บทความนี้เป็น Guest post
เวลาพูดถึงเมืองเชินเจิ้น (Shenzhen) หลายคนอาจจะนึกถึงการไปช็อปปิ้งของก๊อป เพราะเป็นเมืองที่อยู่ติดฮ่องกง ไปมาสะดวก มีโรงงานผลิตสินค้าราคาย่อมเยาว์มากมาย เรื่องราวทั้งหมดนั้นเกิดตั้งแต่ปี 1980 จากการที่ประเทศจีนจัดตั้งให้เมืองชายแดนตรงจุดนี้ที่แต่เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ความเจริญต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนเชินเจิ้นกลายเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในจีน โดยมีมูลค่าการนำเข้าส่งออกคิดเป็น 1 ใน 7 ของมูลค่ารวมทั้งประเทศเลยทีเดียว
และเมืองนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของโรงงาน Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวันผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลกรายหนึ่ง ซึ่งมาตั้งฐานการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 1988 Foxconn มีชื่อเสียงมาจากการเป็นผู้ผลิต iPhone ให้ Apple, ผลิต Kindle ให้ Amazon และอื่นๆ อีกมากมาย แต่วันนี้ผมอยากจะมาเล่าถึงหน่วยงานนึงในโรงงานแห่งนี้ที่ถูกเรียกว่า Foxconn Agritech โรงงานที่ไม่ได้ผลิตชิปหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่เอาความไฮเทคมาปลูกผัก และยังปลูกได้มากถึง 2.5 ตันต่อวันเลยทีเดียว จะสุดยอดแค่ไหนลองอ่านกันดูนะครับ
สำหรับคนที่รู้จัก Foxconn อยู่แล้วอาจสงสัยว่าทำไมเขาถึงหันมาทำการเกษตร เหตุมันเริ่มจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในไต้หวันในปี 2009 ได้ทำลายบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้คนมากมาย รวมไปถึงสวนเกษตรอินทรีย์ Yongling ที่ถูกพังทลาย แต่ทุกคนไม่ยอมแพ้ ในอีกไม่กี่ปีต่อมาด้วยการสนับสนุนและการบริจาคจากประธาน Terry Gou จาก Foxconn ก็สามารถพลิกฟื้นแผ่นดินและสร้างฟาร์มกลับขึ้นมาใหม่มากกว่า 800 ไร่ โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีใดๆ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในครั้งนี้ก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยทางการเกษตรที่ซับซ้อนขึ้น มีการปลูกแบบอัตโนมัติด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยผ่านอุปกรณ์ IoT และการจัดการข้อมูลดิจิตอลต่างๆ แบบบูรณาการ สร้างประวัติการผลิตและการขายที่สมาร์ทด้วยคำสั่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ กระบวนการทั้งหมดมีความโปร่งใสและเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัยของอาหาร
ในปี 2016 ก็ได้มีต่อยอดโดยการจัดตั้ง "ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรและการเกษตรยงหลิง" จากผลการวิจัยต่างๆ หลายปีที่ผ่านมาผสมผสานกับประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การสร้างโรงงานปลูกผักในจีนแห่งนี้ และหลักการ i3 Farming อันได้แก่
1) ใช้วิธีการเพาะปลูกที่คำนึงถึงสรีรวิทยาของพืช
ศึกษาสรีรวิทยาของพืช, โภชนาการของพืช, พยาธิสภาพของพืช เพื่อปลูกพืชที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค มีคุณค่าทางโภชนาการและมีรสชาติดี โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง
2) ระบบปลูกต้นกล้าและระบบจัดการอัตโนมัติ
ผสมผสานเทคโนโลยีทางการเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเลียนแบบธรรมชาติ, สร้างดวงอาทิตย์ประดิษฐ์อัจฉริยะ, ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น สภาวะแวดล้อมต่างๆ อัตโนมัติ, มีการบันทึกข้อมูลเพื่อนำไปสู่ Big Data และจัดทำแอปพลิเคชั่นเป็น AI, มีประวัติการผลิตและอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพตามที่คาดหวัง
3) ลดการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สร้างฟาร์มอัจฉริยะในเมืองโดยใช้วิธีการปลูกหลายชั้นแบบแนวตั้ง ที่ใช้พื้นที่น้อยมาก ลดการใช้น้ำได้ปริมาณมหาศาล อีกทั้งยังแทนที่การนำเข้าผัก และลดระยะทางการขนส่งผัก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมิตรกับสิ่งเแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่ความรับผิดชอบในการตระหนักถึงอุดมคติของประเทศจีนสีเขียว ประเทศจีนที่สวยงาม
ทาง Foxconn อ้างว่าโรงงานแห่งนี้เป็น Plant factory ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีสิทธิบัตรชั้นนำสามอันดับแรกของโลก และสามารถผลิตผักประกันคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีความพิเศษคือ
1) แสงดวงอาทิตย์ประดิษฐ์
ทำให้ผักเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน
2) น้ำฟองละเอียดพิเศษ
โดยการสร้างฟองอากาศ 100 ล้านฟองต่อน้ำ 1 ซีซี ทำให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นมหาศาล
3) โปรไบโอติกธรรมชาติ
ผักดูดซึมโปรไบโอติกและนมถั่วเหลือง เพิ่มรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการและรสชาติ
4) การตรวจสุขภาพพืช
มีการจำแนกลักษณะของรากเทียมที่ไม่ดี และมีการระบุลักษณะของพืชโดยอัตโนมัติตามลักษณะที่กำหนดโดยการเรียนรู้เชิงลึกจาก AI
5) สามารถทำนายการเติบโตได้แม่นยำ
ด้วยข้อมูลการปลูกที่เก็บสะสมมานาน ทำให้มีระบบอัตโนมัติอัจฉริยะในการระบุการเจริญเติบโตของพืช
6) ควบคุมโรงงานอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง
ใช้ระบบการตรวจสอบอัจฉริยะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเช็คสภาพแวดล้อมต่างๆ ในโรงงานทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้คน
7) มีความอุ่นใจ
ไม่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช, โลหะหนักเป็นศูนย์, อีโคไลเป็นศูนย์, ไนเตรตต่ำ (สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป), แบคทีเรียต่ำ, ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถกินได้อย่างสบายใจ
และทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เกิดกับ Foxconn ในเมืองจีนวันนี้ ส่วนในประเทศไทย เราก็เริ่มมี Plant factory ให้เห็น ภายใต้แนวคิดคล้ายๆ กันในการปลูกผักที่คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น วังรี รีสอร์ท ในจังหวัดนครนายก, LED Farm ที่เจริญกรุง 78, และ noBitter ที่สยามสแควร์ ซ.2 การปลูกผักในร่มเป็น indoor farming จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีคนที่เป็นห่วงคุณภาพชีวิตและปัญหาในการดำรงชีวิตของคนเมืองอยู่ เราจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการบริโภคผักที่มียาฆ่าแมลง มีการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิต่างๆ จากการขนส่งผักเข้ามาในเมือง และในอนาคตอันใกล้นี้คนไทยจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นครับ
สนใจเพิ่มเติม สามารถรับชมได้ที่ facebook.com/nobitterlife
ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ (ดิ๊ง)
ผู้ดูแลฟาร์ม noBitter