CiRA CORE แพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยเข้าใกล้คำว่า'หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง' | Techsauce

CiRA CORE แพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยเข้าใกล้คำว่า'หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง'

‘กับดักรายได้ปานกลาง’ วลีอันตรายที่สะท้อนสภาพสังคมเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาในอนาคตของประเทศไทยไม่น้อย โดยสิ่งหนึ่งที่เป็นกุญแจในการช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปได้ คือ 'เทคโนโลยี' ที่ไม่ใช่เทคโนโลยีนำเข้า หรือรอของต่างชาติมาใช้ เพราะนั่นคือ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง แต่ประเทศไทย ต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันจากภาพลาง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้นจากการที่ประเทศไทยทุ่มเทและทุ่มทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมให้ประเทศไทย และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ไม่น้อย 

รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีทั่วโลก โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่ชาติมหาอำนาจต่างแข่งขันกันเพื่อขึ้นเป็นผู้นำนั้น เป็นเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ซึ่งชาติใดก็ตามที่มีเทคโนโลยีนี้เป็นของตัวเองโดยที่ไม่ต้องใช้บริการจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่มาจากสหรัฐอเมริกา หรือ จีน นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในเชิงการเเข่งขันได้เป็นอย่างยิ่ง

Techsauce ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยจะพามาทำความรู้จักกับโปรเจกต์ CiRA CORE ซึ่งเป็น AI Platform ของสัญชาติไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ที่จะมาพลิกโฉม และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศให้พัฒนา ซึ่งปัจจุบันนี้ CiRA CORE ได้มีการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และมีการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว 

ที่มาของการพัฒนา CiRA CORE

CiRA CORE เป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เกิดจากการความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยย้อนกลับไปก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา Deep Learning ซึ่งเป็นสาขาของ AI เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น และมีความต้องการใช้ในการพัฒนามีเพิ่มมากขึ้นอย่างยิ่งยวด 

ซึ่งถ้าเรามองดูแล้วในตอนนั้นก็มีเพียงแค่แพลตฟอร์มของต่างประเทศเท่านั้นที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็น TensorFlow ของ Google  และ PyTorch ของ Facebook  ที่นิยมใช้งานกันทั่วโลก แต่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น Software ในการพัฒนา Deep Learning  ของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทั้งสิ้น และในอนาคตเราอาจจะหนีขาดจากมันไม่ได้ เหมือนทุกวันนี้ที่แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเราหนีขาดจากระบบปฏิบัติการ Android ไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งโมเดล คือ Core Service ที่เราสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันบนนี้ได้เลย โดยไม่ต้องมานั่งเทรนโมเดลใหม่ แต่ก็ต้องแลกกับการที่เมื่อเราพัฒนาหรือเขียนแอปพลิเคชัน ขาข้างหนึ่งของชิ้นงานเราก็เข้าไปเป็นของเขาแล้ว ดังนั้น ความหนักหนาสาหัสจะอยู่ตรงที่ต่อไป Deep Learning ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่สมาร์ทโฟนแล้ว แต่กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมหลักอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ 

และถ้าประเทศไทยยังต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่คงไม่ดีแน่ ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่า เราได้ขอทุนวิจัยจากภาครัฐบาลมาเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มของคนไทยเอง และให้สามารถที่จะแข่งขันกับนานาชาติได้ด้วย จึงเป็นที่มาของ 3 มหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกันตรงนี้ พัฒนา CiRA CORE ขึ้นมา 

CiRA COREรูปแบบและลักษณะการใช้งานเบื้องต้นของ CiRA CORE

กว่าจะมาเป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย 

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่ Deep Learning ยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเท่าที่ควรนัก จากแนวคิดที่เราต้องการพัฒนา CiRA CORE ขึ้นมา ต้องมีการนำเสนอไอเดียนี้เพื่อระดมทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งต้องบอกว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่ ทำให้ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจจากฝ่ายผู้ให้ทุนสนับสนุน ที่จะเชื่อใจว่าเราจะสามารถ Deliver อะไรบางอย่างที่สามารถนำไปใช้งานจริงออกมาได้ ซึ่งตอนนั้นเราได้รับเงินระดมทุนจากทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 

หลังจากที่นำเสนอไอเดีย และได้รับเงินระดมทุนแล้ว ต่อมาเป็นการพัฒนา สิ่งสำคัญคือ ต้องโฟกัสว่าเราต้องทำแพลตฟอร์มให้ได้ อย่าหลงทำประเด็นอื่น มิเช่นนั้นจะไม่ได้ออกมาตามเป้าหมาย โดยช่วงแรก ๆ ของการพัฒนา CiRA CORE ในเวอร์ชั่นแรก เราได้พัฒนาเป็น รุ่น Python ที่จะต้องเขียนโปรแกรมภาษา Python ลงไป เมื่อนำไปให้บริษัทขนาดใหญ่ใช้ ตรงนี้จะไม่มีปัญหามาก เนื่องจากเขามีวิศวกร มีโปรแกรมเมอร์ที่คอยดูแล แต่เมื่อนำไปให้  SME ใช้ พวกเขาไม่สามารถใช้งานมันได้ เนื่องจาก SME ไม่มีวิศวกรหรือโปรแกรมเมอร์ ที่จะมานั่งเขียนโปรแกรม ดังนั้นจาก Pain Point ตรงนี้ ทำให้เรานำกลับมาพัฒนาใหม่ เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้งานได้เท่าเทียมกัน จึงเกิดเป็น CiRA CORE ในรูปแบบ LEGO ที่ทำให้ใช้งานได้ง่ายมากขึ้น

โดยในช่วงแรกที่พัฒนาเป็นรูปแบบ LEGO เรียบร้อย เราก็ได้นำไปให้หลายหน่วยงานลองใช้งาน
ซึ่งก็ได้รับ Feedback กลับมา แล้วเราก็ค่อย ๆ แก้ไขกันไป เพื่อไม่ให้มี Bug จนทุกวันนี้ CiRA CORE กลายเป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่มีความเสถียร และสามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และตอนนี้อยู่ระหว่างการขยายผลที่จะนำไปใช้งานให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

Case Study ในการใช้ CiRA CORE ยกระดับการทำงาน 

ปัจจุบันมีการนำ CiRA CORE ไปใช้งานหลากหลายมาก ยกตัวอย่างกรณีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ได้นำ AI ไปตรวจสอบคุณภาพของหน้ากากอนามัย โดยในขั้นตอนการผลิตนั้น หากไม่ใช้ AI ในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้คนประมาณ 3-4 คนในการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งการผลิตเป็นจำนวนกว่าล้านชิ้น หากใช้คนตรวจสอบทั้งหมด อาจจะเสี่ยงที่จะเกิด Human Error ได้ และที่สำคัญอาจจะต้องใช้เวลานาน 

กรณีต่อมาเป็นการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างโรงงานปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ ที่ใช้ CiRA CORE ในการช่วยตรวจสอบตำแหน่งของการเติมปูนในรถบรรทุก ที่ช่วยให้คนขับรถบรรทุกสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น 

นอกจากในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีการใช้ตรวจเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ได้อีกด้วย โดย CiRA CORE ได้เข้าไปสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ในการวิเคราะห์สายพันธุกรรมของไวรัสจากตัวอักษรที่ยาวกว่า 3 หมื่นตัว เข้าโปรแกรมแล้วแปลงออกมาเป็นรูปภาพ เพื่อให้สามารถมองภาพรวมแล้วเทียบได้ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใด ภายในเวลาไม่กี่วินาที ความแม่นยำสูงถึง 99% ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย

CiRA COREการนำ CiRA CORE ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

การเพิ่มขีดความสามารถของ CiRA CORE และแผนการพัฒนาในอนาคต 

การพัฒนา CiRA CORE ในปัจจุบันมาถึงจุดที่มีเสถียรภาพมากพอในการนำไป implement ตามความต้องการใช้งานได้ และได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล ที่จะทำให้สามารถเทรน AI ได้เร็วขึ้น โดย CiRA CORE ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ Programming Engine และส่วนที่ติดต่อกับ Hardware ทั้งหลาย ซึ่งจะอยู่ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์พีซี เองก็ตาม เหมือนกับที่เราติดตั้งโปรแกรม แต่สิ่งที่จะต่างกันในแง่ของประสิทธิภาพ คือ Engine ในการคำนวณ

ยกตัวอย่างเช่น หากเรามี Engine แต่ไม่มี GPU มันก็จะสามารถเทรนโมเดลได้ในระดับหนึ่ง เฉพาะใน CPU เท่านั้น แต่ถ้าโมเดลที่เราต้องการเทรนมีความซับซ้อนมากขึ้นอีก เราจำเป็นต้องใช้ GPU มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรน 

ดังนั้นในการเพิ่มประสิทธิภาพให้ CiRA CORE สามารถประมวลผลและทำงานกับโมเดลที่มีความซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น เราจึงได้ติดตั้งเครื่อง NVIDIA DGX A100 ซึ่งเป็น GPU ที่มีการทำงานต่อวินาทีสูงและไวมาก โดยสามารถทำงานได้อยู่ที่ 1 หมื่น petaFLOPS  เปรียบเทียบกับการมีคอมพิวเตอร์พีซี Core I9 (สมรรถนะในการทำงานอยู่ที่ประมาณ 500 gigaFLOPS) ทำงานพร้อมกัน 10,000 เครื่อง

ซึ่งในการติดตั้ง NVIDIA DGX A100  เราได้รับความร่วมมือจาก G-Able ที่เข้ามาช่วยดูแลตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น จนสามารถนำไปใช้งานได้ นอกจากนี้ G-Able ยังช่วยออกแบบระบบโครงข่ายด้วยว่าจะสามารถต่อกับ Storage อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้หลังจากนี้ในการนำ CiRA CORE ไปใช้งานก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบโจทย์ลักษณะการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นด้วย 

สำหรับการต่อยอด CiRA CORE ในอนาคต แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนที่หนึ่ง จะเป็นการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนที่สอง คือ การนำไปใช้เพื่องานวิจัยในมหาวิทยาลัย ส่วนที่สาม คือ การนำไปใช้เพื่อการศึกษาระดับโรงเรียน ที่จะมีการบรรจุไปในหลักสูตรการศึกษาให้กับนักเรียนได้เรียนรู้กันเรื่องการ Coding  และการเทรนโมเดล AI เพื่อนำไปใช้ได้ด้วย 

CiRA CORE เทคโนโลยีที่สะท้อนว่า “การมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จะทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร” 

ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐบาล หรือภาคการศึกษาได้มีการนำ CiRA CORE ไปใช้หลากหลายมาก รวมถึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยแบบที่ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องของ ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน 

ดังนั้นการที่ประเทศไทย มี CiRA CORE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ของคนไทยเอง มีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะการที่เรามีเทคโนโลยีของตัวเองจะเพิ่มความมั่นใจ ทำให้เราไม่ต้องรอกินน้ำใต้ศอกชาติอื่น ๆ กล่าวคือ ต้องรอให้ชาวบ้านพัฒนาเสร็จก่อน แล้วเราถึงจะได้ใช้ โดยที่รอซื้อเพียงอย่างเดียว และกว่าจะมาถึงเรา บางครั้งอาจจะต้องยอมจ่ายราคาแพงเพื่อให้ได้มา ส่งผลให้เกิดความสูญเสียในด้านเศรษฐกิจ 

ตรงนี้ถ้าให้มองมันคือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เราจะสามารถหารายได้โดยที่ไม่ต้องสูญเสียทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น เงิน 1 ล้านบาทที่ได้มาจากการขายแอปพลิเคชัน ตรงนี้มันคือรายได้จากสิ่งที่เราลงทุนสร้างด้วยสมองของเรา ในทางกลับกัน เงิน 1 ล้านบาท เหมือนกัน แต่ได้มาจากการปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด สิ่งที่เสียคือ เราต้องเอาทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ป่าไม้ต่าง ๆ คือเราต้องเอาทรัพยากร และแรงงานเข้าแลก 

อนาคตของประเทศไทยจะเดินหน้าไปข้างหน้าได้ และจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ มันต้องผ่านจุดที่เรียกว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ได้ โดยที่ไม่ต้องแลกทรัพยากรให้ได้เงิน การมีแพลตฟอร์มของตัวเอง อย่าง CiRA CORE ตรงนี้เป็นแค่หนึ่งในตัวอย่างซึ่งต่อไปเราต้องสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ Value Added สูงด้วย Skill และสมอง ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยพัฒนาประเทศไทยทั้งหมด

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถกยุทธศาสตร์ AI ไทย หนทางดึงไทยกลับเวทีโลก ควรเริ่มอย่างไร ?

ค้นพบโอกาสและความท้าทายของ AI ที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทย พร้อมกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลกในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน!...

Responsive image

รัฐบาลเวียดนามขยับ SME ได้เวลาทวงคืนตลาดแฟชั่นจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Shein และ TEMU

รัฐบาลเวียดนามเตรียม "บล็อก" แอปพลิเคชันและโดเมนช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนอย่าง Shein และ Temu ถ้าไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้องก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืน “อุ...

Responsive image

AI ไม่ได้แทนที่คุณ แต่จะช่วยให้คุณ 'ดีกว่าเดิม'

สำรวจแนวคิด "จิตวิทยาไซบอร์ก" ในการออกแบบระบบมนุษย์-AI เพื่อความรุ่งเรืองของมนุษย์ พร้อมบทบาทของ AI ในการพัฒนาไทยให้เป็น “AI Land” จากมุมมอง ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร ในงาน THE STANDARD ...