สรุปคอร์ส SCB IBE การคิดมูลค่าบริษัท สิ่งที่นักลงทุนมองหา และ Roadmap สู่ยูนิคอร์น | Techsauce

สรุปคอร์ส SCB IBE การคิดมูลค่าบริษัท สิ่งที่นักลงทุนมองหา และ Roadmap สู่ยูนิคอร์น

หลังจาก SCB และ NIA ประกาศความร่วมมือจัดหลักสูตร NIA-SCB Innovation-Based Enterprise หรือ IBE เพื่อติวเข้ม Tech Company ให้สามารถขยายธุรกิจได้ ขณะนี้ก็ได้เริ่มดำเนินโครงการแล้ว โดยมี 30 Tech Company เข้าร่วมโครงการหลักสูตร IBE ซึ่งแต่ละบริษัทได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมอบรม และ Techsauce ได้เข้าไปนั่งฟังการอบรมครั้งนี้ โดยมี 2 หัวข้อที่น่าสนใจคือ Financial Tips and Company Valuations และ Roadmap to Unicorn สามารถสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

Financial Tips and Company Valuations

ในหัวข้อ Financial Tips and Company Valuations ต้องการสร้าง Checklist เพื่อให้ Tech Company ทราบเบื้องต้นว่าควรจะเตรียมตัวเรื่องการเงินอย่างไร และประเมินมูลค่าของบริษัทอย่างไรบ้าง โดยได้วิทยากรคือคุณธนฉัตร ตั้งศรีวงศ์ (ฉัตร) Chief Representative of Bangkok Office จากบริษัท CyberAgent Capital ที่มาเล่าในมุมของนักลงทุนหรือ Venture Capital (VC)  กับการลงทุนใน Tech Company และ การประเมินมูลค่าบริษัท

สำหรับการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital (VC) อาจนิยามสั้นๆ ได้ว่าเหมือนการแต่งงาน โดยเฉลี่ยแล้วจากสถิติสากลจะมี Tech Company 7 ใน 10 รายที่ประสบความล้มเหลวแม้จะได้รับเงินจากนักลงทุนไปแล้วก็ตาม โดยมีแค่ 30% เท่านั้นที่สร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน และมีเพียง 1-2% เท่านั้น ที่จะสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาลจริงๆ และที่สำคัญการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital มีความคาดหวังในผลตอบแทนในระดับที่สูงมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-100 เท่าจากเงินต้น ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงของการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ดังนั้นการหา Tech Company ที่เหมาะสมจะได้รับเงินลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วนักลงทุนมองหาอะไรบ้าง?

สิ่งที่นักลงทุนมองหา

  1. ผู้ประกอบการ: ต้องเป็นคนที่มีความคลั่งไคล้ (Passion) มีความรักชอบ สนใจในสิ่งที่ทำอย่างแรงกล้า โดยจะสะท้อนจากรูปแบบการทำงาน ความเข้าใจในตลาดและธุรกิจของตัวเองอย่างถ่องแท้ เพราะนักลงทุนจะมองหาผู้ประกอบการที่เข้าใจในอุตสาหกรรมและธุรกิจของตัวเองอย่างลึกซึ้งเสมอ

  2. ทีม : ทีมที่ดีควรมีความสามารถที่รอบด้าน เติมเต็มในจุดแข็งและจุดอ่อนของกันและกัน สามารถเติบโตและพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และที่สำคัญเมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกันเป็นทีมแล้วมีความพิเศษในการยกระดับความสามารถของเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ได้ (Better Together)

  3. มี Partner ที่เข้มแข็ง ในบางกรณี Partner ที่ดีอาจเป็นคนที่เคยแข่งขันกันมาก่อนก็เป็นได้ แต่พอได้ปรับตัวไปตามกลไกตลาดแล้ว กลับนำมาซึ่งศักยภาพที่จะทำงานร่วมกันได้ ส่วนถ้าเป็น Partner จากภาคธุรกิจเจ้าใหญ่ (Corporate) ถ้าเป็น Partner ที่ดีจริง จะไม่เพียงให้การสนับสนุนในด้านการเงินเท่านั้น แต่นำมาซึ่งการโอกาสในการขยายธุรกิจ เปิดตลาดใหม่ เจาะฐานลูกค้าใหม่ (untapped market) ที่ตัว Tech Company เองไม่สามารถเข้าถึงได้ 

การคิด Valuation (มูลค่าบริษัท)

คุณฉัตรให้ความเห็นว่า เรื่องของการประเมิน Valuation หรือมูลค่าบริษัทนั้นเป็นศิลปะมากกว่าศาสตร์ คือในเชิงศาสตร์นั้น การประเมินมูลค่าบริษัทมีคอนเซ็ปต์หลักที่อ้างอิงตามทฤษฎีและนำมาใช้กันทั่วไปทว่า แต่ละ Venture Capital (VC)  เองก็จะมีวิธีคิด มี ‘กระบวนท่า’ ในการประเมินมูลค่าที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ในบางกรณีอาจมีเทคนิคการประเมินที่คิดค้นขึ้นมาเป็นเอกเทศ และในบางครั้งอาจใช้สัญชาตญาณล้วนๆ ในการตัดสิน ซึ่งหากมองในมุมนี้ การประเมินมูลค่าบริษัทมีความเป็นศิลปะอยู่มากกว่า โดยใจความสำคัญของหลักในการประเมิน คุณฉัตรได้กล่าวว่านักลงทันใช้มุมมอง Top Down กับ Bottom Up เป็นหลัก และสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

3 วิธีคิดตามหลัก Top-Down Approach (การประเมินมูลค่าจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก)

1. Market Approach: Multiples/Ratio (ตัวคูณราคาหรืออัตราส่วนเปรียบเทียบ) โดยนำตัวคูณที่เราใช้ มาคูณกับตัวเลขทางการเงิน เพื่อเอามาคิดคำนวณมูลค่าของบริษัท โดยการเลือกตัวคูณราคานั้นว่าควรจะเป็นเท่าไร และต้องใช้กับตัวเลขทางการเงินตัวใด ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและประเภทธุรกิจนั้นๆ อ้างอิงจากข้อมูลกลางในตลาด) ตัวอย่างที่เอามาใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Revenue Multiple, EBITDA Multiple หรือ P/E Ratio 

วิธีการคิด เช่น Revenue Multiple >> ใช้ในกรณีที่ธุรกิจมีการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง มีทิศทางและอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างชัดเจนและคงที่ ให้ดูว่าธุรกิจสร้างรายได้ในเดือนล่าสุด (MRR: Monthly Recurring Revenue) เป็นเท่าไร แล้วนำมา X12 จะได้ศักยภาพในการทำรายได้ของบริษัทนั้นๆ ในระยะเวลาหนึ่งปี แล้วจึงค่อยนำตัวเลขนั้นไปคูณกับ Revenue Multiple ก็จะได้มูลค่าคร่าวๆ ของบริษัท 

2. Comparable Analysis (การวิเคราะห์จากคู่เปรียบเทียบ): คือการนำโมเดลธุรกิจหรืออุตสาหกรรมคล้ายกันมาเปรียบเทียบกัน

  • โดยใช้กรณีคล้ายกัน มาเปรียบเทียบกัน เช่น บริษัทที่ประกอบการอยู่ในอุตสาหรรมเดียวกันและมีโมเดลธุรกิจเดียวกันโดยสมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ เช่น การใช้ข้อมูลของ Uber มาเปรียบเทียบกับ Grab เป็นต้น) โดยใช้ข้อมูลปัจเจกของบริษัท เช่น จำนวนผู้ใช้งาน ตัวเลขเชิง traffic และ KPI หลักของธุรกิจประเภทนั้นๆ 

  • การปรับสัดส่วนเชิงเปรียบเทียบ เพื่อเพิ่มหรือลดมูลค่าควรมาจากการนำปัจจัยหลายอย่างมาคิดคำนวณด้วย เช่น ช่วงระยะเวลาในการประกอบการ Stage และอัตรการเติบโตของบริษัท ข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์ประชากร (ประเทศ จำนวนประชากร เป็นต้น) ยิ่งคิดเชิงเปรียบเทียบได้ละเอียดเท่าใด มูลค่าก็จะยิ่งดูน่าเชื่อถือและสมเหตุสมผลเท่านั้น

  • กรอบความคิดนี้ ถ้าจะมองไปในจุดพื้นฐานที่สุด คือการหา Value per Subscriber หรือ Value per User (มูลค่าต่อจำนวนผู้ใช้งานหนึ่งราย) ที่มีความเชื่อมโยง คล้ายคลึงกับหลักการคำนวณ LTV/CAC (LTV: Lifetime Value, CAC: Customer Acquisition Cost) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 

  • วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากในวงการ Venture Capital (VC)

3. Market Sizing & Funnel (การประเมินมูลค่าบริษัทจากการประเมินขนาดของตลาด)

  • วิธีนี้มีแนวคิดพื้นฐานคล้ายคลึงกับ Comparable Analysis โดยใช้การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ แต่ไม่ได้เปรียบเทียบกับบริษัทที่มีความคล้ายคลึงกัน และใช้การเปรียบเทียบจากมูลค่าของอุตสาหกรรมนั้นเป็นหลัก เพราะธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่สามารถมีมูลค่ามากไปกว่าตลาดทั้งหมดของตัวเองไปได้ 

  • หลักสำคัญที่ต้องใช้ คือการประเมิน Addressable Market ทั้งสามระดับ คือ 

TAM: Total Addressable Market (มูลค่าของตลาดทั้งหมดที่เป็นไปได้) 

SAM: Serviceable Addressable Market (มูลค่าของตลาดที่จะสามารถยึดครองได้สำหรับทั้งของเราและคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และการให้บริการที่คล้ายคลึงกัน) 

SOM: Serviceable Obtainable Market (มูลค่าของตลาดที่ตัวเราเองสามารถเข้าไปยึดครองได้) 

    • เช่น ถ้า Retail Sales ของประเทศนั้นๆ มีมูลค่าเท่าไร >>> ในนั้น มีสัดส่วนเป็น E-Commerce อยู่เท่าไร >>> ในสัดส่วน E-commerce นั้นมีมูลค่าของเสื้อผ้าอยู่เท่าไร >>> ในสัดส่วนของ Retail Sales ที่เป็น E-Commerce ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า มีมูลค่าที่มาจากเสื้อผ้าผู้หญิงซึ่งเป็นตลาดของเราอยู่เท่าไร >>> ที่สุดแล้วหากธุรกิจเราประสบความสำเร็จ จะได้ครองสัดส่วนตลาดคิดโดยประมาณเท่าใร

2 วิธีคิดตามหลัก Bottom-Up Approach (การประเมินมูลค่าจากข้อมูลของบริษัทเป็นหลัก)

1. Time Value of Money – DCF: Discounted Cash Flows (การคิดลดกระแสเงินสด) วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่สุด เป็นมาตรฐานของการประเมินมูลค่าบริษัทในโลกการเงิน ทว่า หากนำวิธีนี้มาปรับใช้โดยตรง อาจไม่เหมาะสมนักเพราะกระบวนการคิดในรูปแบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อการประเมินมูลค่าบริษัทในอุตสาหกรรมพื้นฐาน ซึ่งสินทรัพย์สำคัญในการสร้างมูลค่าของบริษัทเหล่านั้นแตกต่างจากกรณีของ Tech Company โดยสิ้นเชิง เหตุผลนี้เป็นข้อจำกัดหลักที่ทำให้บริษัท Tech Company ในระยะแรกเริ่ม ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมกับธนาคารได้ ประเด็นที่น่าถกเถียงอีกประการหนึ่งของวิธีประเมินมูลค่าแบบนี้ คือการใช้สมมติฐาน (assumptions) จำนวนหลายข้อในการคิดคำนวณ และตัวที่สำคัญที่สุดก็คืออัตราคิดลง (Discount Rate) ตัวหารที่จะนำมาใช้ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจะเป็นตัวหลักในการคำหนดความถูกแพงของมูลค่าบริษัท โดยที่สมมติฐานเหล่านั้น ก็จะแฝงไว้ด้วยอคติและความคิดเห็นส่วนตัวของผู้คำนวณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. Hybrid DCF (การคิดลดกระแสเงินสดเชิงประยุกต์) วิธีนี้ใช้หลักพื้นฐานเดียวกับ DCF ดั้งเดิม หากแต่นำการคิดเชิงประยุกต์ให้เหมาะสมกับ Tech Company มากขึ้น โดยการสร้างโมเดลทางการเงินแบบใหม่และทดแทนสินทรัพย์มาตรฐานและปัจจัยในการคำนวณแบบเดิมที่ไม่จำเป็น ด้วยตัวแปรใหม่ให้ ซึ่งมีความเหมาะสมกับอุตสาหกรรมและโมเดลทางธุรกิจของบริษัทนั้นๆ เช่นการนำตัวเลขเชิง Traffic หรือ KPI หลักของบริษัทเข้ามาประกอบในโมเดลด้วย ความซับซ้อนของวิธีนี้คือการต้องสร้างโมเดลใหม่เกือบทุกครั้งในการประเมินมูลค่า เพราะบริษัทในแต่ละอุตสาหรรม รวมถึงโมเดลทางธุรกิจที่แตกต่างกัน ย่อมมีตัวแปรในการสร้างมูลค่าที่แตกต่างกันไปด้วย และเช่นกัน วิธินี้ก็ยังต้องใช้ Discount Rate ในการคิดคำนวณมูลค่าสุดท้ายเช่นกัน 

ซึ่งเรื่องที่ว่าด้วยสมมติฐาน อคติ ความเชื่อ และความคิดเห็นส่วนตัวนี้เอง ที่ทำให้คุณฉัตรมองว่าการประเมินมูลค่าของบริษัท ในท้ายที่สุดแล้ว ถูกกำหนดด้วยปัจจัยที่มีความเป็นศิลปะมากกว่าความเป็นศาสตร์

คุณฉัตรยังให้ความเห็นจากปราบการณ์ส่วนตัวกว่า 6 ปีในฐานะ Venture Capital (VC)  ไทยคนแรกๆ ที่บริหารกองทุนจากต่างประเทศว่า 

มูลค่ากับราคาไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะนักลงทุนแต่ละคนนอกจากจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ยังมีความคาดหวังต่อผลกำไรจากความเสี่ยงระดับเดียวกันไม่เท่ากันอีกด้วย 

สำหรับขั้นตอนการระดมทุนบริษัทนั้น คุณฉัตรแนะนำว่า อย่าตั้งราคาสูงเกินความเป็นจริง และอย่าระดมทุนในจำนวนที่มากเกินความจำเป็น แต่ให้คิดว่าบริษัทต้องการใช้เงินเท่าไร เพื่อที่จะไปให้ถึงขั้นของการระดมทุนรอบถัดไป ต้องปั้น KPI หลักของธุรกิจไปได้ถึงระดับไหน ในระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น 12-24 เดือน อย่าไปจับจดอยู่กับการระดมทุนให้ได้ในราคาที่แพงที่สุด เพราะถ้ามันไม่ได้สะท้อนข้อมูลพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัทแล้วล่ะก็ การได้ราคาที่สูงเกินไปจะสร้างแรงกดดันที่ไม่จำเป็นให้กับตัวผู้ประกอบการเอง และอาจระดมทุนรอบต่อไปได้อย่างยากลำบาก ราคาที่เหมาะสมเท่านั้น ที่นักลงทุนจะสนใจลงทุนด้วย  

ข่าวสารและข้อมูลเป็นอาวุธสำคัญ ตามที่ซุนวูได้กล่าวเอาไว้ในตำราพิชัยสงครามว่า ‘รู้เข้ารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา’ การจะเข้าไปพูดคุยกับนักลงทุนควรทำการบ้านมาก่อน ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับนักลงทุนหรือ Venture Capital (VC) เจ้านั้นๆ ว่ามีความสนใจในธุรกิจประเภทไหน อุตสาหกรรมใด ลงทุนในประเทศใดบ้าง มีการลงทุนใน stage ไหน ขนาดของกองทุนที่ใช้ลงทุนมีมูลค่าเท่าใด ลงทุนกับเจ้าใดมาแล้วบ้าง ประสบความสำเร็จกับธุรกิจประเภทไหนเป็นพิเศษ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและความเคารพในการเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจ หากเราทำการบ้านในเบื้องต้นมาดี ก็จะสามารถเลือกหานักลงทุนที่น่าจะมีความสนใจในธุรกิจของเราเป็นพิเศษ และนั่นย่อมหมายถึงอัตราความสำเร็จในการขอเงินลงทุนที่สูงกว่า

Roadmap to Unicorn

โดยหัวข้อนี้คลอบคลุมในเรื่องของการที่ Venture Capital (VC) จะลงทุนใน Tech Company จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยมีคุณ Nichapat Ark , Thailand Coverage Openspace Ventures  มาให้ความรู้

คุณ Nichapat  ได้เล่าถึงการลงทุนในหลายบริษัทที่ผ่านมา เช่น การลงทุนใน Serie-A ของ Gojek โดยหลักการพิจารณานักลงทุนคือ ควรดูว่านักลงทุนเน้นการลงทุนกลุ่มไหนจะให้ คุณค่ากับ บริษัทอย่างไร และมีความสำเร็จในการลงทุนอะไรมาบ้างแล้ว

ก่อน Investor จะลงทุนใน Tech Company จะมีการลงนามใน Term Sheet ซึ่งเป็นข้อตกลง ระหว่าง Tech Company กับ Lead Investor โดย การลงนามใน Term Sheet ไม่ได้หมายความว่า Investor จะตกลงลงทุน โดยเพียงเป็นการลงนามว่า ฉันมีความสนใจที่จะลงทุน และต้องการหุ้นเท่านี้ โดยภายใน 3 เดือน จะไม่คุย Lead Investor คนอื่น แต่สามารถคุยกับ Co-Investor ได้ ทั้งนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเซ็นต์ Term Sheet ได้แก่

Investor จะมีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องต่างๆ ได้แก่

  • Financial Due Diligence

  • Legal Due Diligence

  • Fouder’s Background Due Diligence : ตรวจสอบ Founder

Form up the funding round คือ Startup กับ Investor จะร่วมกันหาผู้ร่วมลงทุน (Co-Investor) ในรอบนี้

และหลังจากการลงทุนแล้ว คือขั้นตอน 100 วันแรกหลังการลงเงิน โดยขั้นตอนที่นานที่สุดหลังการ ลงนาม therm sheet คือ การทำ 100 day plan

ทั้งนี้คุณ Nichapat ได้ให้ความเห็นว่า Investor ไม่ใช่เจ้านาย แต่เป็นที่ปรึกษาได้ และการ Exit ไม่ใช่เรื่องของ IPO อย่างเดียว อาจเป็น M&A ก็ได้ และการขอการสนับสนุนจากนักลงทุน อย่าคาดหวังว่าพวกเขาจะรู้ว่าคุณต้องการอะไร แต่นักลงทุนอาจสามารถคาดการณ์ สิ่งที่คุณต้องการก่อนที่คุณจะรู้
สำหรับหลักสูตร SCB IBE มียาวต่อเนื่อง26 สัปดาห์ถึงเดือนมีนาคม ซึ่ง Techsauce จะสรุปคอร์สอื่นๆมาให้ผู้อ่านต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวสัมมนาหลักสูตรที่น่าสนใจ ได้ที่  https://scbsme.scb.co.th

#SCBNIA #SCBIBE #SCBSME #SCBWITHPURPOSE

บทความนี้เป็น Advertorial


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...