DeFi 2.0 จะเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกและส่งผลต่อธุรกิจของคุณได้อย่างไร? | Techsauce

DeFi 2.0 จะเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกและส่งผลต่อธุรกิจของคุณได้อย่างไร?



สรุป Key Takeaways จากงาน MEGA TECH FORUM 2022 by Techsauce ในหัวข้อ DeFi 2.0: How It’s Shaping the Global Economy and Why It Affects Your Business โดย คุณกานต์นิธิ ทองธนากุล  และคุณสัญชัย ปอปลี  2 ผู้ร่วมก่อตั้ง Cryptomind Group

Decentralized Finance (DeFi) คือ?

Decentralized Finance หรือ DeFi คือระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง ต่างจากระบบการเงินแบบดั้งเดิมที่ควบคุมด้วยมนุษย์และใช้ต้นทุนทรัพยากรต่างๆ ค่อนข้างสูง ซึ่ง DeFi ใช้คอนเซปต์ Blockchain ที่ช่วยตัดตัวกลางต่างๆ ออก ทำให้บริหารจัดการได้ตัวเองหรือใช้โปรแกรมคำสั่งคอมพิวเตอร์และระบบอัจฉริยะต่างๆ เช่น ซื้อขาย ฝาก ถอน หรือประกันภัย เป็นต้น มีแพลตฟอร์ม DeFi เกิดขึ้นมากมายที่ให้คนทั่วโลกเข้ามาใช้ได้สะดวก เช่น Uniswap ที่เป็นแพลตฟอร์ม Decentralized Exchange (DEX) แรกของโลก 

DeFi มีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจ คือมี Total Value Locked หรือจำนวนเงินหมุนเวียนรวมในระบบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณ $50,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 291,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 สะท้อนให้เห็นว่า DeFi ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และคนยังสนใจศึกษาลงทุนใน DeFi อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเทรนด์อื่นๆ เช่น Metaverse หรือ Play to Earn เข้ามา

DeFi 2.0 คืออะไร เข้ามาแก้ปัญหาอะไรจาก DeFi 1.0 

DeFi 2.0 เป็นการปรับปรุงและพัฒนาจากปัญหาต่างๆ ที่พบใน DeFi 1.0 ดังนี้

  • DeFi 2.0 เข้ามาแก้ปัญหาเรื่อง “ค่าธรรมเนียม” ในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่ค่อนข้างสูงใน DeFi 1.0 จึงเกิดแพลตฟอร์ม DeFi 2.0 เข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น เกิด Blockchain เครือข่าย Layer 2 หรือเครือข่ายทางเลือกอื่นๆ  ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำลงและมีความเร็วในการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น แต่อาจแลกมาด้วยความ Decentralized ที่ลดลง

  • DeFi 1.0 มีปัญหาเรื่อง “Toxic Liquidity” ที่คนเข้าไปลงทุน ฝากเงินหรือทำฟาร์มในแพลตฟอร์ม DeFi เป็นจำนวนมากและเมื่อได้ผลตอบแทนที่พอใจก็ถอนเงินหรือสภาพคล่องออกมาจากแพลตฟอร์ม ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านั้นขาดสภาพคล่องระยะยาวอย่างยั่งยืน จึงมี “Protocol-Owned Liquidity” และ “Decentralized Market Maker” คือช่วยลดความกังวลเรื่องที่คนจะถอนสภาพคล่องออกไป จึงได้ออกเหรียญหรือหุ้นของแพลตฟอร์มและขายคล้ายกับขาย Bond ในราคา Discount พร้อมกับสัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ย โดยนักลงทุนต้องเอาสภาพคล่องมาแลกกับแพลตฟอร์มอย่างถาวร ซึ่งนักลงทุนจะได้โทเคนเป็นผลตอบแทนและดอกเบี้ยในอนาคต ส่วนแพลตฟอร์มก็จะได้สภาพคล่องจากนักลงทุนในระยะยาวและไม่ต้องกลัวจะสูญหาย

  • เกิดคอนเซปต์ใหม่ที่ให้นักลงทุนสามารถกำหนดช่วงซื้อหรือขายของสินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้ตามต้องการ อย่างเช่น แพลตฟอร์ม UniswapV3 เพื่อแก้ปัญหา “Inefficient Capital” หรือการจัดการสภาพคล่องที่ไม่มีคุณภาพ หรือเมื่อเราฝากเงินเข้าไปแต่กำหนดไม่ได้ว่าจะถูกซื้อหรือขายในระบบใน DeFi 1.0


DeFi กับผลกระทบด้านการเงินในอนาคต

การเงินยุคใหม่ที่เกิดขึ้นช่วยให้ทำธุรกรรมได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว เช่น ผ่าน Wallet หรือใช้ Smart Contract ทำให้ทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การกู้ยืมทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วกว่าการเงินแบบดั้งเดิม โดยผ่านแพลตฟอร์ม DeFi ที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลาง ทั้งยังมีความโปร่งใสและปลอดภัยในการทำธุรกรรม เนื่องจากหลายแพลตฟอร์มมีการระบุรายละเอียดการทำธุรกรรมไว้อย่างชัดเจน จึงช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงต่างๆ ของผู้ใช้

นักธุรกิจในไทยหรือ SEA สามารถมีส่วนร่วมกับ DeFi ได้อย่างไรบ้าง?

สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจต้องการเข้ามาในโลก DeFi ต้องอย่าปิดกั้นและพยายามทำความเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันได้มาถึงจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีการเงินนี้อย่างแท้จริง และเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบ DeFi ได้ เช่น อาจทำกิจกรรมต่างๆ บน DeFi มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถือเหรียญหรือคิดไอเดียธุรกิจใหม่ๆ อย่างการนำทุนสำรองของบริษัทไปฝากไว้ใน DeFi รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถทำผ่านแพลตฟอร์ม DeFi ได้ นอกจากนี้ ควรปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีต่างๆ ใน DeFi ที่ถือว่าเป็นเทรนด์ที่จะเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับโลกค่อนข้างแน่นอนและนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ มากมาย

ความเสี่ยงในการลงทุน DeFi

แม้ DeFi เพิ่งเกิดขึ้นและมี Use Cases ที่จริงจังได้ประมาณ 3 ปีเท่านั้น ดังนั้นควรให้ระยะเวลากับระบบการเงินรูปแบบใหม่อีกเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อพิสูจน์ว่าจะมี Use Case ต่างๆ ที่สามารถไว้วางใจได้จริงสำหรับการลงทุนอย่างยั่งยืน เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีความเสี่ยงบนโลก DeFi อยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น Smart Contract หรือโปรแกรมคำสั่งที่มี Bug หรือความผิดพลาดต่างๆ ในระบบทำให้เป็นช่องโหว่ให้เกิดความเสียหายกับสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยเฉพาะแพลตฟอร์มคอนเซปต์ใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยได้รับการรับรองในระยะยาว จึงต้องใช้ความระมัดระวัง

หรือกรณีการฝากสินทรัพย์ที่นำไปฝากไว้เพื่อค้ำประกันเมื่อพบช่วงตลาดขาลงและราคาตกลงมากๆ อาจทำให้ถูก Liquidate หรือถูกบังคับขายในสภาพคล่องของ DeFi ทำให้ขาดทุนได้ ดังนั้นผู้ลงทุนควรต้องระมัดระวังสภาพของตลาด หรือบางโปรเจกต์ออกแบบ “Tokenomics” ได้ไม่ดีพอและอาจทำให้บางเหรียญถูกเทขายในตลาดหรือถูกโจมตีด้วยระบบการกู้ยืมแบบ Flash Loan ในโลก DeFi ได้

ด้าน “Regulation” ยังไม่มีการออกนโยบายกำกับด้าน DeFi อย่างจริงจัง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจและพิสูจน์ไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ “Seed Phrase” หรือข้อมูลรหัสผ่าน Private Key ต่างๆ ของนักลงทุนที่เก็บรักษาไม่ดีและพลาดทำหลุดไปยังผู้ไม่หวังดี อาจทำให้สูญเสียสินทรัพย์ที่จัดเก็บเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ DeFi จะยังมีความเสี่ยงหรือมีปัญหาที่กำลังถูกปรับปรุง แต่นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลกการเงินที่เป็นสิ่งที่ดี โดยขึ้นอยู่กับนักพัฒนาหรือผู้คนที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในการนำไปใช้ก็จะเกิดคุณประโยชน์มากมายได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ใครคือ SIAM AI CLOUD ? บริษัทเทคไทยที่ NVIDIA เลือก ด้วยอายุจดทะเบียนเพียง 10 เดือนกับ 19 วัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของ SIAM AI CLOUD ทำไมไทยที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปีถึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยีจนดึงตัวแม่ทัพใหญ่ของ NVIDIA มาไทยได้ !...

Responsive image

10 ไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพไต้หวัน ก้าวล้ำนำอนาคตในงาน Taiwan Expo 2024

10 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไฮไลท์จาก Taiwan Healthcare Pavilion ที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ในทุกมิติ จากงาน Taiwan Expo 2024...

Responsive image

ส่องเส้นทางเทคฯ KBTG จากยุคปรับตัว สู่ผู้นำ Agentic AI กับยุทธศาสตร์ Human-First x AI-First พลิกโฉมธุรกิจ

เจาะลึกกลยุทธ์ KBTG กับการนำไทยเข้าสู่ยุค Agentic AI 2025 ผ่าน Human-AI Integration เพื่ออนาคตที่ล้ำลึกและยั่งยืน...