เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ได้ส่งท้ายพิธีปิด “โอลิมปิก โตเกียว 2020” อย่างเป็นทางการ ซึ่งพิธีที่จัดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่สร้างความประทับใจให้กับนักกีฬา และผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลก
แม้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องจัดในช่วงวิกฤตโควิด-19 และท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน การแข่งขันที่ไม่มีผู้ชมในสนาม ต้องจำกัดสตาฟฟ์ และต่างคนต่างต้องรักษาระยะห่างทางสังคม จะทำอย่างไรให้ทุกคนทั่วโลกเข้าถึงการรับชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้อย่างถ้วนหน้า และได้ประสบการณ์ที่เทียบเท่ากับการจัดงานในรูปแบบเดิม ?
การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสปี 1924 เกิดขึ้นครั้งแรกทางวิทยุ อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดสดได้จำกัดเฉพาะประเทศเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสเท่านั้น ต่อมาเมื่อถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี 1936 เทคโนโลยีเริ่มพัฒนาสู่การออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยมีกล้องสามตัวถ่ายการแข่งขันตลอด 138 ชั่วโฒงให้แก่ผู้ชมในกรุงเบอร์ลินและเมืองรอบข้าง
เมื่อโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1964 เทคโนโลยีการฉายภาพการแข่งขันก็ได้ก้าวกระโดดเป็นการถ่ายทอดสดผ่านเทคโนโลยีดาวเทียม จนถึงปัจจุบันในปี 2020 OBS Cloud จึงได้เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดครั้งใหญ่มาในรูปแบบดิจิทัล นำเสนอภาพที่ให้ความละเอียดสูง คมชัด สีสันสดใส และให้ประสบการณ์การรับชมที่เสมือนจริง
OBS Cloud เป็นโซลูชันกระจายภาพและเสียงของการแข่งขันโอลิมปิกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Olympic Broadcasting Services (OBS) และ Alibaba Cloud ซึ่งเป็นเทคโนโลยีให้บริการด้านการประมวล Data จากยักษ์ใหญ่เทค Alibaba ซึ่งก็เป็นพันธมิตรระดับโลกของการแข่งขันโอลิมปิก
OBS Cloud เป็นผู้บุกเบิกการกระจายภาพและเสียงของการแข่งขันโอลิมปิกส่วนกลาง ไปยังผู้แพร่ภาพและกระจายเสียงหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันของแพลตฟอร์มสื่อทั่วทุกมุมโลก แพลตฟอร์ม OBS Cloud จะช่วยอำนวยความสะดวกให้สื่อที่อยู่ ณ การแข่งขันใช้อุปกรณ์ถ่ายทำ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องน้อยลง เนื่องจาก OBS Cloud จะช่วยกระจายเนื้อหาการแข่งขันส่งผ่านระบบคลาวด์ทางไกลแบบเรียลไทม์ได้ทุกที่ ทุกเวลา
โดยการทดสอบการกระจายภาพและเสียงบนแพลตฟอร์มคลาวด์นั้นได้เกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 เสียอีก ก่อนหน้านี้ได้ทดสอบในรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อนในบัวโนสไอเรส ปี 2018 จากนั้นก็นำไปทดสอบต่อในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาวที่เมืองโลซานน์ปี 2020 การแพร่ระบาดโควิด-19 และการแบนผู้ชมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้เองก็ได้เร่งให้การออกอากาศการแข่งขันขึ้นไปดำเนินการอยู่บนระบบคลาวด์รวดเร็วขึ้น
คาดการณ์ว่าจากการออกอากาศผ่านระบบคลาวด์ของ OBS Cloud จึงทำให้สามารถสร้างเนื้อหาการแข่งขันได้กว่า 9,500 ชั่วโมง คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ ริโอ เดอ จาเนโรในปี 2016 ถึง 30% และเข้าถึงผู้ชมได้ราว 5 พันล้านคนทั่วโลก
ทั้งนี้ โซเชียลมีเดีย คอนเทนต์ทางดิจิทัลและบนสมาร์ทโฟนจะกลายเป็นตัวการสำคัญหลักของโซลูชันกระจายภาพและเสียงผ่านระบบคลาวด์ คาดการณ์ว่าจะโยกย้ายวิธีการแพร่ภาพเดิมทางดาวเทียมหรือโทรทัศน์สู่การดำเนินการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ซึ่งตัวอย่างที่ได้ปรากฎให้เห็นคือ Content+ เป็นผู้ผลิตฟุตเทจการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020 จำนวนหลายพันชั่วโมงสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ในรูปแบบคลิปเนื้อหาระยะสั้นที่เหมาะกับโพสต์โซเชียลมีเดีย ส่งต่อเป็นบริการให้กับองค์กรที่ออกอากาศทั้งหมดที่ซื้อสิทธิ์ในการแข่งขัน (Rights Holding Broadcasters หรือ RHBs)
เรียกได้ว่า OBS Cloud นอกจากจะทำให้การเผยแพร่เนื้อหาการแข่งขันโอลิมปิกเป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่น ทางสื่อออกอากาศที่ซื้อลิขสิทธิ์จากการแข่งขันเองก็ได้ฐานลูกค้ารับชมโอลิมปิกที่กว้างขวางกว่าที่เป็นมา และผู้ชมก็ได้รับประสบการณ์ในการรับชมเทียบเท่าการจัดงานในรูปแบบเดิม
อ้างอิง SCMP
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด