Space, Me and Fellow Women เรื่องราวจากปากนักบินอวกาศหญิงชาวเอเชียคนแรกของโลก Dr. Mukai | Techsauce

Space, Me and Fellow Women เรื่องราวจากปากนักบินอวกาศหญิงชาวเอเชียคนแรกของโลก Dr. Mukai

ถือเป็นโอกาสพิเศษและหายากมากๆ เมื่อสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญนักบินอวกาศหญิงคนแรกของเอเชีย Dr. Chiaki Mukai มาขึ้นพูดที่งาน Women in Limitless "Space" แชร์เรื่องราวชีวิตและความท้าทายในการบินสู่อวกาศถึง 2 ครั้ง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้หญิงยุคใหม่ในการเลือกศึกษาและทำงานในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

อุปสรรคด้านเพศ เชื้อชาติ และภาษาไม่อยู่ในสายตาของ Dr. Mukai การเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการเลือกทำหรือไม่ทำอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่เธอใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อทำงานในสิ่งที่หลงใหลและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมาตลอดชีวิต 

“ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้ ถ้าเรามีความตั้งใจจริง และให้ความสำคัญกับการศึกษา”

Space, Me and Fellow Women

หลังจากเรียนจบหมอจาก Keio University School of Medicine แล้ว Dr. Mukai ก็ได้จบดอกเตอร์ด้านสรีรวิทยา และทำงานเป็นศัลยแพทย์หัวใจที่โรงพยาบาล Keio University 

ในปี 1993 เธอได้รับเลือกโดย National Space Development Agency of Japan (NASDA) หรือปัจจุบันคือ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) เพื่อเป็นนักบินอวกาศ Specialist ด้าน Payload ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้บินสู่อวกาศ 2 ครั้งในปี 1994 และ ปี 1998 

ปัจจุบันเธอเป็น Vice President ของ Tokyo University of Science และสร้างโปรแกรมศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ โดยเธอตั้งใจจะส่งผู้หญิงคนแรกไปเยือนดวงจันทร์ให้ได้ในปี 2024 

ความฝันที่แท้จริง

“มีหลายคนชอบถามฉันว่า ฉันฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่เด็กเลยหรอ? แต่เปล่าเลย ฉันโตขึ้นมาในหมู่บ้านเล็กๆ ในญี่ปุ่น สมัยนั้นยังไม่มีโปรแกรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องอวกาศเท่าไหร่นัก และเรื่องความฝันเกี่ยวกับการบินไปนอกโลกเป็นอะไรที่ไกลตัวมาก

ตอนฉันอายุ 9 ขวบ ปี 1961 Yuri Gagarin นักบินอวกาศคนแรกของโลกได้มองลงมาเห็นโลกเป็นสีฟ้า จากแต่ก่อนที่ไม่เคยมีใครรู้เลยว่าโลกเป็นสีฟ้าเมื่อมองมาจากข้างนอก 

สองปีต่อมา Valentina Tereshkova ก็เป็นผู้หญิงคนแรกที่บินสู่อวกาศในปี 1963 และเมื่อฉันอายุ 17 ปี ยาน Apollo11 พร้อมด้วย Neil Armstrong ได้จอดลงบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก 

โดยส่วนตัวฉันมีความหลงใหลในดวงจันทร์มาก ทุกครั้งที่ฉันมองไปที่ดวงจันทร์ ฉันทึ่งทุกทีที่คิดว่ามีใครบางคนไปยืนอยู่บนนั้นและมองกลับมายังโลก มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จดจำได้ตอนเด็กๆ และอย่างที่บอกว่า ตอนนั้นไม่มีโปรแกรมการสอนเรื่องอวกาศอะไรเลย มันจึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ 

ความฝันของฉัน จริงๆ แล้วคือ การเป็นหมอ เพราะพี่ชายของฉันมีปัญหาเรื่องการเดิน เขาเดินไม่ได้ถ้าไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ ฉันจึงโตขึ้นมาด้วยความคิดว่าอยากช่วยเหลือคนที่ทุกข์ทรมานจากโรคภัยต่างๆ และในที่สุดฉันก็สอบใบอนุญาตได้ตอนอายุ 24 ปี ฉันมีความสุขและทำงานหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยในฐานะศัลยแพทย์หัวใจ”

นักบินอวกาศหญิงคนแรกของเอเชีย

ในปี 1993 รัฐบาลญี่ปุ่นมองหาคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านการศึกษาเพื่อนำความรู้ไปทำงานบนอวกาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันตื่นเต้นมาก เพราะคิดว่าปกติแล้วงานนักบินอวกาศมีไว้สำหรับทหารหรือผู้ชายเท่านั้น

แต่ฉันรู้เลยว่านี่คือเวลาของฉันแล้ว ฉันอยากออกไปเห็นโลกสีฟ้าบ้าง เลยไม่รีรอที่จะสมัครและก็โชคดีมากที่ได้รับเลือก

ในตอนนั้นเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศยังไม่ค่อยมีมากนัก ผู้คนชอบถามว่า การที่ฉันเป็นผู้หญิงทำให้เสียเปรียบอะไรมากบ้างไหม? ฉันเพียงแต่ตอบไปว่า ในเมื่อในใบรับสมัครไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่ารับแต่เพศชายเท่านั้น ฉันก็คิดว่าฉันมีโอกาสเพราะความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับโปรแกรมนี้ได้ 

“ในเมื่อฉันมีความฝันและความรู้เพียบพร้อม จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมัวกังวลแต่กับเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรม ฉันเพียงแค่มุ่งหน้าไปตามฝันของตัวเอง”

ส่วนที่ตื่นเต้นที่สุดคือช่วงเวลาปล่อยตัว ซึ่งเป็นช่วงที่เสี่ยงที่สุด แต่สำหรับฉัน มันคือเวลาที่ทุกคนรอคอยหลังจากที่เตรียมตัวมาเป็นระยะเวลานานมากๆ เสียงนับถอยหลัง 10-9-8-7-6-5 … และเสี้ยววินาทีก่อนปล่อยตัว เครื่องยนต์ติด มีเสียงดังขึ้นมากมาย ถ้าหากมีอะไรขัดข้องพวกเครื่องยนต์ต่างๆ จะดับลงอัตโนมัติ แต่หากไม่มีอะไร มันก็จะนับต่อไป หลังจากที่รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนหนักๆ ยานก็จะค่อยๆ ถูกยกขึ้นจากพื้น

ตอนนั้นฉันรู้สึกดีใจและตื่นเต้นสุดๆ ในที่สุดฉันก็จะได้ไปสู่อวกาศจริงๆ แล้ว

ครั้งแรกที่มองกลับลงมาเห็นโลก ฉันรู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก และในขณะเดียวกันก็ได้เห็นเมืองที่เติบโตขึ้นมา มันสวยมากเกินบรรยาย 

“เมื่อมองลงมา สิ่งที่ฉันประทับใจที่สุด คือ ความสวยงามของธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มันคือหลักฐานที่แสดงว่าเราอาศัยอยู่บนโลก”

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าในการดำรงชีวิต คนเราต้องใช้ทรัพยากรมากมาย ดังนั้นหากคุณต้องการใช้อะไรบางอย่างจากโลก ก็ใช้ไป แต่อย่าใช้มากเกิน เพราะทุกอย่างมันมีจำกัด เราจึงต้องช่วยกันประหยัดเพื่อรักษาโลกให้คนรุ่นต่อไป 

ประสบการณ์ที่หาไม่ได้บนโลก

ที่ทำงานของฉันไม่มีแรงโน้มถ่วงเลย มันเลยมีอะไรหลายอย่างที่ทำได้แตกต่างจากตอนอยู่บนโลก อย่างเช่น ปกติแล้วถ้าเราเอาน้ำกับน้ำมันมาเทรวมกัน น้ำมันก็จะลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำเสมอ แต่เมื่ออยู่ในอวกาศ น้ำมันจะคงตัวอยู่กับที่ ถ้าคุณเทน้ำลงไปเพิ่ม มันจะกลายเป็นชั้นสลับกันไปมาได้ เพราะมันไม่มีน้ำหนัก ซึ่งนี่คือข้อได้เปรียบเวลาที่เราจะสร้างหรือทดลองอะไรสักอย่างบนนั้น 

ตอนที่บินกลับมายังโลก ฉันรับรู้ถึงแรงโน้มถ่วง รู้สึกหนักร่างกายและศรีษะ มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกมาก อย่างที่ไม่เคยรู้สึกเวลาอยู่บนโลก 

พลังของการศึกษา

ด้วยประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้ฉันเชื่อในพลังของการศึกษา เพราะการศึกษาทำให้ฉันได้เป็นหมอและนักบินอวกาศ 

ตอนนี้ฉันมีความฝันที่สาม นั่นก็คือ การทำงานด้านการศึกษา ฉันจึงมาเป็น Vice President ที่มหาวิทยาลัย Tokyo University of Science ที่มีนักเรียนกว่า 20,000 คน รวมนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมีวิชาที่สอนหลักๆ คือ วิชาฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ และ การบริหาร ด้วยความเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ 

ตั้งแต่ที่ฉันเริ่มงานที่มหาวิทยาลัย เราก็ได้สร้าง ‘Research Center’ ศึกษาเรื่องอาณานิคมอวกาศ และเรื่องของการดำรงชีวิตบนอวกาศ ด้วยการใช้พลังงาน น้ำ อากาศ และ อาหาร เราศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงทีมออกแบบระบบและอุปกรณ์ที่สามารถนำขึ้นไปใช้นอกโลกได้ด้วย

สิ่งพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานด้านอวกาศ ก็คือการทำงานร่วมกันและเรื่องของ Diversity ดังนั้นเราจึงวางโปรแกรมให้นักศึกษาเข้าใจความหลากหลายและทำกิจกรรมด้วยความเข้าใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

เราให้นักศึกษาทดลองเข้าไปอยู่บนเครื่องบินและทดสอบสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงประมาณ 30 วินาที ที่ International space station เพื่อทำความเข้าใจว่านักบินอวกาศต้องทำงานในสภาวะเช่นไร  

ล่าสุดมหาวิทยาลัยของเราได้เซ็น MOU กับ The Asian Institute of Technology ประจำประเทศไทยเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษาอวกาศระหว่างประเทศ 

Women in Space

ปัจจุบันมีผู้หญิงที่เป็นนักบินอวกาศประมาณ 64 คนจากทั่วโลก โดยผู้หญิงคนแรกคือ Valentina Tereshkova ที่บินออกนอกโลกด้วยภารกิจเดี่ยวบนยาน Vostok 6 เมื่อปี 1963 

หลังจากนั้นมีผู้หญิงมากมายที่ทำงานและอุทิศตนให้กับการเป็นนักบินอวกาศ โดยคนที่มีชื่อเสียง เช่น Sally Kristen Ride ได้ทำงานกับ NASA ตั้งแต่ปี 1978 นับเป็นผู้หญิงชาวอเมริกันคนแรกที่บินสู่อวกาศในปี 1983

Eileen Collins คือผู้หญิงคนแรกที่เป็นนักบินและผู้บัญชาการประจำยานอวกาศ นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ทำงานในหน้าที่อื่นๆ เช่น Science office หรือ Educator 

ปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างองค์กร NASA, ESA, JAXA และ CSA จัดโปรแกรมภายใต้ชื่อ Artemis ซึ่งเป็นชื่อเทพน้องสาวฝาแฝดของ Apollo โดยโปรแกรมนี้ตั้งเป้าส่งผู้หญิงคนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2024 ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของเป้าหมายระยะยาวเพื่อสร้างฐานบนดวงจันทร์และส่งมนุษย์ไปดาวอังคารต่อๆ ไป 

Dr. Mukai กล่าวปิดท้ายว่า สองสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เธอเรียนรู้จากการเป็นนักบินอวกาศ ก็คือเรื่องของ Diversity and Inclusion หรือ การให้การยอมรับและเห็นถึงคุณค่าของความแตกต่างของบุคคลแต่ละคน และ เรื่องของ Humanity 

“อวกาศเป็นของทุกคน เฉกเช่นเดียวกับน้ำและอากาศ ที่ไม่ได้เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ดังนั้นเราจึงต้องร่วมกันพัฒนาและให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้และเพื่อมนุษยชาติ”  

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...