ส่องเทรนด์ EdTech ไทยเข้าถึงผู้คนอย่างทั่วถึงจริงหรือไม่? | Techsauce

ส่องเทรนด์ EdTech ไทยเข้าถึงผู้คนอย่างทั่วถึงจริงหรือไม่?

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดยคุณมิซา อิโซมูระ Business Development Lead จาก CareerVisa ภาพโดย EUTD.eu

ไม่ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะมีงบประมาณมากเพียงไหน ก็ไม่อาจหยุดยั้งกระแส ‘บัณฑิตตกงาน’ ได้ เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดจากจำนวนผู้ว่างงาน จนเกิดประเด็นทางสังคมที่พากันถกเถียงว่า ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถผลิตผู้เรียนให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน นับเป็นความจริงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากมองในแง่มุมระดับปัจเจก เมื่อสอบถามตัวผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องเป้าหมายทางอาชีพ จะพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าต้องการทำอะไร

ไม่ใช่ว่าการค้นหาตนเองไม่พบคือตัวการของปัญหา แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความไม่รู้ดังกล่าวต่างหาก กลับเป็นประเด็นที่ชวนให้คิด จากการสำรวจของ CareerVisa ธุรกิจเพื่อสังคม ผู้จัดกิจกรรม Career Ready Bootcamp เพื่อแนะแนวอาชีพ พบว่ากว่า 80% ของเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม ไม่ทราบว่าเป้าหมายทางอาชีพของตนเองคืออะไร เนื่องจากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพเพื่อประกอบการตัดสินใจที่มากพอ รวมถึงไม่ทราบข่าวสารและโอกาสที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ปัญหาเรื่องการเข้าถึงโอกาสดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันให้ CareerVisa ขยายธุรกิจในรูปแบบ Startup สร้าง Online Career Counselling Platform เพื่อขยายผลประโยชน์สู่เยาวชนไทยจำนวนมาก (สามารถติดตามข่าวสารและความคืบหน้าของ CareerVisa ได้ผ่านเพจ CareerVisa Thailand)

ปัจจุบัน Digital Disruption ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่การศึกษาที่เข้าถึงได้ง่ายด้วยเพียงปลายนิ้ว สงสัยเรื่องอะไรก็แค่ Google out ซึ่งมักจะให้คำตอบเราได้ดีเสมอ ไหนจะการสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆที่โผล่ขึ้นมามากมายจนเลือกใช้แทบไม่ถูก ความสะดวกสบายต่างๆเหล่านี้ เอื้อให้เกิดอำนาจทางสังคมแบบใหม่ จากเดิมที่ความรู้ถูกผูกขาดอยู่กับสถาบันและชนชั้นนำทางสังคม ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้การกระจายความรู้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จนไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของความรู้หนึ่งๆได้ตลอดไปแล้ว ส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์โลกและความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ นำมาสู่วิธีการเรียนรู้ใหม่ให้เข้ากับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Personalized Learning Pathways

เมื่อผู้อ่านมองเผินๆอาจรู้สึกว่า หากเป็นเช่นนี้แล้วทุกคนก็น่าจะเข้าถึงการศึกษาได้อย่างง่ายดาย แต่ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าสถานการณ์ข้างต้นยังไม่เอื้อในบริบทของไทย

ประเด็นที่หนึ่ง: เพราะการศึกษาคือการลงทุน

ผู้เรียนยังคงเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่ตนต้องการได้ แม้เทียบกับค่าเล่าเรียนในสถาบันการศึกษานับว่าลงทุนต่ำกว่ามาก และอาจมีคุณภาพไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในแง่การยอมรับจากสถาบันและองค์กรต่างๆในสังคมพบว่ายังไม่สามารถทดแทนวุฒิการศึกษาได้เสียทีเดียว ผู้เรียนจึงมีภาระค่าใช้จ่ายสองทางคือ ทั้งค่าเล่าเรียนในสถาบันและค่าเล่าเรียนนอกระบบ แม้ปัจจุบันจะมีแหล่งเรียนรู้บางอย่างที่ฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้เรียน แต่ก็มักจะมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น การกำหนดโควต้าจำนวนผู้เรียน ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆได้โดยง่าย

ประเด็นที่สอง: อุปสรรคทางด้านภาษา

เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ สื่อการศึกษา บทความ ฯลฯ ที่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบภาษาต่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงความรู้หลายอย่างยังคงเป็นอุปสรรค แม้จะมีผู้แปลบางส่วน แต่ก็ไม่อาจเท่าทันกระแสความรู้ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคนี้

อย่างไรก็ดีการกระจายความรู้สู่คนหมู่มากสามารถทำได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน และคำกล่าวที่ว่า “ความรู้คืออำนาจ” คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก เมื่อขั้วอำนาจทางการศึกษาเริ่มเปลี่ยนทิศจากเดิมที่ผูกขาดกับสถาบันและชนชั้นนำ ส่งต่อมายังคนธรรมดาได้ผ่านเทคโนโลยี

ภาพโดย Thenextweb.com

ตัวอย่างความสำเร็จของ Coursera

Coursera แพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ชื่อดังก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดยอาจารย์สองท่านจากมหาวิทยาลัย Stanford ปัจจุบันมีคอร์สเรียนที่หลากหลาย ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ธุรกิจ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เลือกมากกว่า 1,000 คอร์ส มีผู้สมัครใช้งานกว่า 12 ล้านคนจาก 190 ประเทศ อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 117 สถาบัน

จุดเด่นของ Coursera คือระบบติดตามประเมินผลการเรียนแบบ Signature Tracking ที่ร่วมมือกับสถาบันศึกษาในการออกใบรับรองให้กับผู้เรียนที่ชำระเงินเพิ่ม แต่ในกรณีที่ผู้เรียนไม่สนใจขอใบรับรอง คอร์สส่วนใหญ่ก็เปิดให้เรียนฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย

นอกจากนั้นในปี 2014 ทาง Coursera ยังได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำต่างๆเพื่อเปิดตัว คอร์สออนไลน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะสาขาอาชีพ พร้อมทั้งระบบ Specializations Track ที่สามารถติดตามประเมินผลผู้เรียนได้

ความสำเร็จของ Coursera ในวันนี้คงยากที่จะเกิดขึ้น หากขาดความร่วมมือจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ และบริษัทต่างๆ เรื่องราวของแพลตฟอร์มออนไลน์นี้นับเป็นแรงบันดาลใจที่แสดงให้เห็นว่าการศึกษาควรเป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของรัฐบาลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น

สุดท้ายผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะเห็นการปรับตัวจากหลายภาคส่วนที่จะช่วยกันส่งเสริมการศึกษาไทยแนวใหม่ อย่างแพลตฟอร์มคอร์สออนไลน์ และเทคโนโลยีทางการศึกษาอื่นๆ เพื่อให้บุตรหลานของท่านและเยาวชนทั่วประเทศได้ก้าวพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยไปด้วยกัน

 

อ้างอิง: How Coursera Works and Makes Money

https://www.investopedia.com/articles/investing/042815/how-coursera-works-makes-money.asp

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner เผย! AI เป็นตัวการสำคัญ ทำค่าความปลอดภัยด้านข้อมูลทั่วโลกพุ่ง 15% ภายในปี 2025

Gartner เผยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าองค์กรทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความปลอดภัยข้อมูล (Information Security) ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์...

Responsive image

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืน

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืนได้...

Responsive image

ซูชิสายพาน หนึ่งใน Game Changer ที่สำคัญของวงการอาหารญี่ปุ่น

บทความนี้ เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจต้นกำเนิดของซูชิสายพานที่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนวิถีการกินซูชิของคนญี่ปุ่น แต่ยังกลายเป็นธุรกิจร้านอาหารที่ถูกใจคนไทยในยุคปัจจุบันอย่างมาก...