Organic farming (เกษตรอินทรีย์) คือรากฐานให้สาวเหนืออย่างจิราวรรณ คำซาว ผู้เคยฝันจะยึดวิชาชีพนักวิจัยเลือกผันตัวสู่วงจรเพาะปลูกที่เธอพยายามเหลีกหนีมาตั้งแต่เด็ก ด้วยค้นพบว่าหากยกระดับด้วย R&D แล้วไม่เพียงช่วยให้ผู้บริโภคอยู่ดีมีสุขเท่านั้น ยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มั่นคงและยั่งยืนได้เช่นกัน จึงนำไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการด้าน Healthy Products ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเห็ดถั่งเช่าสายพันธ์ุไทยเป็นแกนหลัก ก่อนร่วมมือกับพันธมิตรสายแข็งสู่ลู่ทางใหม่ เช่น เครื่องสำอาง Functional drinks และปุ๋ยอินทรีย์
จิราวรรณ คำซาว ประธาน บริษัทซีเอ็นเอ็กซ์ เฮลท์ตี้โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวิจัย ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Healthy Products) จากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ท้องถิ่น เล่าถึงที่มาก่อนจะปักหลักในฐานะผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่เลือกเส้นทางธุรกิจเกษตรกรรมเชิงวิจัยว่า
จากประสบการณ์วัยเด็กที่ไม่สนุกกับงานเพาะปลูกของครอบครัวที่ตั้งรกรากอยู่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพราะทำให้เธอทั้งเหนื่อยและร้อน จึงยึดมั่นกับคำสอนของพ่อแม่ที่บอกว่าถ้าไม่อยากลำบากทำไร่ทำนาก็ให้ตั้งใจเรียนสูง ๆ หลอมรวมกับวิถีชีวิตที่ได้ติดตามพ่อและปู่ไปศึกษาเรื่องพืชสมุนไพรในป่าอยู่เป็นประจำ ตลอดจนชื่นชอบกับการสังเกตุและทดลองในเรื่องต่าง ๆ
ในที่สุดจิราวรรณจึงฝันที่จะเติบโตขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยเลือกเรียนปริญญาตรี ด้านชีววิทยา แล้วต่อด้วยปริญญาโททางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จึงเป็นโอกาสให้เธอได้ทำงานเป็นนักวิจัยให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พอจบปริญญาโทก็มาทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ช่วงหนึ่ง จึงทำเรื่องการส่งเสริมผลผลิตภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี จึงพบว่าภาคการเกษตรจะพัฒนาได้ต้องเริ่มจากปัจจัยการผลิต เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนได้
ไม่เพียงเท่านั้นเธอเชื่อว่า การต่อยอดด้านวิทยาศาสตร์และเกษตรกรรมไปสู่ธุรกิจได้นั้น ต้องพึ่งพาการนำทรัพยากรที่อยู่ในธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตมาบวกกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในลักษณะของผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป
อย่างไรก็ตามด้วย passion แรงกล้าที่มีต่อด้านการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D (Research and Development) ทำให้ในวันนี้เธอก็ยังเรียนต่อปริญญาเอก ด้านจุลชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทว่าจุดพลิกผันที่ทำให้จิราวรรณเริ่มสนใจในเรื่อง Organic farming เกิดจากเมื่อครั้งที่เธอไปตรวจพบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือด ซึ่งเมื่อย้อนรอยกลับไปก็พบว่าเกิดจากการบริโภคอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่ปนเปลื้อนสารพิษตั้งแต่การเพาะปลูกนั่นเอง
จากเรื่องนี้ทำให้คิดว่าเราควรปรุงยาตั้งแต่ดินที่ใช้เพาะปลูกเลย ซึ่งอาชีพเกษตรกรคือรากฐานที่จะก่อให้เกิดสิ่งนั้นได้ โดยเปลี่ยนจากนักวิทยาศาสตร์ที่ผลิตยาตอนท้ายแต่มาเริ่มทำตั้งแต่แรกแทน
แต่จุดที่ทำให้เธอเลือกทำธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเห็ดถั่งเช่า หรือ ถั่งเฉ้า (cordyceps mushroom หรือเห็ดที่เกิดขึ้นจากการที่เชื้อราเจริญบนซากหนอนแมลง) สายพันธ์ุไทย ก็มาจากพื้นฐานที่เธอเคยทำวิจัยเพื่อเป็นปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับสูตรอาหารที่เลี้ยงเห็ดถั่งเช่าออแกนิคสูตรเจ ซึ่งสามารถผลิตจากวัตถุดิบภาคการเกษตรอินทรีย์ได้ ควบคู่การกับพัฒนาสายพันธุ์ของเห็ดให้มีสารทางยาสูงขึ้น
ในที่สุด จิราวรรณ จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดแล้วเปลี่ยนการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีไปสู่แนวทาง Organic farming เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่วัตถุดิบและยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ด้วยการนำความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพที่เธอร่ำเรียนมาไปต่อยอดวัตถุดิบที่เพาะปลูกโดยกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว ที่เธอเป็นหนึ่งในสมาชิก
กระทั่งนำไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปตัวแรกในชื่อ ALFAMA™ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเห็ดถั่งเช่าอินทรีย์สูตรเจ ที่โดดเด่นในเรื่องเพิ่มออกซิเจนในเลือดและสร้างเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกาย ที่บริหารจัดการโดยบริษัท ซีเอ็นเอ็กซ์ฯ ที่จิราวรรณและเพื่อน ๆ นำเงินเก็บเพียงไม่กี่หมื่นบาทก่อตั้งขึ้น ขณะที่เครื่องมือสำคัญอย่างศูนย์วิจัยที่ต้องใช้เงินทุนเป็นสิบล้านบาทนั้น ต้องพึ่งพาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่แทน และใช้ความสามารถส่วนตัวรับบทบาทนักวิจัยเอง ในส่วนการผลิตก็จ้างวานโรงงานภายนอกที่รับทำ OEM เป็นผู้ผลิตให้
ผลตอบรับแม้จะมีลูกค้าบางส่วนที่เป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานซื้อย่างต่อเนื่องบ้าง แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัด เพราะเราไม่เก่งการตลาดจึงให้ผลิตภัณฑ์ขายตัวเองซึ่งก็เป็นไปได้ช้ามาก ซึ่งสุดท้ายก็ทำยอดขายสู้คนอื่นไม่ได้ จึงต้องเลือกเปลี่ยนไปทำอีกทาง เช่น สกัดเป็นเครื่องสำอาง
จากก้าวแรกของการค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ALFAMA™ ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทักษะด้านการตลาดที่ไม่แข็งแรงนักของเธอ แล้วยังต้องแบ่งเวลาไปแก้ปัญหาเรื่องปัญหาฝุ่นฝุ่นละออง PM2.5 ตลอดจนต้องแบ่งภาคไปดูแลปัญหาไฟป่าในพื้นที่บ้านเกิดที่อำเภอเชียงดาว ด้วยเป็นแหล่งเพาะปลูกวัตถุดิบหลัก ทำให้จิราวรรณพบว่าการมีคู่ค้าที่เชี่ยวชาญและเป็นตัวจริงในเรื่องนั้น ๆ จะเป็นหนทางที่ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคตแจ้งเกิดได้
โดยจิราวรณยังร่วมมือกับ ชุดารี เทพาคำ (Top Chef Thailand คนแรกของประเทศไทย) หรือที่ใคร ๆ ต่างรู้จักกันในนาม ‘เชฟตาม’ พัฒนาผลิตภัณฑ์ functional drinks ออกวางขาย
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะวางจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถทำ Organic farming ได้สะดวกสบายขึ้นโดยไม่ต้องหมักปุ๋ยเอง ทางบริษัทซีเอ็นเอ็กซ์ ฯ จึงร่วมมือกับ บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพภายใต้แบรนด์ All Bio เพื่อเน้นตอบโจทย์เกษตรกรภาคอินทรีย์เพื่อให้ทดแทนการใช้สารเคมี
ทั้งนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่าง ๆ ของบริษัทซีเอ็นเอ็กซ์ ฯ ยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิมที่ใช้ผลผลิตที่เป็น organic ขนานแท้ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว ที่เพาะปลูกในรูปแบบ Organic farming ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งเห็ดถั่งเช่าพันธ์ไทยและดอกกุหลาบอบแห้ง
เราถนัดในเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ส่วนการตลาดก็ให้พันธมิตรที่แข็งแรงในเรื่องนั้น ๆ มาช่วย
จากแนวคิดที่จิราวรรณต้องการวางแนวทางธุรกิจของ บริษัทซีเอ็นเอ็กซ์ ฯ ให้สามารถสนับสนุนและครอบคลุมในสิ่งที่เธอเรียกว่า “อยู่ดีมีสุข” ได้อย่างครบถ้วนจริง ๆ ในลักษณะการจัดการด้าน Organic Tourism ที่ไม่ใช่จำกัดเพียงแค่เรื่อง Healthy products แต่ครอบคลุมทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร ความสวยความงาน กิจกรรมที่ให้ความสนุกและให้ความรู้ ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ กับชุมชนและธรรมชาติ
ล่าสุดจึงเริ่มฉีกสู่ธุรกิจใหม่ในแนวคิด Organic Tourism โดยล่าสุดเริ่มที่รับจัดงานในส่วน EAT CLEAN ZONE ของงาน มหกรรมอาหาร "AMAZING THAI TASTE FESTIVAL 2019 STREET FOOD AND MICHELIN" ที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เราต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภครู้ว่าเวลากินอาหารควรรู้ตั้งแต่ต้นว่าวัตถุดิบมาจากไหน ถ้าวัตถุดิบดีแล้วอร่อยอย่างไร ตลอดจนตามวัตถุดิบไปท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตได้
จิราวรรณฝากถึงคนรุ่นใหม่หรือใครก็ตามที่อยากเดิมตามฝันของตัวเองว่า “เริ่มลงมือทำเลย ไม่ต้องกลัว เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีปัญหา แต่ต้องแก้ให้เร็ว ซึ่งการเชื่อมโยงเครือข่ายกับ partner จะช่วยให้รอดได้”
สำหรับการรอดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น จิราวรรณย้ำด้วย “เพื่อน” คือตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เธอผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ เพราะเธอเคยเลือกที่จะทำเองทุกเรื่องแต่ก็ไม่สำเร็จ จนเมื่อเริ่มมองหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ แต่มีอุดมการณ์หรือแนวร่วมเดียวกัน มาร่วมทำโครงการร่วมกัน ก็ช่วยให้ผ่านวิกฤติและทำจนสำเร็จมาได้
ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังฝากถึงลูกหลานเกษตรกรที่เคยปฏิเสธการหาเลี้ยงชีพแบบดั้งเดิมของครอบครัวว่า ปัจจุบันบุคลากรในภาคการเกษตรมีาอายุสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากประเทศขาดคนที่จะมาผลิตอาหารแล้วก็ส่งผลต่ออาชีพอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน จึงอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศหรือผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรม จึงย่อมมีโอกาสเจอกับอาหารปลอมแปลงหรืออาหารที่คุณไม่ดีซึ่งมีผลกับสุขภาพร่างกาย ที่สุดท้ายแล้วจะส่งผลเสียกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
อย่างไรก็ตามเธอยืนยันว่าวิชาชีพการเกษตรไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อนและไม่ใช่งานยาก เพียงขอให้มีพื้นที่เพาะปลูกและลงมือทำ ทุกคนก็สามารถเป็น Smart Farmer ได้ เพราะการที่จะให้ประชากรในประเทศมีคุณภาพต้องเริ่มจากอาหาร จึงควรให้คนเก่ง ๆ มาผลิตอาหาร เช่นเดียวกับที่ให้มาพัฒนาแวดวงการศึกษาด้วย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเจริญกว่านี้ได้
คนรุ่นใหม่ควรมาทำภาพเกษตรบ้าง เพราะเมื่อมีคนหลากหลายอาชีพมาทำจะช่วยให้ภาคเกษตรเข้มแข็งขึ้น และสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพให้แก่คนในประเทศได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด