkwan.com

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด และไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์หรือทำซ้ำ หากต้องการ กรุณาติดต่อ Techsauce 




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...