ปี 2021 นี้ นับได้ว่าเป็นปีทองสำหรับการเติบโตของ Startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ข้อมูลจาก Dealogic ระบุว่า หลังจากที่ผ่านไปเพียงครึ่งปีแรก มูลค่าข้อตกลง ควบรวมกิจการ Startup ก้าวกระโดดอย่างแข็งแกร่งถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ โตขึ้น 114% เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยได้รับแรงอานิสงส์จากดีลขนาดใหญ่ของ Startup Unicorn ระดับท็อปอย่าง Grab, Gojek และ Sea ที่สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกล้วนให้ความสนใจอาเซียนในฐานะผู้เล่น Startup ฝั่งเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในขณะนี้
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า Startup ในอาเซียนจะโตไวไม่ได้เลย หากไม่ได้ฐานลูกค้าออนไลน์ในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง โดยรายงานจาก Google, Temasek และ Bain & Co ระบุว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 400 ล้านคน และคาดว่าระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะแตะ 300 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025
แฮร์รี เนย์สมิธ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Goldman Sachs กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ได้ถูกเร่งให้เติบโตเร็วขึ้น 5-10 ปี ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์เพิ่มสภาพคล่องขนาดใหญ่ในภูมิภาค เช่น การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก หรือ IPO
หนึ่งในข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดคือ การควบรวมกิจการระหว่าง Gojek แพลตฟอร์มเรียกรถโดยสาร และ Tokopedia แพลตฟอร์ม E-Commerce เพื่อที่จะสร้างแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ นับว่าเป็นการควบรวมกิจการครั้งที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค
ถ้ารวมกับดีลควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC (Special Purpose Acquisition Companies) ของ Grab ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในตอนนี้ ก็ผลักดันมูลค่า IPO ให้สูงถึง 75,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นสถิติกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ของปี 2020 และ 23,000 ล้านดอลลาร์ของปี 2019
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การ IPO ในอาเซียนได้รับความนิยมจากนักลงทุนกว่าที่เป็นมา ทางวรุณ มิตตัล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน จากบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี EY กล่าวว่า ธนาคารดิจิทัลและบริการปล่อยสินเชื่อ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ดึงดูดความสนใจและสร้างมูลค่า ซึ่งเห็นได้จากกรณีที่ Sea แพลตฟอร์มเกมและ E-Commerce เข้าซื้อกิจการธนาคาร Bank Kesejahteraan Ekonomi ของอินโดนีเซีย เพื่อปรับปรุงธนาคารท้องถิ่นให้กลายเป็นธนาคารเทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่เชื่อมต่อกับ E-Commerce ได้ราบรื่น
“เราเห็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ใบอนุญาตตามกฎหมายและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และในอีกสามปีข้างหน้า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีธนาคารดิจิทัลแห่งใหม่เพิ่มอีก 10-15 แห่งในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้ภาคส่วนนี้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการลงทุน” มิตตัล กล่าว
เช่นเดียวกันนี้ E-Commerce ก็ถือว่าเป็นหัวใจของ Startup ในอาเซียนไม่แพ้กัน ซึ่งนักลงทุนต่างจับตามองไปที่ว่า Startup รายใดจะสามารถจดทะเบียนบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นผ่านการ IPO เป็นรายแรกในปี 2021 นี้
ขณะนี้ตัวเต็งเบอร์ต้น ๆ อยู่ที่ Bukalapak แพลตฟอร์ม E-Commerce ของอินโดนีเซียที่จะเปิดขาย IPO ในประเทศเดือนถัดไป GoTo บริษัทที่เกิดจากการรวมตัวของ Gojek และ Tokopedia และ Grab ที่คาดการณ์ว่าจะจดทะเบียนสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2021
นอกจากนี้ โรหิต จาทิจี หนึ่งในหัวหน้าที่ดูแลฝ่าย Merge & Acquisition ของ JPMorgan ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ธุรกิจภาคโทรคมนาคมก็เป็นอีกหนึ่งม้ามืดที่โดยมีบริษัทต่างชาติเริ่มสนใจลงทุนและรวมตัวกันเพื่อสร้างเป้าหมายและพัฒนาผลตอบแทนจากการลงทุนในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G
จะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ บริษัท Celcom Axiata และ Digi.com ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซีย ได้มีข้อสรุปเรื่องการควบรวมกิจการเพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
โรหิต จาทิจี กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ เองก็มองหาการสร้างรายได้จากเสาโทรคมนาคมด้วยเช่นกัน รวมถึงมีการวางแผนที่จะปลดล็อกเงินทุนจากสาธาณูปโภคพื้นฐานที่สามารถเปิดให้เช่าและแชร์กันได้
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ บริษัท Indosat Ooredoo ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อินโดนีเซีย ขายเสาสัญญาณโทรศัพท์ในราคา 750 ล้านดอลลาร์ให้กับบริษัท Digital Colony ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา
อ้างอิง : Financial Times
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด