ปัจจุบันเมื่อมีการกล่าวถึงโลกของการพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้เล่นคนสำคัญคงไม่ได้มีเพียงบริษัทผลิตรถยนต์ หรือบริษัทผลิตชิ้นส่วนเพียงเท่านั้น เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หรือปัจจัยการเลือกซื้อรถของผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน ความสะดวกสบาย หรือความต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในตัวรถยนต์ ก็ส่งผลสำคัญทำให้เมื่อเราพูดถึงการพัฒนายานยนต์ในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องกล่าวถึงนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบกฎหมายและนโยบายภาครัฐ หรือเทคโนโลยีโทรคมนาคมหน้าใหม่อย่าง 5G ด้วย ซึ่งในบทความนี้ จะพาทุกท่านไปเจาะลึกการขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่
ดร. ณรงค์ศักดิ์ รัตนสุวรรณชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดภูมิภาคอาเซียน และ Country Manager ประจำประเทศไทย Continental Automotive Bangkok
คุณวิฑูรย์ เจียมศิริกาญจน์ รองผู้อำนวยการ True 5G Service Innovation
คุณอนันตเดช อินทรวิศิษฏ์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า BMW (Thailand)
คุณศุภชัย สินสุวรรณรักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาคอนเนคเต็ด TOYOTA MOTOR Thailand
คุณอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด, Venture Lead PTT Expresso Innovation Lab
มาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถึงอนาคตของธุรกิจด้าน Mobility ทิศทางการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ และระบบนิเวศที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้ในประเทศไทยและภูมิภาคให้เป็นจริง
ในงาน Shaping The Future of Mobility : ไขกุญแจสู่โลกยานยนต์แห่งอนาคต ด้วยความร่วมมือระหว่าง Continental Automotive ผู้นำเทคโนโลยียานยนต์จากเยอรมันนี และ Techsauce
ดร. ณรงค์ศักดิ์เริ่มต้นด้วยการเล่าถึง Mega Trends ในปัจจุบัน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ในอนาคต โดยสามแกนหลัก ได้แก่
Electric Mobility หรือ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ไม่ว่าจะเป็นชนิด Hybrid หรือ Electric Vehicle
Autonomous Mobility หรือ Automated Driving หรือระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งหลายบริษัทผู้ผลิตจะมีเป้าหมายหลักในการพัฒนารถยนต์ชนิดนี้เพื่อ Vision zero (Zero Accident) ซึ่งก็คือความปลอดภัยของผู้ใช้รถและถนน
Connectivity เช่น Holistic Connectivity ซึ่งเป็นอีกหัวใจสำคัญ หากอนาคตรถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้อย่างอัตโนมัติ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนได้อย่างปลอดภัย คือพัฒนาการสื่อสารและการเชื่อมต่อระหว่างตัวรถยนต์กับรถยนต์ด้วยกันเอง และระหว่างรถยนต์กับโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับคุณวิฑูรย์ ในฐานะตัวแทนจาก True ผู้ให้บริการสัญญาณ 5G ได้พูดถึงบทบาทสำคัญของ True 5G ที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง 5G นั้นเป็นจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่การใช้งานของผู้บริโภคเท่านั้น แต่จะเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต อีกทั้งจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยสามคุณสมบัติหลัก
ความเร็วที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลจำนวนมากถูกส่งไปในเวลาอันสั้น สามารถรองรับ Holistic Connectivity ได้
Latency ที่ต่ำลง ซึ่งเป็นการปฏิวัติคุณสมบัติใหม่ของโลกการสื่อสาร ทำให้การสื่อสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเป็นแบบ Real time ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องความปลอดภัยของการใช้รถยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะใน Autonomus Vehicle ที่รถยนต์ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งคุณวิฑูรย์กล่าวเสริมว่าเสี้ยววินาทีในการตัดสินใจสำคัญมากกับความปลอดภัย เทคโนโลยี 5G จะทำให้ Autonomous Car เกิดขึ้นได้จริง
การรองรับอุปกรณ์สื่อสารได้จำนวนมากในพื้นที่จำกัด ซึ่งจะสนับสนุน Holistic Connectivity ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ในฟากฝั่งของตัวแทนจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ คุณอนันตเดช ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า BMW (Thailand) ได้กล่าวถึงการเดินหน้าของ BMW ตามสามแกนหลัก Mega Trend ของยานยนต์ในอนาคต ว่า ที่ผ่านมา BMW มุ่งมั่นที่จะพัฒนารถยนต์โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นหลัก และปัจจุบันได้พัฒนาให้รถยนต์ของ BMW เป็นระบบ semi autonomous หรือกึ่งอัตโนมัติ เช่นระบบ Driving assistance หรือ Driving assistance professional ที่ BMW ติดตั้งไว้ในรถยนต์รุ่นต่างๆ ทำให้รถยนต์มีระบบช่วยเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ ระบบเบรกอัตโนมัติ และระบบ Active Cruise Control ที่ช่วยให้รถสามารถลดและเพิ่มความเร็วให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรอัตโนมัติ
นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาระบบ Connectivity ให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อรถยนต์กับโทรศัพท์มือถือ สำหรับการล็อครถ การเปิดปิดแอร์ หรือสตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งในจุดนี้คุณอนันตเดชเน้นย้ำว่าการมีเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ที่มีคุณภาพ จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพได้
คุณศุภชัยในฐานะตัวแทนจาก TOYOTA ได้กล่าวถึงทิศทางการเดินหน้าของบริษัท กับการพัฒนายานยนต์ในอนาคตว่า ทาง TOYOTA เองก็จะมีนโยบายจากบริษัทแม่ ในการปฏิรูปตัวเอง ให้เป็น Mobility Company ภายใต้หลักการ CASE ("Connected" cars, "Autonomous / Automated" driving, "Shared", and "Electric") ซึ่ง ทาง TOYOTA MOTOR Thailand จะมุ่งเน้นพัฒนาทั้งสี่ด้านไปพร้อมๆกัน แต่ละด้านจะเร็วหรือช้านั้น คุณศุภชัยกล่าวว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในขององค์กรและปัจจัยภายในประเทศด้วย
โดยคุณศุภชัยกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยตอนนี้ Autonomous Car หรือยานยนต์อัตโนมัติ คงจะต้องให้ผ่านการวิจัยและพัฒนาสักระยะเวลาหนึ่ง และต้องสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยในการใช้งานให้กับลูกค้าให้ได้ก่อน ในส่วนระบบ Connectivity คุณศุภชัยกล่าวว่าภายในสามปีข้างหน้ารถยนต์ของ TOYOTA ทุกคันจะติดตั้งระบบ Telematic Electronic sim ที่ สามารถเก็บพฤติกรรมการใช้รถของลูกค้า ข้อมูลการขับขี่ลูกค้า และเสนอผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น
ส่วนตัวแทนของภาคพลังาน คุณอาวีมาศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด, Venture Lead PTT Expresso Innovation Lab กล่าวว่า บริษัท ปตท. เองก็ต้องการเป็นผู้เล่นสำคัญ ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการพลังงาน และปัจจุบันได้มีการเปิดตัว บริษัท Swap & Go เพื่อให้บริการแพลตฟอร์ม โครงสร้างพื้นฐาน และเครือข่าย Battery Swapping รองรับผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจากกลุ่ม Delivery Service ก่อน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย
เมื่อถามถึงโอกาสในเชิงธุรกิจ ในวันที่มีการ Transform จาก Automotive ไปสู่ Mobility แล้ว ดร.ณรงศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของ Continental มุ่งเน้นการพัฒนารถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ และ Connectivity ซึ่งมี 4 ธุรกิจหลักที่กำลังทำ และมีความเชื่อมั่นว่าจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
Software AI ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของรถยนต์ในอนาคต เพราะรถยนต์จะเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์
Cloud connectivity โดยดร.ณรงศักดิ์กล่าวว่า ในอนาคต Big data มีความจำเป็นกับรถยนต์ เช่นการใช้งาน 3D mapping หรือการอัปเดตซอฟต์แวร์รถยนต์ทางไกล นอกจากนั้นยังต้องรองรับ Infotainment ที่ผู้ใช้สามารถใช้งานแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง อย่าง Youtube หรือ Netflix ผ่าน server ของรถยนต์ได้เลย โดยไม่ต้องพึ่งสมาร์ทโฟน
Smart Infrastructure ในส่วนนี้ ดร.ณรงศักดิ์ย้ำว่าเป็นความท้าทาย ที่จะเปลี่ยน Conventional Infrastructure ให้เป็น Smart Infrastructure และเป็นการลงทุนที่สูงพอสมควร เช่น ระบบการเชื่อมต่อรถยนต์กับสัญญาณไฟจราจร หรือทางม้าลาย ให้รถยนต์สามารถตัดสินใจเองได้
Cyber Security ก็เป็นอีกเรื่องที่ Continental ให้ความสำคัญ เพราะหากตอนนี้รถยนต์เหมือนโทรศัพท์ การมีไวรัสหรือเมื่อระบบขัดข้อง อาจทำให้มีความเสียหาย เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน
สำหรับคุณวิฑูรย์ มองถึงโอกาสที่ธุรกิจโทรคมนาคมจะเข้าไปเป็น Enabler ของการพัฒนายานยนต์ในอนาคต ว่าวันนี้สิ่งที่ธุรกิจโทรคมนาคมอย่าง True เอง ควรทำคือ การเข้าไปสู่ ecosystem ของการพัฒนาในสองบทบาท
บทบาทแรกคือการวางโครงข่ายของ 5G ให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อตอบสนองการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนกับอุปกรณ์ที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การใช้งาน 5G สูงขี้น และบทบาทที่สอง ในฐานะผู้สนับสนุนในการสร้างพื้นฐานของการพัฒนา โดยในปัจจุบัน True 5G พยายามสร้าง ecosystem พัฒนากลุ่ม startup ในหลากหลายอุตสาหกรรม และยังร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ โดยหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อสร้าง Autonomous Car ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
แน่นอนว่าการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมานั้น โจทย์สำคัญหนึ่งของผู้ผลิตจำเป็นต้องคำนึงถึงการยอมรับของผู้บริโภคด้วย เพราะผู้บริโภคถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ซึ่งคุณศุภชัย ได้กล่าวเน้นย้ำปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต ว่าการพัฒนานั้นต้องไม่ลืมที่คำนึงถึงคน หรือผู้ใช้งานเข้าไป การสร้างประสบการณ์ในการขับขี่รูปแบบใหม่ให้กับผู้ใช้งาน ควรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้ใช้งานได้ค่อยๆทำความรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ควรจะให้ผู้ใช้งานทำความเข้าใจกับระบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
โดยนโยบายและแนวทางสำคัญของ TOYOTA นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้หลักการ CASE แล้ว บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้งาน ความสะดวกสบาย และหลักการเรื่อง Sharing ภายใต้กระแส Sharing economy ซึ่งตนมองว่าจะทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย โดยจากพฤติกรรมการซื้อรถของลูกค้า โดยปกติลูกค้าต้องการเป็นเจ้าของรถ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากมาย แต่ภายใต้รูปการซื้อหรือการใช้รถแบบใหม่ ที่มีชื่อว่า KINTO (คินโตะ) หรือรูปแบบการเช่ารถระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามีอิสระในการเลือกใช้รถมากขึ้น และไม่ต้องพะวงถึงค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ TOYOTA คิดค้นขึ้นเพื่อให้ตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคใหม่
เมื่อถามถึงความท้าทายของประเทศไทยในการพัฒนา Autonomous Driving คุณอนันตเดชกล่าวว่ามี 4 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้
นโยบายภาครัฐ ในส่วนของการออกกฎหมายมารองรับการใช้งาน โดยคุณอนันตเดช ยกกรณีศึกษาในต่างประเทศ ว่าหากเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ กฎหมายจะลงโทษผู้ใช้งานหรือบริษัทผู้ผลิต นอกจากนั้น คุณอนันตเดชเสริมว่า จำเป็นต้องมี มาตรการการส่งเสริมจากภาครัฐ เพราะ Autonomous Driving เป็นเทคโนโลยีใหม่ มาพร้อมกับการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ภาครัฐจำเป็นต้องออกนโยบายส่งเสริม เช่น การลดหย่อนภาษี หากต้องการให้มีการใช้งานมากขึ้น
โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ป้ายจราจร ที่จะต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ในปัจจุบันป้ายจราจรของประเทศไทยยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และความชัดเจนของเส้นจราจร ซึ่งหากมีการใช้งานรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ความไม่ชัดเจน อาจจะทำให้ระบบสับสน
เทคโนโลยีในภาคการขนส่ง เช่น ระบบ 5G
การยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาให้ผู้บริโภคต้องค่อยๆ ยอมรับและเรียนรู้
และเช่นเดียวกัน คุณศุภชัย ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญของการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ ว่าผู้ผลิตในทุกประเทศทั่วโลกต้องการพัฒนาระบบนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็วเช่นกัน หากแต่ต้องใช้เวลา และสิ่งสำคัญที่สุด คือการ สร้างเงื่อนไขระบบนิเวศของการใช้งานให้ได้ เสียก่อน โดยคุณศุภชัย ยกตัวอย่างจากบริษัท TOYOTA เอง ที่มีการใช้ Autonomous Vehicle ช่วยสนับสนุนส่วนงานผลิตภายในองค์กรอยู่แล้ว
โดยหากย้อนมองประเทศไทย ถ้าเราสามารถวางเงื่อนไข และสร้างระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยได้หมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพถนน โครงสร้างพื้นฐาน สัญญาณไฟจราจร หรือการออกนโยบายและกฎหมายจากภาครัฐ Autonomous จะเกิดขึ้นได้ แต่แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณศุภชัยยังเน้นย้ำว่า ต้องให้ผู้บริโภคค่อยๆเรียนรู้และปรับตัว ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ TOYOTA เลือกทำ
สำหรับ ดร.ณรงศักดิ์ กับคำถามที่ว่าการสร้างระบบนิเวศในการใช้งาน มีความสำคัญมากน้อยอย่างไรนั้น ดร.ณรงศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างจากการพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ Continental พัฒนาขึ้น โดยเป็นยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ที่มีระบบ Cruising Chauffeur ทำให้รถยนต์สามารถวิ่งขึ้นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ โดยผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องควบคุมพวงมาลัย ซึ่ง ดร.ณรงศักดิ์กล่าวว่า ระบบสัญญาณจราจรต้องชัดเจน
นอกจากนั้น ดร.ณรงศักดิ์ ได้กล่าวถึง Roadmap ของสถาบันยานยนต์ ว่าภายในปี 2030 นั้น ประเทศไทยจะต้องก้าวสู่การใช้งานรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ซึ่งเป็นการใช้งานในพื้่นที่ปิด แต่หากจะมีการใช้งานในถนนสาธารณะนั้น ในฐานะบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน ดร.ณรงศักดิ์ มองว่ายังเป็นไปได้ยาก โดยปัจจุบัน Continental ได้มีการพัฒนาระบบ Motorbike sneaking sensor เพื่อให้รถยนต์สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะหากมีการใช้งานจริงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีจำนวนรถจักรยานยนต์จำนวนมาก และจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ Autonomous Driving เกิดขึ้นจริงได้
ในส่วนของตัวแทนจากภาคธุรกิจโทรคมนาคมคุณวิฑูรย์ ได้เสริมในประเด็นปัจจัยที่จะทำให้เทคโนโลยี V2X หรือ Telematics เกิดขึ้นช้าหรือเร็วในประเทศไทยนั้น ขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นสำคัญ เพราะหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบหลักในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน โดยคุณวิฑูรย์มองว่าตัวเทคโนโลยี สามารถนำเข้ามาใช้ได้ทันที แต่โครงสร้างพื้นฐานจะกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญกว่า
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด