Drone เพื่อการเกษตรฝีมือคนไทย ช่วยรอดพ้นกับดักต้นทุนสูง | Techsauce

Drone เพื่อการเกษตรฝีมือคนไทย ช่วยรอดพ้นกับดักต้นทุนสูง

Drone พ่นยาที่ถูกพัฒนาให้เป็นเครื่องจักรกลราคาเข้าถึงง่าย โดยลูกหลานเกษตรกรไทยจากจังหวัดขอนแก่นผู้ไม่หยุดฝันที่จะยกระดับวิชาชีพกลางไร่นาให้ดีขึ้น และสามารถเพาะปลูกด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่าเดิม ท่ามกลางสภาวะราคาพืชผลตกต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมแผ้วถางปูทางให้สินค้าเกษตรของคนไทยแตกยอดบนโลก Online

อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone) เพื่อการเกษตรภายใต้แบรนด์เกษตรเจนวาย (Kaset Gen-Y) ที่ยุทธนา ศรีวงศ์ดี กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรีนเซ็นเตอร์เซอร์วิส เรียกในแบบของตัวเขาเองว่า ‘เกษตรอากาศยาน’ นั้นใช้เวลาพัฒนาอยู่ถึง 3 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ และเริ่มนำมาใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2560

ปัจจุบันวางจำหน่ายในรุ่น GCS-9 (ใช้เลข 9 ในชื่อรุ่นเพื่อเป็นการถวายแด่ในหลวงรัชการที่ 9) ที่มีให้เลือกทั้งสีขาวและสีดำ ทำงานด้วยระบบ 8 ใบพัด 4 หัวพ่นพร้อมติดตั้งถังบรรจุของเหลวขนาด 5 ลิตรและสามารถลอยบนอากาศได้ 10 ถึง 15 นาที (ทำงานด้วยความเร็วเฉลี่ย 1 ถึง 2 นาทีต่อไร่) ซึ่งขณะนี้จำหน่ายในราคาเครื่องละ 75,000 บาท แม้ว่าจะตั้งราคาไว้ 85,000 บาทก็ตาม

Drone ให้การเกษตรแบบแม่นยำ

ยุทธนาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการริเริ่มประดิษฐ์โดรนพ่นยาของค่ายเกษตรเจนวายว่า ก่อนที่ตัวเขาและเพื่อน ๆ อีก 2 คนซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนจะรวมตัวกันก่อตั้งกิจการหจก.กรีนเซ็นเตอร์เซอร์วิสนั้น พวกเขาต่างยึดอาชีพกสิกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย โดยต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการเพาะปลูกสูงขณะที่ไม่สามารถกำหนดราคาพืชผลที่จำหน่ายได้เอง จึงนำมาสู่การหาทางออกซึ่งจะลดภาระค่าใช้ให้ต่ำลง โดยเฉพาะในส่วนของแรงงาน

ด้วยการนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยควบคุมปัจจัยการผลิต หรือที่เรียกว่า “การเกษตรแบบแม่นยำ”ที่เป็นแนวทางส่งเสริมให้บรรดาเกษตรกรใช้ต้นทุนทรัพยากรน้อยที่สุด แต่ได้ผลผลิต ทั้งปริมาณและคุณภาพมากที่สุดนั่นเอง

แรกเริ่ม ยุทธนาไม่ได้มองโดรนเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ แต่เป้าหมายหลักคืออุปกรณ์ใดก็ได้ที่สามารถยกน้ำขึ้นสู่อากาศ เพื่อทำการฉีดพ่นแทนแรงงานคนที่เดิมต้องรับภาระทั้งแบกอุปกรณ์และฉีดพ่นไปพร้อมกัน รวมถึงอุปกรณ์นั้น ๆ ต้องสามารถทำงานในระยะเวลานานกว่าคนและคลอบคลุมพื้นที่อย่างถั่วถึงในระยะเวลาที่เหมาะสม

ดังนั้นเมื่อปี 2558 ทางทีมงานจึงเริ่มหาข้อมูลและทดลองโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ก่อน แต่ด้วยคุณลักษณะที่ขับเคลื่อนด้วยใบพัดเดียว จึงไม่เหมาะสมกับลักษณะงาน เพราะทำให้เกิดลมที่รุนแรงเกินไป จนตัวยาหรือสารที่ฉีดพ่นกระจายไปในอากาศหมด จึงมีเพียงแค่น้ำเปล่าที่ลงมาสัมผัสใบพืช

สุดท้ายจึงเริ่มหันไปทดลองใช้โดรนที่ขับเคลื่อนด้วยหลายใบพัดและมีให้เลือกตั้งแต่แบบ 4 8 หรือ 12 ใบพัด โดยระยะแรกเริ่มจากยกน้ำขนาดความจุหลาย ๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็น 5 10 หรือ 12 ลิตร เพื่อคำนวนหาว่าปริมาณเท่าไรจึงจะเป็นระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานจริง ซึ่งก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ จนประสบความสำเร็จดังเช่น model ปัจจุบัน

นั่นคือเป็นโดรนพ่นยาที่สามารถช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกได้จริง ในส่วนต้นทุนผันแปร (ค่าปุ๋ย/ยา ค่าจ้างฉีดพ่น และอื่น ๆ ) ซึ่งเดิมเคยอยู่ที่เฉลี่ย 700 ถึง 1,200 บาทต่อไร่ ขึ้นกับประเภทของพืช ทั้งนี้ด้วยกระบวนการที่มีเทคโนโลยีใหม่มาช่วยฉีดพ่นสารต่าง ๆ ทางใบส่งผลให้ใช้ปุ๋ยลดลง 50 ถึง 70% รวมถึงเปลี่ยนจาการใช้สารเคมีแบบเดิมเป็นสารชีวพันธ์แทนเพียงแต่ต้องฉีดพ่นถี่ขึ้นด้วยโดรน ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างแรงงงานได้ 30 ถึง 50% เช่นกัน

"การฉีดพ่นด้วยการที่ต้องแบกเครื่องเองเป็นเรื่องยาก ตรงที่จะทำให้ละอองกระจายลงใบพืชได้อย่างทั่วถึง ต่างจากการบังคับโดรนให้ฉีดพ่นกดลงมาด้วยแรงลมที่เหมาะสมและไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้พืชผลิตดอกผลได้ดีกว่า เพราะหากมีการฉีดพ่นผิดวิธีจะทำให้ใบพืชบอบช้ำ จึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ทันที แต่ต้องรอให้เกิดการซ่อมแซมใบก่อนกว่าจะปรุงอาหารได้ เท่ากับกระบวนการผลิตดอกผลต้องล่าช้าไป"

ยุทธนาเล่าถึงกระบวนการสร้างสรรค์โดรนเพื่อการเกษตรอีกว่า ได้แบ่งทีมงานเป็นสองส่วนคือ ฝั่งวิจัยและพัฒนา กับฝั่งเก็บข้อมูล สำหรับด้านเงินทุนก็รวบรวมกันเองจากรายได้การขายสมุนไพร ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่เพียงพอเท่าไรนัก ทำให้กว่าจะพัฒนาสำเร็จจึงต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่ก็ไม่เคยย่อท้อหรือคิดจะล้มเลิกกลางทาง เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้วิชาชีพเกษตรกรรมดีขึ้น

"เราฝันว่าอยากทำให้ดีที่สุด แม้เกษตรกรทั่วประเทศอาจจะไม่ได้ใช้โดรนของเราทั้ง 100% แต่อย่างน้อยก็หวังให้คนที่ได้ใช้และเดินไปกับเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"

อย่างไรก็ตาม แม้ทีมงานไม่ได้คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จอย่างร้อนแรง ในช่วงแรกที่วางจำหน่ายโดรนพ่นยาจึงตั้งเป้าเพียง 50 ลำ แต่ในปี 2561 ทำยอดขายไปถึง 100 ลำ ซึ่งขณะนี้ยังทยอยส่งมอบไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้นโดรนพ่นยายังถูกนำไปใช้กับเกษตรกรรมที่หลากหลายทั้งในส่วนของพื้นที่และประเภทของการเพาะปลูก ที่ครอบคลุมทั้งพืชสวนและพืชไร่ ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว แตงโม อ้อย มันสำปะหลัง ผักสวนครัว เป็นต้น อีกทั้งด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานง่าย นั่นคือถ้าขับรถหรือใช้งานรถไถเดินตามได้ก็จะสามารถบังคับโดรนพ่นยาได้เช่นกัน ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรที่อยู่ในช่วงวัย 40 ถึง 65 ปี ที่นำโดรนพ่นยาไปใช้งานแล้ว

อุปสรรคใหญ่ที่เราเจอคือเรื่องเงินทุน ด้วยใจที่หนักแน่นเท่านั้นจึงจะช่วยให้เราก้าวผ่านปัญหาได้

คลายปมเรื่องพลังงาน

แม้จะมีการตอบรับที่ดีเกินคาด แต่โดรนพ่นยาที่กลุ่มเกษตรเจนวายพัฒนาขึ้นก็ยังมีจุดด้อยด้านการใช้พลังงาน นั่นคือด้วยแบตเตอรี่ 1 ก้อนสามารถส่งให้โดรนลอยอยู่บนอากาศอย่างต่อเนื่องเพียง 10 ถึง 15 นาทีเท่านั้น ซึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 นาที

ทั้งนี้กระบวนการปรับปรุงในเรื่องการใช้พลังงานของโดรนพ่นยาคืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว โดยต้องการเปลี่ยนจากการใช้แบตเตอรี่ไปเป็นแหล่งพลังงานประเภทอื่นแทน (ยุทธนายังไม่ยอมเปิดเผยว่าจะเป็นแหล่งพลังานประเภทใด) แต่ต้องทำให้โดรนลอยบนอากาศได้ไม่ต่ำกว่า 30 นาทีและท้ายที่สุดแล้วต้องทำให้ราคาของโดรนพ่นยาถูกลงด้วย

บ้านเรา (ประเทศไทย) มีนวัตกรรมให้เลือกมากมาย แต่ก็ราคาสูงจนจับต้องไม่ได้หรือไม่คุ้มทุนที่จะนำมาใช้

Online franchise ทำตลาด

กลยุทธ์การตลาดที่ยุทธนานิยามว่าเป็นแฟรนไชส์เกษตรออนไลน์ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้โดรนพ่นยาของค่ายเกษตรเจนวายประสบความสำเร็จ โดยเขาเล่าว่า การสื่อสารและบอกเล่าถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ได้ดีที่สุดก็คือตัวผู้ใช้เอง พร้อมขยายความว่าด้วยมุมมองการตลาดแบบ 360 องศา นั่นคือหากจะผลักดันผลิตภัณฑ์ให้แจ้งเกิดได้นั้นต้องทำควบคู่กันไปทั้งด้าน offline และ online โดยในฝั่ง offline จะลุยออกตลาดอย่างเต็มที่ส่วนฝั่ง online ก็จะมีบทบาทในการสื่อสารผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

อีกที้งเชื่อว่าน่าจะมีคนที่ต้องการสร้างอาชีพหรือรายได้จากนวัตกรรมที่เกษตรเจนวายสร้างขึ้นมา จึงวางแนวทางว่าให้สามารถมาเรียนรู้โดยที่แทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากเลย แต่มีหน้าที่เพียงนำสิ่งที่เรามีอยู่ไปโปรโมทแค่นั้นเอง ซึ่งระบบที่ทีมงาน set ไว้สามารถอ้างอิงในการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับผู้ที่โปรโมทได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของระบบ O2 Power System ซึ่งย่อมาจาก Online+Offline Power System คือ ระบบแฟรนไชส์ร้านค้าเกษตรออนไลน์ ในเครือของกรีนเซ็นเตอร์เซอร์วิส (Greencenterservice) ทำงานร่วมกับโมเดลระบบการสร้างธุรกิจ online แบบ Affiliate Program เป็นตัวขับเคลื่อนระบบการตลาดผ่านตัวแทนโฆษณาทั้งสองระบบ เพื่อรับคอมมิชชั่นในการโปรโมทสินค้า และขายแฟรนไชส์นั่นเอง

โดยเกษตรกรหรือผู้สนใจที่มาเป็นพันธมิตรซึ่งสามารถซื้อสินค้าเกษตรใช้เองเพื่อรับส่วนลดหรือหากต้องการสร้างรายได้ออนไลน์ก็ต้องเสียค่าสมัครที่ 1,990 บาท แล้วนำลิงค์สินค้าหรือลิงค์แนะนำแฟรนไชส์จากระบบไปโปรโมทผ่าน Facebook หรือ Blog ส่วนตัวของแต่ละคน ที่มีทั้งในรูปแบบของการขายสินค้าที่เป็นเครื่องพ่นทางอากาศ (โดรน) แพคเก็จบริการพืช (ตั้งแต่ราคา 190 บาท/ไร่ ถึง 750 บาท/ไร่ ซึ่งแปรผันตามจำนวนการใช้งานและน้ำยา) และธาตุอาหารพืช (น้ำยาที่นำมาฉีดพ่น) ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับพันธมิตรได้ ในรูปแบบของค่าคอมมิชชั่น

ปัจจุบันเครือข่าย online franchise ของเกษตรเจนวายกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี ซึ่งขณะนี้มีจำนวนสมาชิกกว่า 2,000 ราย และ active ราว 60% เพราะหลักสื่อสารการตลาดสำคัญคือต้องการให้ผู้ที่ใช้โดรนพ่นยาของบริษัทอยู่แล้วบอกต่อไปยังบุคคลอื่น ๆ ในวงกว้างต่อไป

ทั้งนี้ยุทธนาเน้นย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้พันธมิตรมองธุรกิจตรงนี้เป็นวิชาชีพหลักแต่เลือกเป็นงานเสริมมากกว่า เพราะหากสามารถหารายได้ 3,000 ถึง 4,000 บาทต่อเดือนก็ถือว่าดีพอสมควร เพราะคงไม่สามารถพาทุกคนให้ประสบความสำเร็จได้ 100% เพราะสุดท้ายก็ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละคนด้วย

การทำตลาดของเราเน้นประสิทธิภาพจาก online ราว 60% อีก 40% ยังต้องพึ่งพางานด้าน offline มาเสริมด้วย

ค้าพืชผลบน e-commerce

ฝันของยุทธนายังเดินหน้าต่อ เพื่อให้ Jigwaw ที่เขาเริ่มไว้กลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากที่ตัวเขาตั้งใจไว้แต่แรกว่าไม่ได้ต้องการให้เกษตรเจนวายมีบทบาทเฉพาะพัฒนานวัตกรรมการเกษตรเท่านั้น แต่ต้องสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องชาวไร่ชาวสวนดีขึ้นด้วย

ตามที่ยุทธนาตั้งใจไว้นั้น เขาไม่ได้ต้องการให้เกษตรเจนวายมีบทบาทเฉพาะพัฒนานวัตกรรมการเกษตรเท่านั้น แต่ต้องสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องชาวไร่ชาวสวนดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงเริ่มเดินหน้ากิจกรรมในส่วนแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้สมเหตุสมผลกับสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป โดยใช้ระบบ online มาช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรไปในวงกว้าง โดยรวบรวมร้านค้าของเกษตรกรมาอยู่บนระบบของเกษตรเจนวายที่จำหน่ายสินค้าตามราคาที่อ้างอิงจากตลาดปลายทางไม่ใช่จากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งคาดว่าช้าสุดจะเปิดตัวได้ภายในปลายปีนี้ เพราะยังต้องใช้เวลากับการเก็บข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพืชผลต่าง ๆ อยู่

ดังนั้นจึงเริ่มเดินหน้ากิจกรรมในส่วนแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้สมเหตุสมผลกับสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป โดยใช้ระบบ online มาช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรไปในวงกว้าง โดยรวบรวมร้านค้าของเกษตรกรมาอยู่บนระบบของเกษตรเจนวายที่จำหน่ายสินค้าตามราคาที่อ้างอิงจากตลาดปลายทางไม่ใช่จากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งคาดว่าช้าสุดจะเปิดตัวได้ภายในปลายปีนี้ เพราะยังต้องใช้เวลากับการเก็บข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพืชผลต่าง ๆ อยู่

yuthana-kaset-gen-y

สำหรับมุมมองต่อนวัตกรรมการเกษตรของไทยนั้น ยุทธนาให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังกว่าต่างประเทศ แต่เหตุผลที่คนในแวดวงไม่ค่อยรู้จักหรือไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้งาน เช่น เครื่องอบข้าว หรือแม้แต่โดรนเอง ก็เพราะอุปสรรคในเรื่องราคาของนวัตกรรมที่แพงเกินกว่าเกษตรกรจะจับต้องได้

นั่นคือรากฐานที่ทำให้ทีมงานเกษตรเจนวายมองว่าหากเกษตรกรไม่ได้ใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นจริง ๆ ก็ย่อมไม่นับเป็นนวัตกรรม เปรียบเหมือนเป็นงานวิจัยที่วางไว้บนหิ้งเท่านั้น หรือมีเพียงแค่คนหยิบมือเดียวที่อาจจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเท่านั้นไม่ใช่คนส่วนใหญ่

ดังนั้นกลุ่มทีมงานเกษตรเจนวายจึงมุ่งที่จะพัฒนานวัตรกรรมให้คนรากหญ้าได้ใช้งานจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะด้วยผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันหรือโครงการใหม่ ๆ ในอนาคตก็มุ่งหวังให้เกษตรกรกลุ่มใหญ่ได้มีโอกาสใช้งาน

เรายืนยันว่านวัตกรรมใหม่ด้าน hardware ของเกษตรเจนวายจะเปิดตัวภายในฤดูกาลที่จะถึงนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Agentic AI เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ AI เป็นมากกว่าแค่ผู้รับคำสั่ง

Agentic AI คือระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่เพียงแค่รับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการตัดสินใจและทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ โดยระบบนี้จะใช้เทคโนโลยีอย่าง Ma...

Responsive image

ทำอย่างไรให้วงการ e-Commerce ไทย แข่งขันได้ ค้าขายข้ามแดนรอด

Key Messages จากการรับฟังคุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวถึงโอกาสในการค้าขายข้ามแดนผ่านอีคอมเมิร์ซ (Cross-border e-Commerce) และแนะว...

Responsive image

ไข 5 ความลับไต้หวัน ที่ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แกร่งที่สุดในโลก

สำรวจเหตุผลที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก พร้อมเจาะลึกกลยุทธ์ของ TSMC และบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีแห่งอนาคต...