สอนวิธีจับผิด Deepfake ป้องกันไม่ถูกหลอก รู้ทันกลลวงและข้อมูลเท็จ | Techsauce

สอนวิธีจับผิด Deepfake ป้องกันไม่ถูกหลอก รู้ทันกลลวงและข้อมูลเท็จ

เมื่อภาพและเสียงที่เห็นอาจไม่ใช่ของจริงอีกต่อไป? มารู้เท่าทันเทคโนโลยี Deepfake ที่พัฒนาจาก Gen AI เทคโนโลยีที่ให้โทษมากกว่าจะมีประโยชน์ หลังถูกใช้สร้างข้อมูลบิดเบือนทั้งทั่วโลก

รู้จัก Deepfake คืออะไร ? 

Deepfake มาจากคำว่า Deep Learning รวมกับคำว่า Fake หมายถึงเทคนิคการปลอมแปลงข้อมูลด้วย AI ผ่านการประมวลผลข้อมูลการเคลื่อนไหวทางกายภาพ ลักษณะใบหน้า หรือแม้กระทั่งเสียง ทำให้สามารถสร้างภาพและเสียงปลอมแบบสมจริงจนแทบแยกไม่ออก

ที่จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ของที่เพิ่งมาใหม่ Deepfake ถูกใช้ในวงการบันเทิงมาแล้วหลายปี เช่นใน Hollywood เพราะให้ประโยชน์หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตและลดเวลาการทำงานแต่ปัจจุบันมีการใช้งานในทางพาณิชย์และในบุคคลทั่วไปมากขึ้น ส่งผลให้ Deepfake พบง่ายขึ้นบนโลกโซเชียลมีเดีย

ภัย Deepfake อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

จากการศึกษาของ iProov 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก ไม่ทราบว่า Deepfake คืออะไร และ 43% ยอมรับว่าไม่สามารถตรวจจับได้ เป็นที่มาให้อัตราของผู้ถูกหลอกลวงด้วย Deepfake ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นและอยู่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น

ในประเทศไทย มิจฉาชีพใช้ Deepfake ปลอมเป็นตำรวจ วิดีโอคอลขู่เหยื่อให้โอนเงิน ฟันเงินผู้เสียหายในประเทศไปรวมกว่า 600,000 บาท 

ส่วนเคสล่าสุดในต่างประเทศ พนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทในฮ่องกงถูกมิจฉาชีพใช้เทคโนโลยี Deepfake ปลอมเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ผ่านการประชุมวิดีโอคอล สูญเงินไป 25.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 900 ล้านบาท 

นอกจากการถูกหลอกแล้ว การให้ข้อมูลที่ผิด บิดเบือน หรือสร้างความเสียหายก็ค่อย ๆ มีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดหน้าคนดังบนคลิปอนาจาร บิดเบือนข่าวสารใส่ร้ายคนดัง ผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถึงแม้หลายประเทศจะมีการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงแบนการใช้งาน Deepfake ในหลายแพลตฟอร์มแล้วก็ตาม

จะจับโป๊ะ Deepfake ได้อย่างไร ?

สังเกตจากลักษณะทางกายภาพ

  • การกะพริบตา: การกะพริบตาที่มากเกิน เร็วเกินไป หรือไม่กะพริบตาเลย ถือเป็นจุดสังเกต Deepfake เพราะการเลียนแบบการเคลื่อนไหวของตาจริง ยังคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
  • ลักษณะปากและฟัน: สังเกตได้เวลาปากที่ขยับไม่ตรงเวลาพูด ช้ากว่าเสียง รูปปากเคลื่อนไหวไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เห็นลักษณะของฟันที่ชัดเจน
  • การเคลื่อนไหวของใบหน้า: Deepfake มักประสบปัญหาการวางโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติเช่น ใบหน้าหันไปทางหนึ่งแต่จมูกไม่ได้ขยับตามไปด้วย นอกจากนี้อาจจะสังเกตจากใบหน้าที่ขาดอารมณ์ร่วม ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพูดอยู่
  • รายละเอียดอื่น ๆ: สังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การสะท้อนของแสงและเงาผิดที่ผิดทาง แสงสะท้อนเวลาใส่แว่นตา เส้นผมที่ต้านแรงโน้มถ่วงหรือชี้ฟูมากเกินไป ตำหนิบนผิวหนังเช่น ไฝ รอยเหี่ยวย่นตามอายุ ว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

สังเกตจากลักษณะอื่น ๆ

  • ความชัดของวิดีโอ: สังเกตจากการเบลอเพียงบางจุด เช่น ระหว่างใบหน้าและลำคอ หรือ ระหว่างคอและช่วงลำตัว จะช่วยให้สังเกตถึงความไม่เป็นระนาบเดียวกันของวิดีโอได้
  • เสียงที่ผิดปกติ: ผู้สร้าง Deepfake ไม่ค่อยใส่ใจกับการใส่เสียงเท่ากับการทำวิดีโอให้แนบเนียน ดังนั้นจะสังเกตได้จากเสียงที่ไม่สอดคล้องกับการพูด เสียงเหมือนหุ่นยนต์ การออกเสียงบางคำที่ผิดปกติ 
  • บริบทและแหล่งที่มา: พิจารณาแหล่งที่มาและบริบทของวิดีโอ ว่าสอดคล้องกับข้อมูลที่ทราบหรือไม่และพิจารณาว่ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือหน่วยงานที่ไม่รู้จัก

เช่นเดียวกับภัยคุกคามอื่น ๆ บนโลกดิจิทัล การสังเกตและรู้ทัน Deepfake จะช่วยให้ป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนหรือสร้างความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง: media.mit, telefonica, us.norton, blognone

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส่องจุดเด่นดิจิทัล โซลูชันของ WHAUP ระบบบริการสาธารณูปโภคและพลังงานอัจฉริยะ

ทำความรู้จักโซลูชันบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ แนวคิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและพลังงานแห่งอนาคต ภายใต้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP บริษ...

Responsive image

บทสรุปการสัมภาษณ์ Dr. Ted Gover : เลือกตั้งสหรัฐฯ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย รุกสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

บทสรุปการสัมภาษณ์ Dr. Ted Gover ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ไทย และความท้าทายสำคัญสำหรับทั้...

Responsive image

เผยแนวโน้มและผลกระทบของ AI ผ่านมุมมองของนักวิจัยชั้นนำแห่ง MIT Media Lab “พีพี-ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร”

เทคโนโลยี AI ส่งผลดีหรือผลเสียต่อมนุษย์? เจาะลึกมุมมองที่เกี่ยวกับแนวโน้มและผลกระทบจาก AI ไปกับดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร (พีพี) นักวิจัยไทยแห่ง MIT Media Lab และ KBTG Fellow ที่จะมาแบ่งแ...