เตรียมไทยให้พร้อม เมื่อแบตเตอรี่คือกุญแจปฏิวัติทิศทางพลังงานอนาคต | Techsauce

เตรียมไทยให้พร้อม เมื่อแบตเตอรี่คือกุญแจปฏิวัติทิศทางพลังงานอนาคต

เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างต้องหาหนทางแก้ไขเพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลของโลกให้กับคนในรุ่นถัดไป พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยคาดว่าจะมีการนำมาใช้งานทั้งในครัวเรือนและยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างมาก และการจะไปถึงการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็ต้องมีแหล่งกักเก็บพลังงาน นั่นก็คือแบตเตอรี่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต โดยล่าสุดบางจากฯ ได้จัดงานสัมมนา ในหัวข้อ “Everlasting Battery แบตเตอรี่: ปฏิวัติพลังงานอนาคต” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านพลังงานอนาคตและแบตเตอรี่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิวัตินี้

ภาพรวมและทิศทางของพลังงานโลกและยานยนต์ไฟฟ้า 

คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันทิศทางพลังงานโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของการใช้พลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดอย่างไฟฟ้าหรือพลังงานหมุนเวียน (Green Energy) เพื่อตอบรับกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน หลายประเทศทั่วโลกเตรียมปรับรถโดยสารสาธารณะให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงนโยบายใหม่ล่าสุดของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ที่เน้นการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าในอเมริกา ตามมาด้วยจีน อังกฤษและฝรั่งเศสที่จะหยุดการขายรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2040

นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก Bloomberg ว่าในปัจจุบันแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนเพียงแค่ 0.4 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั้งหมดทั่วโลก แต่สามารถลดการใช้น้ำมันดิบทั้งหมดได้ถึงหนึ่งล้านบาร์เรล และยังมีการคาดการณ์ต่อว่าในปี 2050 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนสูงถึง 54 เปอร์เซ็นต์ โดยในไทยเองก็ได้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนยานยนต์ต่างๆ ที่ใช้งานในไทยให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตรถยนต์ในไทย หรือประมาณ 750,000 คันภายในปี 2030 อีกทั้งยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้มีมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่าการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านั้นก็จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในปัจจุบันนี้ราคาแบตเตอรี่ถือว่าลดลงมาอย่างมาก เนื่องด้วยมีหลากหลายอุตสาหกรรมก็ต้องใช้งานแบตเตอรี่เช่นเดียวกัน ปัจจัยนี้ทำให้การพัฒนาแบตเตอรี่ในรถยนต์ก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย และคาดว่าจะพัฒนายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต 

ความก้าวหน้าของแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่พลังงานสมัยใหม่ อีกทั้งแบตเตอรี่เก่าๆ ยังสามารถรีไซเคิลให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย 

คุณกุลิศ เสริมว่าในส่วนของกระทรวงพลังงานมีการอนุมัติแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า (PDP) ให้มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น พร้อมปรับแผนร่างใหม่ให้ตรงกับการใช้งานของผู้คนในประเทศอย่างครบถ้วนรอบด้าน และเตรียมพัฒนาสถานีชาร์จพลังงานให้รองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงนำแบตเตอรี่มาใช้ในการกักเก็บพลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชนต่างๆ ภายในประเทศ

ทางเลือกใหม่ของการใช้พลังงานและการกักเก็บพลังงาน

คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พูดถึงเส้นทางของการใช้พลังงานของมนุษย์ว่าเราเพิ่งเริ่มรู้จักการใช้น้ำมันเพียงแค่ในร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง และหลังจากที่เราค้นพบน้ำมันเศรษฐกิจและการพัฒนานั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การใช้แหล่งพลังงานเดิมๆ คงเป็นไปไม่ได้เพราะจะส่งผลเสียอีกมากให้กับโลกใบนี้ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าเราต้องการจะไปให้ถึง Green Hydrogen หรือพลังงานสะอาด ซึ่งการไปให้ถึงตรงนั้น สิ่งสำคัญที่เป็นสะพานเชื่อมต่อก็คือ แหล่งกักเก็บพลังงาน เพื่อไปใช้ในเวลาอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อยามกลางคืนที่ไม่มีแสงอาทิตย์เราจะเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวันไว้ที่ไหน โดยคุณชัยวัฒน์ได้ยกตัวอย่างของวิธีการกักเก็บพลังงานอย่างหลากหลายรูปแบบ แต่วิธีการกักเก็บที่ดีที่สุดในปัจจุบันก็คือการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน นอกจากนี้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนยังเป็นโลหะที่สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วน ซึ่งแบตเตอรี่ที่ดีควรประกอบด้วยการชาร์จที่เร็ว สามารถรองรับการใช้งานได้ยาวนาน มีความปลอดภัย น้ำหนักเบา และอายุการใช้งานนาน โดยทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ผู้เชี่ยวชาญกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้มีประสิทธิภาพที่สุด และคาดว่าเทคโนโลยี Fast Charging น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มาเร็วที่สุด

เทรนด์การใช้งานแบตเตอรี่ทั่วโลก

ชวนพูดคุยถึงเทรนด์การใช้แบตเตอรี่ทั่วโลกกันต่อกับ Dr. Ali Izadi-Najafabadi หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียแปซิฟิกของ Bloomberg New Energy Finance ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบันนั้นการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ และมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเติบโตของรถบัสไฟฟ้าภายใน  5 ปีก็เติบโตสูงขึ้นถึง 10 เท่า ในส่วนของยุโรปและอเมริกาถือเป็นประเทศที่พาตัวเองเข้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นประเทศแรกๆ ในขณะที่จีนก็เติบโตอย่างมากในด้านยานยนต์ไฟฟ้าและคาดว่าจะกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งออสเตรเลียและอินเดียก็เป็นตลาดที่กำลังเติบโตที่น่าสนใจเช่นกัน ในส่วนของความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของตลาดคาดว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะมีความต้องการสูงสุดในอนาคต และแต่ละประเทศก็สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความต้องการของตลาดได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมด้านวัตถุดิบ เซลล์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ พื้นที่ การสร้างความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการจัดสร้างระบบและนโยบายที่สนับสนุนการใช้งานพลังงานไฟฟ้า

ผู้ประกอบการไทยเตรียมปรับตัวรับกระแสพลังงานใหม่และการผลิตแบตเตอรี่

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เผยว่านี่เป็นช่วงที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศแห่งการผลิตยานยนต์อันดับต้นๆ ของอาเซียน ดังนั้นความเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยนั้นทำให้เราต้องรีบปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตระดับสูงอย่างเจ้าของแบรนด์รถยนต์และผู้ผลิตระบบรวมถึงชิ้นส่วนใหญ่ๆ ล้วนเป็นบริษัทข้ามชาติซึ่งสามารถย้ายฐานการผลิตได้ ในขณะที่ไทยนั้นเป็นเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยและส่วนใหญ่ล้วนเป็น SME 

นอกจากนี้จากการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานไฟฟ้าทำให้ยานยนต์ปรับกระบวนการผลิตโดยมุ่งเน้นไปที่แบตเตอรี่และระบบควบคุมมากกว่าที่ผ่านมา อะไหล่ต่างๆ ในยานยนต์ก็จะลดจำนวนลงด้วยเช่นกัน ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตอะไหล่ เพราะในอนาคตแบตเตอรี่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ ดังนั้นหากใครสามารถผลิตและพัฒนาแบตเตอรี่ได้ก่อนผู้นั้นก็จะเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมนี้ การเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการในไทยจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยขณะที่ฝั่งรัฐเองก็กำลังผลักดันการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และอยู่ในช่วงพูดคุยเพื่อพัฒนาโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้านำร่อง (อย่างวินมอเตอร์ไซด์) เช่น โครงการ Winnonie ของบริษัท บางจากฯ  และระบบขนส่งอื่นๆ อีกทั้งในอนาคตเมื่อมีพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้น คาดว่าผู้คนส่วนใหญ่ก็อาจหันไปใช้ไฟฟ้าจากระบบพลังงานของตัวเอง นำไปสู่การแทรกแซงธุรกิจไฟฟ้าปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานต้องหาทางกันต่อไปในการที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราราคาหรือการกำกับดูแลเรื่องพลังงาน 

อีกขั้นของแบตเตอรี่กับ Solid Power

รศ. ดร. นงลักษณ์ มีทอง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่าทุกวันนี้ทุกคนครอบครองแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนกันเป็นของตัวเอง เช่น ในโทรศัพท์มือถือ ในคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ แต่ลิเธียมไอออนถือว่ายังไม่ตอบโจทย์ความต้องการได้ในอนาคต ทำให้ทุกวันนี้การผลิตจึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้เทียบทัน โดยเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลกคือสร้างแบตเตอรี่ที่ใช้งานในนานกว่าเดิมและยังมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่นานด้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะเกิด Anode Free ขึ้นคือการผลิตแบตเตอรี่โดยไม่จำเป็นต้องมี Anode หมายถึงการมีกำลังไฟที่เพิ่มขึ้นแต่มีขนาดที่เล็กลง และแบตเตอรี่ Solid ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้

ในด้าน Mr. Dean Frankel ผู้เชี่ยวชาญจากทีมพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์ บริษัท Solid Power Inc. ได้เล่าถึงการผลิตแบตเตอรี่ Solid State ว่าปัจจุบันนี้ในการผลิตแบตเตอรี่ Deep Technology ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้การผลิตเป็นไปได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แบตเตอรี่ของ Solid Power ยังให้พลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สามารถปรับใช้กับการผลิตลิเธียมไอออนที่มีอยู่ อีกทั้งมีความปลอดภัยสูงกว่าและราคาถูกกว่าเพราะการออกแบบที่เรียบง่าย ที่สำคัญที่สุดคือปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า Mr.Dean ยังได้อธิบายถึงกระบวนการผลิตของ Solid Power ในระดับโรงงานให้ผู้ร่วมงานได้ฟังอีกด้วย พร้อมคาดว่าจะสามารถพัฒนาให้เข้าใช้ในรถยนต์ได้อย่างเต็มตัวในปี 2025 Mr. Robert A. Rango ผู้ดำรงตำแหน่ง President และ CEO บริษัท Enevate Corporation เสริมว่าข้อมูลจาก Tesla รายงานว่าในปี 2030 ความต้องการในแบตเตอรี่ EV อาจสูงถึง 10 TWh ต่อปี และสำหรับการชาร์จนั้นผู้คนมีความคาดหวังว่าพวกเขาจะสามารถชาร์จยานยนต์ของตัวเองได้ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และตามสถานีต่างๆ บนท้องถนน อีกทั้งผู้ใช้งานยังคาดหวังว่าการชาร์จจะใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้นซึ่งเขาเองคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต 

บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการร่วมผลักดันการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน

ปิดท้ายจบงานด้วยเสวนาหัวข้อ “แบตเตอรี่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศไทย – บทบาทของภาครัฐและเอกชน” โดย คุณกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าการเข้ามาของแบตเตอรี่จะพลิกวงการพลังงานครั้งใหญ่เนื่องจากที่ผ่านมาเราทำการผลิตไฟฟ้าแบบใช้เลยไม่สามารถกักเก็บได้ แต่แบตเตอรี่จะเข้ามาทำให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนไป ในไทยของเราควรมีการปรับเปลี่ยนกฏกติกาให้ชัดเจนต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมด้วย และต้องมีเป้าหมายแห่งชาติอย่างที่ประเทศอื่นๆ ได้ออกมาประกาศ ฝั่งของคุณบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จํากัด (มหาชน) มีความเห็นว่า มนุษย์นั้นรู้จักกับการกักเก็บมาแสนนาน เพียงแต่เรายังไม่เคยนำมาใช้กับพลังงานไฟฟ้า การเข้ามาของแบตเตอรี่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานระดับครัวเรือนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อการพัฒนามาถึงทุกคนสามารถมีไฟฟ้าเป็นของตัวเอง และปัจจุบันบริษัทตนเองก็กำลังจะพยายามผลักดันการใช้งานไปสู่ระดับครัวเรือนด้วยเช่นกัน ด้านของ คุณชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ Director & Deputy Chief Executive บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) มองว่าพลังงานสะอาดจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนแน่นอน และแบตเตอรี่จะมาเป็นโซ่กลางในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงาน คาดว่าคุณภาพของโซลาร์ที่มากขึ้นจะช่วยผลักดันให้คนอยากใช้งานมากขึ้น นอกจากนี้เราอาจมีโอกาสในการนำระบบกักเก็บพลังงานไปใช้ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และนำมาทดแทนโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ลดการลงทุนไปได้และยังลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งได้พลังงานที่มีคุณภาพและมีระบบที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เสริมว่า จริงๆ แบตเตอรี่เกิดขึ้นนานแล้วแต่ยังไม่สามารถใช้งานได้เนื่องด้วยความพร้อมของการผลิตและปัจจัยอื่นๆ แต่ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันเกิดการนำแบตเตอรี่เข้ามาใช้งานในรถยนต์แล้ว ไทยเริ่มมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งนี่อาจทำให้เราได้รับผลกระทบในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปด้วย นี่คือช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง ภาครัฐควรผลักดันให้ผู้ประกอบการเดิมมองเห็นภาพชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงพลังงานใหม่และร่วมกันผลักดันให้ให้ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในการผลิต โดยในช่วง 5 ปีนี้จะเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ถ้ามีนโยบายที่ออกมาชัดเจน คิดว่าเราอาจจะไม่ช้ามากนักหากเทียบกับประเทศในยุโรป และถ้ากติกาและนโยบายชัดเจนมากพอ เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหมือนกับที่เรานึกไม่ถึงในวงการโทรศัพท์นั่นเอง พร้อมทั้งอาจยังไม่สายไปที่เหล่าธุรกิจยานยนต์ในไทยจะลงแข่งขันในเกมนี้ 

สรุป

จากการสัมมนาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าแบตเตอรี่คือกุญแจสำคัญที่เข้ามาไขอุตสาหกรรมพลังงานเพราะไม่ว่าเราจะพัฒนาพลังงานไปถึงไหนก็ตาม การกักเก็บพลังงานนั้นก็มีความสำคัญอย่างมาก และนี่ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามองว่าใครจะสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ให้เป็นอันดับต้นๆ ได้ 

ทั้งนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายของภาครัฐและเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนประเทศในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน กติกานโยบาย รวมไปถึงการผลักดันผู้ประกอบการและผู้ใช้งานให้มีความพร้อมตอบรับกับกระแสพลังงานใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยบางจากฯ ในฐานะภาคเอกชนผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน ได้เข้ามามีบทบาทและให้ความสำคัญกับกุญแจที่จะไขทิศทางพลังงานแห่งอนาคตที่เรียกว่า แบตเตอรี่ นี้แล้ว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...