Redefine Businesses with 5G Forum ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ด้วย 5G | Techsauce

Redefine Businesses with 5G Forum ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ด้วย 5G

“เมื่อเราเห็นกระแสลมของความเปลี่ยนแปลง เราต้องพุ่งไปหามัน พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง นำ 5G มาปรับใช้ธุรกิจของตัวเอง ให้เป็นไปตามกระแสที่โลกเป็น”

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา “Techsauce x Ericsson  Redefine Businesses with 5G Forum ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ด้วย 5G” ที่เน้นย้ำเราว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นรากฐานสำคัญของการทำธุรกิจไปแล้ว และเทคโนโลยี 5G จะเป็นโครงสร้างสำคัญให้ธุรกิจเติบโตในอนาคต  

แต่เราจะคว้าโอกาสนี้เพื่อยกระดับธุรกิจของเราได้อย่างไร และภาคส่วนไหนจะต้องเร่งนำ 5G มาใช้ในการขับเคลื่อนมากที่สุด ประเด็นอะไรบ้างที่เราจะต้องรู้ เพื่อใช้เทคโนโลยี 5G อย่างปลอดภัยและเต็มประสิทธิภาพ

มาร่วมถอดรหัสนิยามใหม่ของโลกธุรกิจกับ Speakers ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระดับโลก 

  • คุณอิกอร์ มอเรล, President & Head บริษัท Ericsson Thailand

  • ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ, President & CEO Digital Government Development Agency

  • คุณวรภัทร ภัทรธรรม, Director of Public Policy, SEA บริษัท Intel Microelectronics (Thailand) Ltd

นิยามใหม่ของธุรกิจในยุค 5G 

คุณวรภัทรกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันเราได้เห็น Digital Transformation ที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทุกภาคส่วนและหน่วยงานเร่งเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน และทำให้เกิดข้อมูลมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลดิบขององค์กร เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจำนวนมากนี้จำเป็นต้องมีเครือข่ายสัญญาณที่ดีกว่าในการรองรับ

“เราต้องขยายถนนให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับจำนวนรถที่มากขึ้น เราต้องทำถนนให้มันฉลาดขึ้น” คุณวรภัทรกล่าวยกตัวอย่างถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไปสู่  5G 

คุณวรภัทรยังได้ยกตัวอย่างการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์หรือเครื่องจักร (Machine to machine) การรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมาก ความเร็วในการส่งข้อมูล และเสถียรภาพของโครงข่าย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะสามารถยกระระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม  โดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งเห็นได้ชัดจากประเทศที่มีโครงข่าย 5G และไม่มี ว่ามีช่องว่างในการพัฒนาที่ห่างกันออกไปเรื่อยๆ  

โดยเมื่อมีเทคโนโลยี 5G เข้ามา ภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องมีการปรับตัวในแง่ของรูปแบบการผลิต และรูปแบบการให้บริการด้วย 

“ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมซึ่งก่อนหน้านี้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนในการใช้งานมากขึ้น” 

คุณวรภัทรยังกล่าวเสริมว่า 5G มีคุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้เกิด ecosystem ขึ้นมามากมาย ทำให้ผู้เข้ามาให้บริการใน Value chain ก็จะเพิ่มมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์, ผู้ให้บริการโทรคมนาคม, ผู้ให้บริการคลาวด์ หรือ Hyperscaler ต่างๆ แน่นอนว่าผู้ให้บริการใน ecosystem นี้ก็ต้องปรับตัวเองเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งผู้ผลิตอุปกรณ์อย่าง Intel เอง หรือ Ericsson ก็ต้องพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีที่หลากหลาย และตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก  

นอกจากนี้คุณวรภัทรมองว่า ผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ให้ความสำคัญที่ตัวเทคโนโลยีมากเท่ากับการตั้งคำถามว่า 'เทคโนโลยีนั้นจะมาแก้ปัญหาในธุรกิจได้อย่างไร' ซึ่งคุณวรภัทรได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม อาจจะพิจารณาระหว่างการสร้างเครือข่ายของตัวเองหรือจะเลือกเช่าใช้จากผู้ให้บริการที่มีความพร้อม ซึ่งในจุดนี้ภาครัฐต้องสามารถสร้างทางเลือกให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ได้

 “Intel ถ้าสมมติเราอยากจะมาลงทุนที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เราก็ต้องพิจารณาว่าเขาสามารถให้เราสร้าง Private Network ของเราเองได้ไหม เพราะเราให้ความสำคัญในเรื่องของ Security และความเสถียรของการเชื่อมต่อ ที่จะส่งผลถึงระบบการผลิต แต่ถ้าเราเลือกมาประเทศไทยแล้วปรากฎว่าประเทศไทยไม่อนุญาตให้เราทำ Private Network ของเราเองได้ มันก็จะกลายเป็นว่าเราต้องไปลงทุนในประเทศอื่นที่เค้าเปิดโอกาสให้เรา”

คุณวรภัทรยกตัวอย่าง พร้อมกล่าวว่าตนอยากจะส่งข้อความไปยังภาครัฐ เน้นย้ำให้ภาครัฐต้องมีการสร้างทางเลือกที่มีความพร้อมให้ผู้ประกอบการ 

นอกจากนั้นคุณวรภัทรยังเสริมว่า ในปัจจุบันลำพังเทคโนโลยี 5G อย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องประกอบไปด้วย Complement Technology ไม่ว่าจะเป็น AI, Edge computing, Cloud Computing AR, VR ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะนำเข้ามาใช้กับ 5G โดยส่งเสริมกันและกัน 

และได้กล่าวถึงเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน ที่ Private Network หรือการนำ 5G มาใช้ในอุตสาหกรรม เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเห็นว่า 5G ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิต ภาคสาธารณสุข 

“เมื่อเราเห็นกระแสลมของความเปลี่ยนแปลง เราต้องพุ่งไปหามัน พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง นำ 5G มาใช้ปรับธุรกิจของตัวเอง ให้เป็นไปตามกระแสที่โลกเป็น” 

คุณวรภัทรทิ้งท้าย ถึงความจำเป็นที่องค์กรจะต้องรีบคว้าโอกาสจาก 5G และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีด้วย

ภาครัฐโฉมใหม่ในยุค 5G 

แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงภาคธุรกิจและเอกชนเท่านั้น ที่จะสามารถคว้าโอกาส และต่อยอดการพัฒนาจากเทคโนโลยี 5G ได้ หน่วยงานภาครัฐเองก็มองเห็นโอกาสนี้ และตั้งเป้าที่จะก้าวสู่การเป็น ‘รัฐบาลดิจิทัล’ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นรากฐาน เพื่อยกระดับการบริหารและการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการบริการประชาชน  

ดร.สุพจน์เริ่มจากการกล่าวถึงบทบาทและเป้าหมายสำคัญของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในการทำให้ Digital Transformation เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐ โดยได้เผย Digital Government Architecture ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการจะเป็น “รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผยเชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน” ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

โดยในแผนโครงสร้างนี้ ดร.สุพจน์กล่าวว่าต้องการให้เกิด Customer Experience โดยการสร้าง One stop service เพื่อบริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้าน Citizen, Business, Foreigner และ One data Portal  

ซึ่งความพร้อมของภาครัฐในปัจจุบัน ยังอยู่ในขั้นตอนของการ Digitalization ในหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างแพลตฟอร์มกลาง ที่ทุกหน่วยงานสามารถใช้ร่วมกันได้ ทั้ง Digital ID, Data exchange platform  หรือระบบ e-Sarabun เป็นต้น 

สำหรับบทบาทที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาเกี่ยวข้อง ก็คือการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่นโครงข่าย 5G ซึ่งทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเอง ก็จะเป็นผู้ออกมาตรฐานที่จะแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐ รวมถึงนโยบายในการขับเคลื่อนต่างๆ 

นอกจากนั้นดร.สุพจน์ยังได้กล่าวถึงการสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลเปิด ซึ่งปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ทำเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ  https://data.go.th  ขึ้นมา ซึ่งจะมุ่งเน้นให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในระบบ และมีการเปิดเป็น API ให้นักพัฒนาสามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งดร.สุพจน์เสริมว่าเป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐที่จะต้องทำข้อมูลให้เป็นข้อมูลเปิด ให้ภาคเอกชนนำไปพัฒนาบริการต่างๆ ให้กับประชาชนได้ด้วย 

และเมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ภาครัฐกำลังให้ความคำสำคัญ ดร.สุพจน์ได้เผยว่า ตอนนี้ภาครัฐกำลังให้ความสำคัญกับ AI Technology เป็นพิเศษ และได้จัดตั้งศูนย์ GovTech Innovation Center ขึ้นมา เพื่อให้คำแนะนำกับหน่วยงานรัฐ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหน่วยงาน ทั้งในด้านการให้องค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา โดยอยากจะเชิญชวนภาคเอกชนที่มีความพร้อมมาทำงานร่วมกันด้วย

ในส่วนของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ ดร.สุพจน์มองว่าความพร้อมของภาครัฐเองคงไม่เท่าทันเอกชนมากนัก ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จะต้องเป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการใช้งาน อย่างไรก็ตามก็ยังจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี  5G ไปสนับสนุนการบริการภาครัฐ ใน 5 ด้าน ได้แก่ 

  • Smart Environment 

  • Smart Education  

  • Smart Energy 

  • Smart Health 

  • Smart Mobility  

โดยใน 5 แกนหลักดังกล่าว ดร.สุพจน์เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการจัดการข้อมูล โดยเฉพาะในด้าน Smart Environment และ Smart Energy  ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดเก็บข้อมูล และนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ โดยใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น IoT , 5G มาช่วย เพื่อลดความผิดพลาด และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูล เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเมือง ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

นอกจากนั้นดร.สุพจน์ได้เผยแนวทางการสนับสนุนที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะเข้ามามีส่วนร่วม โดยยังให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลเป็นหลัก เริ่มจากการทำให้ต้นทุนการจัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์จัดเก็บ หรือ Data Center ให้มีราคาไม่สูงเกินไป เพื่อรองรับการใช้งานของ 5G ที่จะทำให้การผลิตข้อมูลสูงขึ้น และสร้างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐให้มีคุณภาพ นอกจากนั้นยังตั้งเป้าจะสร้าง Big Data Analytic platform เพื่อนำข้อมูลภาครัฐไปขยายผลต่อได้ ให้ประโยชน์สูงสุดของภาคเอกชนและการบริการภาครัฐ 

ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีโครงข่ายดิจิทัลที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

คุณอีกอร์เริ่มจากการพูดถึงความต้องการในการใช้งานเครือข่าย 5G ซึ่งเป็นไปอย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของการสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยี กับข้อมูลหรือเครื่องจักร สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ ความซับซ้อนของระบบ ซึ่งในที่นี้อาจไม่ใช่แค่ในแง่ของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รวมไปถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้การทำงานแต่ละขั้นตอนขององค์กรอย่างละเอียด เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายการทำงานที่มีความเหมาะสมและแม่นยำขึ้นมา

คุณอีกอร์อธิบายต่อไปโดยยกตัวอย่างจากการทำงานของ Ericsson ว่า ทุกการสร้างเครือข่าย Ericsson ต้องดำเนินการตาม 3 ขั้นตอน  

  1. Onboarding  คือการมองหาและกำหนดความต้องการขององค์กร เพื่อมองหาเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ 

  1. สร้าง Data Workflow ที่จะช่วยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายให้ทำได้ง่ายขึ้น 

  2. Activation หรือการเปิดใช้งาน เพื่อทดสอบว่าเครือข่ายของเราสามารถทำงานได้หรือไม่ และเป็นอย่างไรเมื่อตรวจพบสิ่งไม่พึ่งประสงค์ เพื่อสร้าง Zero Trust Network ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลทั้งจากการใช้งานระบบจากภายในและภายนอกขึ้นมา 

การทำเช่นนี้จะทำให้ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์สองด้านด้วยกัน อย่างแรกคือในแง่ของโอกาสทางธุรกิจ จะทำให้มีความได้เปรียบมากกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด เพราะระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินงานอย่างเป็นองค์รวม กระตุ้นการสร้างรายได้ รวมไปถึงมีความปลอดภัยกว่าทั้งกับฝั่งผู้ให้บริการและกับฝั่งผู้ใช้งาน 

อีกอย่างคือในแง่ของการประหยัดพลังงาน โดยพบว่าการสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อทางเทคโนโลยีจะช่วยลดปริมาณการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละบริษัทได้ถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในเรื่องนี้ ทาง Ericsson จะทำการสาธิตให้ลูกค้าเห็นว่าเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ รวมไปถึงโซลูชั่นของทาง Ericsson จะสามารถนำพลังงานที่ถูกใช้ไปกลับมาใช้ใหม่ได้ ในขณะที่ยังรักษาประสิทธิภาพและคุณภาพของเครือข่ายไว้ได้ด้วย

สิ่งหนึ่งที่คุณอีกอร์เน้นย้ำเป็นพิเศษคือเรื่อง Network Security อันเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของทุกเครือข่ายดิจิทัล องค์กรต้องตระหนักว่าข้อมูลสำคัญจะไหลอยู่ภายในเครือข่าย ดังนั้นการออกแบบระบบต้องคำนึงถึงความปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งคุณอีกอร์กล่าวเสริมว่าอยากให้มีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ข้อกำหนดเรื่อง Data Security ร่วมกัน ทั้งในเรื่องของความส่วนตัวของข้อมูล และมาตรฐานการจัดการเครือข่ายดิจิทัลทั้งหมดด้วย

โอกาสการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัลในประเทศไทยและเป้าหมายด้านความยั่งยืน

ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย สิ่งสำคัญในมุมมองของคุณอีกอร์ ประการแรกคือต้องรวบรวมระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกันและสร้างการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อมากำกับดูแลในด้านนี้โดยเฉพาะให้ได้ 

ประการที่สอง เพื่อให้การประสานงานที่เป็นไปในทางเดียวกัน ควรมีการสร้าง Co-creation เพื่อให้เกิดการทำงานและแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันภายในระบบนิเวศ โดยเป้าหมายสำหรับเรื่องนี้ของ Ericsson คือการนำศูนย์พัฒนาและวิจัยจากทั่วทั้งโลก เข้ามาไว้ในประเทศไทย คุณอีกอร์ขยายความว่า เนื่องจากภาพรวมของตลาดดิจิทัลในประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก  ดังนั้น หากเราจะสร้างผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในประเทศนี้ เราจำเป็นต้องเป็นผู้นำในตลาดให้ได้ และจากการทำงานในอดีตที่ผ่านมา Ericsson ได้ร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำจากใน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย และจากที่อื่นๆ อีกมากมายทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ Ericsson จะนำความรู้ ประสบการณ์ และกรณีการใช้งานจากที่อื่นเข้ามาปรับใช้กับประเทศไทย หรืออาจปรับทรัพยากรที่ได้จากที่ไทยไปปรับใช้กับที่อื่นได้ด้วยอีกในอนาคต 

นอกจากนี้จำเป็นต้องมีการลงทุนเกิดขึ้นเพื่อให้สร้างมูลค่าด้วย ควรต้องมีช่องทางเอาไว้รวบรวมเหล่านักพัฒนาและโซลูชั่นของพวกเขาไว้ด้วยกัน ในที่นี้ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น คุณอีกอร์ได้ยกตัวอย่างเป็น App Store ที่เป็นแพลตฟอร์มเอาไว้รวบรวมแอปพลิเคชันไว้ในที่เดียวกัน โดยเปรียบเทียบว่าเราควรสร้างเสริมให้มีแพลตฟอร์มที่เอาไว้รวบรวมนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

ในเรื่องของความยั่งยืน คุณอีกอร์กล่าวว่า Ericsson มีเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ และพยายามสร้างความมั่นใจว่าการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จะไม่เพิ่มการใช้พลังงานและการปล่อยปริมาณคาร์บอนให้มากขึ้น สำหรับเรื่องนี้ Ericsson ได้ทำการศึกษาอย่างระมัดระวัง และพบว่าเทคโนโลยี ICT ของพวกเขาจะลดปริมาณคาร์บอนได้ราว 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นเช่นนี้ แปลว่าการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัลของเราจะเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น สวนทางกับปริมาณพลังงานที่ใช้น้อยลง 

และสุดท้ายในแง่ของแรงงานคน คุณอีกอร์มองว่าประเทศไทยควรต้องสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับแรงงานในประเทศของตนเองให้ได้ เพื่ออนาคตของประเทศในระยะยาวและเพื่อให้แรงงานมีทักษะที่เหมาะสมกับงานที่อาจซับซ้อนยิ่งขึ้นในภายภาคหน้า




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...