รู้จัก Noburo กับการนำเทคโนโลยีช่วยคนไทยปลดหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน

รู้จัก Noburo กับการนำเทคโนโลยีช่วยคนไทยปลดหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน

Noburo

“มันขึ้นอยู่กับสองอย่างนะ คือการมีความตั้งใจที่จะทำมัน เริ่มลงมือทำ ค้นหาคำตอบไปเรื่อยๆ อีกหนึ่งอย่างคือโอกาส พอสองสิ่งนี้ได้มาเจอกัน มันก็จะมีอะไรเกิดขึ้นมา”

คุณดิว ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล, ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Noburo (โนบุโระ) FinTech Startup แพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการสวัสดิการทางด้านการเงินและสินเชื่อแก่พนักงานบริษัท กล่าวไว้ในคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ

เมื่อไอเดียมันเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างสำเร็จ คุณต้องทำต่อไปเรื่อยๆ และด้วยความเป็น Startup มันไม่มีอะไรที่จะอยู่นิ่ง มันเปลี่ยนไปทุกวัน เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากทำอะไร ลงมือทำเลย เลือกในสิ่งที่ตัวเองถนัดหรือสิ่งที่รัก ดึงมันขึ้นมาทำ แล้วเดี๋ยวก็จะเจอทางของมันเอง

Dew Noburo

แก้หนี้นอกระบบ หนึ่งในความทุกข์ของคนไทย

Noburo (โนบุโระ)ป็น FinTech Startup ในกลุ่ม dtac Accelerate batch 6 เป็นระบบวางแผนการเงินอัจฉริยะ โดยออกแบบให้เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ด้วยคอนเซ็ปท์ของสวัสดิการทางด้านการเงิน (financial wellness services for blue-collar workers) ดูเแลช่วยเหลือผู้กู้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างยั่งยืน

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 2018 พบว่าหนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงขึ้นจากปี 2017 ถึง 5.8% โดยสัดส่วนของหนี้นอกระบบสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งคุณดิวได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“มีหลายสถาบันทางการเงินที่มีความตั้งใจในการช่วยประชาชนในการปลดหนี้นอกระบบ แต่มันเหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งๆ ที่เราได้พยายามออกสถาบันทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยในการปลดหนี้ แต่มันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ”

“มันมีเคสอย่างเช่น ที่เราไปช่วยคุณลุงคนนึง เขาไปกู้ในระบบเพื่อมาปลดหนี้ในระบบ เมื่อสามปีที่แล้วมีหนี้เป็นแสน พอปลดหนี้ได้ ผ่านไปสามปี ก็กลับไปเป็นหนี้เหมือนเดิม”

Noburo

Noburoแสดงว่าการที่เรานำเงินให้เขาไปปิดหนี้ มันไม่ได้เป็นการช่วยแก้ปัญหาจริงๆ

เรามองว่าเราไม่ได้ให้เงินก้อนแก่ลูกค้าเพื่อไปปิดหนี้ แต่เราสอนเขา ให้เขาสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ สามารถสร้างความรู้ทางการเงินที่แข็งแรงให้ แล้วเขาจะเกิดความภาคภูมิใจ

เปรียบเทียบกับคนอ้วน การที่เราให้เงินก้อนไปปิดหนี้ เปรียบเสมือนกับการให้กินยาลดความอ้วน แต่การที่เราเข้าไปช่วยเขาในการสร้างวินัยทางการเงิน มันเป็นเหมือนการให้เขาออกไปออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้เขาแข็งแรงขึ้นมาจริงๆ

มองปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทยอย่างไร

ปัญหานี้นอกระบบเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง กลุ่มที่เราทำการโฟกัสอยู่คือกลุ่มพนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่งมีรายได้ไม่พอรายจ่าย รายจ่ายของเขาจะมาจากเหตุฉุกเฉิน หรือการส่งเงินไปให้ทางครอบครัวที่ต่างจังหวัด ซึ่งกลุ่มที่ย้ายมาทำงานในเมือง จะมีค่านิยมในเรื่องครอบครัวเป็นใหญ่พอสมควร นอกจากนี้จะเป็นเรื่องของการมีบุตร คนกลุ่มนี้จะมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อย และลูกจะฝากให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดเลี้ยง โดยค่าใช้จ่ายประมาณ 30-40% จะถูกส่งไปให้พ่อแม่ ที่เหลือใช้จ่ายและใช้หนี้

คนกลุ่มนี้เข้ามากู้ในระบบได้ แต่เนื่องจากนโยบายถูกจำกัดโดยแบงค์ชาติ เช่น สามารถมีสินเชื่อได้ไม่เกิน 3 แห่ง แห่งละไม่เกิน 1.5 เท่า แต่ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้จัดการค่าใช้จ่ายไม่ทัน จึงต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ

ทีมเราได้ทำการสำรวจตลาดอย่างจริงจังเพื่อนำมาออกแบบระบบ ทั้งกับทางโรงงาน และกลุ่มพนักงานร้านอาหาร พบว่าเกือบ 100% ของผู้ที่ทำแบบสอบถามไม่มีความรู้การเงิน 70% ไม่มีเงินเก็บ และอีก 40% เป็นหนี้นอกระบบ ยอดหนี้โดยเฉลี่ย 50,000 บาท หรือบางรายแตะถึงระดับแสน

Nobu Advisor เครื่องมือช่วยจัดการปัญหาทางการเงินอย่างยั่งยืน

'Nobu advisor' เป็นโซลูชั่นที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาปลดหนี้หนักงาน เปรียบเสมือน Financial management tool ที่ช่วยวางแผนจัดการปัญหาทางการเงินอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังลิงค์กับสถาบันการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อเป็น micro loan เพื่อนำมารีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ

อีกทั้งยังมี ‘Noburo score’ ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการสร้างวินัยทางการเงิน เช่นการทำรายรับรายจ่าย ให้ความรู้ทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการทำงาน เช่น เรื่องการขาด ลา มาสาย ที่จะเชื่อมโยงกับทางฝ่ายนายจ้าง นี่เองที่ทางบริษัทจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างแรงผลักดันให้พนักงาน เมื่อพวกเขามีวินัยการเงิน บวกกับ ความตั้งใจในการทำงานมากขึ้น แต้มคะแนนใน ‘Noburo score’ ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผล ให้บันไดวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่นนี้พวกเขาจะสามารถทำการปลดหนี้ได้เร็วขึ้นไปอีก

นำ Technology เข้ามาช่วยจัดการระบบอย่างไร

เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยทางเราได้เลือกนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มปล่อยกู้สำหรับธุรกิจ มองย้อนไปชีวิตก่อนและหลัง Facebook นั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย เราเลยมองว่า จริงๆ แล้วเทคโนโลยีน่าจะเป็นอะไรที่ช่วยเปลี่ยนให้คนดีขึ้นได้ ไม่เฉพาะเรื่องความบันเทิง แต่รวมถึงเรื่องการเงินด้วย

เราพยายาม automate อะไรหลายๆ อย่าง อันดับแรก ผู้ใช้งานจะต้อง on board กับเราเพื่อเช็คอุณหภูมิทางการเงินก่อน จะต้องบอกเราว่า เขาทำอะไรบ้าง มีหนี้เท่าไร ค่าใช้จ่ายอะไร มีรายรับอะไรบ้าง เราได้นำเทคโนโลยีมา digitize ระบบ Nobu advisor นอกจากนี้ยังมีระบบอนาไลติกส์เข้ามาช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้อย่างถาวรและอย่างยั่งยืน โดยระบบจะทำการคิดแผนปลดหนี้ แนะนำการใช้จ่าย แนะนำการปลดหนี้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถปลดหนี้นอกระบบได้เร็วที่สุด เพราะหลังจากปลดหนี้ได้หมด ดอกเบี้ยที่ต้องนำไปจ่ายหนี้นอกระบบ สามารถนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ เช่นการตั้งเป้าหมายในชีวิตทางการเงินได้

พฤติกรรมการใช้งานบนระบบ ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้แอพมีแรงกระตุ้นให้อยากมีวินัยทางการเงินมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้จะถูกแปลงมาเป็น Noburo score

ขั้นตอนดำเนินการตั้งแต่การเข้าระบบจนถึงการปลดหนี้

ทางเราจะเข้าไปทำการประสานงานกับทางบริษัท หากทาง HR สนใจในการช่วยแก้ปัญหาให้พนักงาน ก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ โดยให้พนักงานโหลดแอพพลิเคชัน หลังจากนั้น ผู้ใช้งานสามารถเข้ามา on board ได้ทันที ผ่าน 'โครงการ Money Buddy' เพื่อนซี้ทางการเงิน

Noburoตอนนี้มีผู้เข้าใช้งานแล้วกี่คน

ตอนนี้มี Employee pool เข้ามาประมาณ 5,000 คน เราได้ช่วยไปส่วนหนึ่ง หลังจากนี้เราต้องการจะขยายโครงการของเราให้ช่วยคนได้มากขึ้นมากขึ้น และกำลังมองหาบริษัทที่อยากจะช่วยพนักงานได้มาร่วมมือกัน ซึ่งกลุ่มที่ได้ทำงานร่วมกันไปแล้วก็คือกลุ่มโรงงาน กลุ่มโรงแรม และกลุ่มร้านอาหาร

ระยะเวลาในการปลดนี้ที่เร็วที่สุดคือประมาณเท่าไร

ที่เร็วที่สุดคือประมาณ 4-6 เดือนค่ะ ปลดหนี้ไปได้กว่า 70%

มองว่านี่คือสวัสดิการที่บริษัทสามารถมอบให้พนักงานด้วยหรือเปล่า

ใช่ค่ะ ส่วนตัวเรามองว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นเรื่องของตัวพนักงานในการสู้เพียงลำพัง หากนายจ้างไม่ได้เข้ามาช่วย หรือทาง HR ไม่ได้เห็นความสำคัญ พนักงานจะรู้สึกว่าเขาไม่มีทางออก ชีวิตจะต้องหมุนเงินไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้องไปพึ่งนี้นอกระบบ ต้องเจอกับทางทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มันก็จะเกิดเป็นวัฏจักรในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นเมื่อเขาสามารถทำการปลดหนี้ได้ จะรู้สึกว่ามีเป้าหมายในชีวิต รู้ว่าเกิดมาจะมีสักวันที่มีเงินเก็บ มองว่าทั้งหมดนี้มันเชื่อมโยงกับเรื่องสวัสดิการโดยตรง

พูดถึงเคสที่ประสบความสำเร็จให้ฟังได้ไหม

คุณ A เป็นหนึ่งในพนักงานของทาง Bar B Q Plaza สาเหตุจากการเป็นหนี้เกิดจากการโดนโกงในการเล่นแชร์ จากที่ตอนแรกเป็นหนี้หลักหมื่น หลังจากถูกโกงทำให้หนี้พอกพูนขึ้นเป็นแสน หมุนหนี้แบบนี้มาเป็นสิบปี ตลาดหลายปีที่ผ่านมาสมุดบัญชีไม่เคยอยู่กับตัว เพราะโดนทางเจ้าหนี้ยึดไว้ แต่หลังจากเข้าโครงการเรา ผ่านไปได้ 4 เดือนก็สามารถปลดหนี้นอกระบบได้หมด  ซึ่งในตอนแรกระบบคาดการณ์ว่าจะสามารถทำการปลดจำนวนหนี้ก้อนนี้ได้ภายใน 24 เดือน แต่เพราะความมีวินัยของผู้ใช้เอง ซึ่งในระหว่างที่ on board เราก็จะทำการอัพเดท Noburo score อยู่ตลอดเวลา ที่เชื่อมโยงกับระยะเวลาในการปลดหนี้ด้วย ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้มีแรงบันดาลใจในการปลดหนี้ได้เร็วขึ้น

มีหลายเคสที่เป็นเหมือนเคสนี้ค่ะ พอลูกค้าเข้ามาในระบบเรา เมื่อผ่านไปช่วงเดือนที่ 2-3 ก็จะเห็นได้ว่าชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนไป เพราะเวลาคนเป็นหนี้จะต้องคิดอยู่ตลอดว่าในแต่ละเดือนจะหมุนเงินไปทางไหน พอเข้าโครงการเรา จะต้องทำตามแผนที่เรากำหนด และจะสามารถปลดหนี้ได้ เมื่อได้หลุดจากการเป็นหนี้ จะรู้สึกเหมือนได้เป็นอีกคน และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

กว่าจะมาเป็น Noburo

คุณดิวเล่าว่า ก่อนหน้านี้หลังจากเรียนจบได้ทำงานด้านที่ปรึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นและไทยมาก่อน แต่โดยส่วนตัวมีความสนใจช่วยเหลืองานด้านสังคมอยู่แล้ว มีความตั้งใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจน และมีโอกาสได้กลับมาช่วยบริหารงานบริษัทครอบครัว ซึ่งก็คือ บริษัท ไอทีทีพี (ITTP) สถาบันการเงินสินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้เห็นปัญหาทางการเงินของสังคมไทย

"จากการทำงานที่ผ่านมา ได้เห็นลักษณะการช่วยคนปลดหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มองว่ามันเหมือนเป็นการส่งเสริมให้คนเป็นหนี้มากขึ้น อาจจะด้วยเรื่องของกลไกทางการตลาด หรือรูปแบบธุรกิจที่ถูกผลักดันให้ดำเนินไปทางนั้น เลยทำให้คนรายได้น้อยไม่สามารถที่จะรู้ว่าจะต้องจัดการทางการเงินอย่างไร

Noburo เองก็มาจากการการสำรวจตลาด ทำความเข้าใจลูกค้า ค้นหาคำตอบว่าอะไรที่จะเป็นการช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนจริงๆ จนได้ไปเจอโมเดลของอาจารย์มนัสที่ได้ช่วยพนักงาน 300 คน สามารถปลดหนี้ 10 ล้านภายใน 3 ปี เราเข้าไปขอความรู้และทำความเข้าใจ ต่อยอดจนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มของเราเอง จากนั้นจึงเริ่มคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถ scale ได้มากขึ้น เข้าถึงคนได้มากขึ้น"

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำ Startup

มันขึ้นอยู่กับสองอย่างนะ คือเรามีความตั้งใจที่จะทำมัน เริ่มลงมือทำ ค้นหาคำตอบไปเรื่อยๆ อีกสิ่งหนึ่งคือโอกาส พอสองอย่างนี้ได้มาเจอกัน มันก็จะมีอะไรเกิดขึ้นมา เมื่อมันเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ไม่ได้แปลว่าคุณสำเร็จแล้ว คุณต้องทำต่อไปเรื่อยๆ และด้วยความเป็น Startup มันไม่มีอะไรที่จะอยู่นิ่ง มันเปลี่ยนไปทุกวัน เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากทำอะไร ลงมือทำเลย เลือกในสิ่งที่ตัวเองถนัดหรือสิ่งที่รัก ดึงมันขึ้นมาทำ และเดี๋ยวก็จะเจอทางของมันเอง

ถ้ามีไอเดียอะไรก็ลองทำดู ถ้าล้มเหลวก็ช่างมัน ต้องไม่กลัวที่จะ fail พอล้มเหลวแล้วเราจะเรียนรู้จากมันเอง

ความท้าทายที่เจอในการทำ Startup

คิดว่าทุกคนที่ทำ Startup น่าจะต้องเจออุปสรรคเหมือนๆ กัน ทั้งหลายๆ อย่างไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ นอกจากนี้เรื่องทีมก็สำคัญ การที่จะหาคนดีๆ เข้ามาร่วมทีมนั้นไม่ง่าย ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังหาคนร่วมทีมอยู่ ซึ่งการที่จะหาคนเก่งมาร่วมทีมนั้น เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งตรงไหน ใช้จุดแข็งของตัวเองให้เป็นประโยชน์ แล้วหาคนอื่นมาช่วยเสริมในสิ่งที่เราไม่ถนัด อีกทั้งเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์ให้เสร็จทันไทม์ไลน์ก็ท้าทายเหมือนกัน

การที่จะหาคนเก่งมาร่วมทีมนั้น เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งตรงไหน ใช้จุดแข็งของตัวเองให้เป็นประโยชน์ แล้วหาคนอื่นมาช่วยเสริมในสิ่งที่เราไม่ถนัด

Noburo

สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไปคือ ‘ทีม’ เรารู้สึกว่าทุกคนทำงานด้วยใจ ทั้งทีมที่เจอหน้ากันทุกวัน และทีมที่ปรึกษา ทุกคนที่มาช่วย พวกเขามองเห็นว่าเรากำลังจะช่วยคนจำนวนมาก เราเข้าไปช่วยเขาอย่างจริงจัง และเรากำลังสร้างสิ่งดีๆ ให้กับผู้คน ซึ่งเรารู้สึกขอบคุณที่ทุกคนเข้ามาร่วมสร้าง Noburo ให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้

นอกจากนี้การสร้างพาร์ทเนอร์ชิพนั้นก็สำคัญ ซึ่งในตอนนี้ Noburo ก็กำลังมองหาพาร์ทเนอร์ทั้งสถาบันการเงิน บริษัทภาคบริการ ธุรกิจร้านอาหาร และอุตสาหกรรมการผลิต ที่ต้องการดูแลพนักงานในการจัดการปัญหาทางการเงินอย่างถาวรและยั่งยืน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ONNEX by SCG Smart Living รุก 'ตลาดโซลาร์' รับโลกเดือด ดันโมเดลธุรกิจ EPC+ 5 รูปแบบ

ONNEX by SCG Smart Living เปิดแผน EPC+ Business Model 5 รูปแบบ ทั้งโมเดลสำหรับผู้ประกอบการ, เจ้าของโครงการ, นักลงทุน, บริษัทในเครือข่าย และตัวแทนอิสระ...

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...

Responsive image

ส่องกฎหมายและนโยบายที่ดึง Silicon Valley มาลงทุนในอินโดนีเซีย

บทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะลึกกับ 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อินโดนีเซียได้รับความสนใจจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในช่วงเวลานี้...