3 เทรนด์ประกันรถยนต์น่ารู้ แห่งปี 2023 และทำความรู้จัก ประกัน Tesla ผ่าน Priceza Money | Techsauce

3 เทรนด์ประกันรถยนต์น่ารู้ แห่งปี 2023 และทำความรู้จัก ประกัน Tesla ผ่าน Priceza Money

คุ้นเคยกับชื่อของ Priceza แพลตฟอร์มรวมแหล่งค้าปลีกออนไลน์ที่คนไทยเสิร์ชเพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้ากันมาหลายปี รู้ไหมว่า มีไลน์ธุรกิจใหม่ ‘Priceza Money' เว็บเปรียบเทียบประกันรถยนต์และ Insurance Content Creator ที่เพิ่งประกาศเปิดตัวหลังจากให้บริการมาแล้ว 2 ปี 

โควิดเป็นเหตุ จับสังเกต ‘ประกัน’ ยกใหญ่

พิษโควิดที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สังคม เศรษฐกิจ เขย่าธุรกิจประกันหลายเจ้าที่จ่ายค่าชดเชยไม่ไหวจนต้องอำลาวงการหรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Priceza จึงสร้าง Priceza Money (Money.priceza.com) เว็บเปรียบเทียบประกันรถยนต์ขึ้น โดยเปิดตัวเว็บพร้อมกับแนะนำ สิริวิชญ์ ชญาวานิช Head of Priceza Money 

นายสิริวิชญ์เล่าว่า pain point หลักของคนไทยคือ มีคนจำนวนมากที่ซื้อประกันโควิดแล้วไม่ได้รับค่าชดเชย เมื่อจะทำประกันจึงหันมาเลือกแบรนด์หรือบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง เชื่อถือได้ จ่ายค่าชดเชยตามกรมธรรม์ อย่างการเลือกประกันรถยนต์ ผู้ขับขี่ใช้รถน้อยลงเนื่องจาก Work from home หรือไม่ต้องเดินทางไปทำงานในออฟฟิศทุกวัน จึงเริ่มคิดว่า คุ้มไหมที่จะจ่าย ในเมื่อไม่ได้ใช้รถ รวมถึงคำถามอื่นๆ ซื้อประกันชั้น 1 ที่ไหนดี ได้ซ่อมอู่หรือซ่อมศูนย์ ถ้าไม่มีคู่กรณีจะเคลมได้ไหม ฯลฯ 

ด้วยเหตุนี้ Priceza Money จึงเข้ามาอุดช่องโหว่ด้วยการเข้ามาเป็นตัวช่วยผู้ขับขี่ในการเปรียบเทียบประกันรถยนต์ พร้อมเป็น Insurance Content Creator ที่ให้ความรู้ด้านประกันแก่ผู้บริโภค

3 เทรนด์และแนวโน้มของวงการประกันภัยรถยนต์ ปี 2023

จากสถิติบนเว็บ Priceza Money และการเดินทางไปหลายประเทศ นายสิริวิชญ์เผย 3 เทรนด์ที่คนต้องการในปี 2023 ได้แก่ Personalize insurance, Direct to customers และ การเปลี่ยนไปของพฤติกรรมการเลือกซื้อประกันรถยนต์

  • เทรนด์ที่ 1 Personalize insurance 

Personalize insurance คือ ประกันภัยที่ออกแบบตามการใช้งาน โดยนายสิริวิชญ์บอกว่าเนื่องจาก Priceza Money เป็นแพลตฟอร์มที่นำข้อมูลจากหลากบริษัท หลายโบรกเกอร์ มารวมไว้ทั้งหมดเพื่อให้ผู้บริโภคค้นหาได้ว่า ใครขายแล้วให้ราคาดีที่สุด ระยะเวลาผ่อนยาวที่สุด ตรงกับความต้องการมากที่สุด โดยยกตัวอย่างบริษัทประกันรถยนต์ที่มีการค้นหามากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น  ‘ประกันเติมไมล์’ ที่ขับมาก จ่ายมาก ของทิพยประกันภัย ‘ประกันเปิดปิด’ ที่คุ้มครองตามชั่วโมงการขับรถ ของไทยวิวัฒน์ ‘ประกันตามโปรไฟล์ผู้ขับขี่ รู้ใจ’ ที่ออกแบบตามอายุผู้ขับขี่ อายุน้อยจ่ายมาก อายุมากจ่ายน้อยลง เพราะบริษัทมองว่า มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า 

สัดส่วนผู้ค้นหา ‘ประกันเปิดปิด’ ผ่าน google เติบโตจากปี 2019 - 2020 ถึง 73% 

สิริวิชญ์หยิบยกชื่อบริษัทประกัน 3 แบรนด์ที่น่ารู้จักจากเทรนด์ Personalize insurance ที่ใช้กันจนเป็นเรื่องปกติในต่างประเทศมาบอกต่อ ได้แก่ 1) By Miles (สหราชอาณาจักร) ประกันขับมาก จ่ายมาก ขับน้อย จ่ายน้อย 2) Tesla Insurance (สหรัฐอเมริกา) ประกันขับปลอดภัย จ่ายน้อย ขับเร็ว จ่ายแพง และมีการให้ reward เป็นส่วนลดค่าประกันเมื่อขับขี่แบบปลอดภัย และ 3) Geico (สหรัฐอเมริกา) ประกันที่จ่ายเบี้ยตามพื้นที่อยู่อาศัยด้วยรหัสไปรษณีย์ หากเป็นพื้นที่ที่เกิดอาชญากรรมสูงต้องจ่ายแพงกว่า

สิริวิชญ์กล่าวว่า เมื่อก่อนทุกคนจ่ายประกันเท่ากัน แต่พอเปลี่ยนเป็นการเก็บเบี้ยประกันตามการใช้งาน ผู้ขับขี่จ่ายเบี้ยถูกลงโดยเฉลี่ย 30-40% การขายประกันแบบ Personalize insurance จึงถูกใจผู้บริโภค แต่ไม่ถูกใจกลุ่มตัวแทนและโบรกเกอร์มากนัก เนื่องจากได้ค่านายหน้า (commission) น้อยลง

  • เทรนด์ที่ 2 Direct to customers

ตลาดประกันรถยนต์ส่วนใหญ่ขายผ่านประกันและนายหน้า ผู้ขายขายได้ก็จะได้ค่าคอมมิชชัน แต่ประกันออนไลน์เติบโตจาก ‘พฤติกรรมผู้บริโภคที่มาซื้อประกันออนไลน์มากขึ้น’ โดยในปี 2019 – 2020 สัดส่วนตลาดเติบโตมากถึง 223.41% 

สิริวิชญ์ระบุว่า บริษัทประกันจึงเห็นช่องทางการขายแบบ Direct มากขึ้น เช่น ‘ทิพยประกันภัย’ เดิมช่องทางขายหลักทำผ่านโบรกเกอร์ เมื่อทำเว็บขายประกันเอง จากที่มีคนซื้อประกันออนไลน์ 30% ก็เพิ่มขึ้นถึง 80% ในช่วงหลังโควิด จึงไม่มีตัวแทนหรือโบรกเกอร์อีก ต่างจาก ‘ไทยวิวัฒน์ประกันภัย’ ที่เน้นขายประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) ผ่านเว็บ Thaivivat.co.th แต่ก็ยังให้ตัวแทนจำหน่ายและนายหน้าขายโดยได้ค่าคอมมิชชันอยู่ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับตัวแทนให้มากที่สุด

สิริวิชญ์ ชญาวานิช Head of Priceza Money

หากมองภาพรวม ณ ปัจจุบัน ช่องทางการขายประกันรถยนต์แบบ Direct to customers ในไทยมีสัดส่วนราวๆ 1% จากช่องทางการขายประกันรถยนต์ทั้งหมด  ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนการซื้อแบบ Direct เฉลี่ยสูงถึง 25% หรือในสหราชอาณาจักรที่มีสัดส่วนการซื้อเฉลี่ยสูงถึง 30%

สิริวิชญ์เผยว่า หากเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศ  สัดส่วนการซื้อประกันรถยนต์แบบ Direct นำหน้าประเทศไทยเป็น 10 ปี อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศไทยยังเล็กมาก นั่นหมายความว่า ยังมีโอกาสอีกมาก

  • เทรนด์ที่ 3 การเปลี่ยนไปของพฤติกรรมการซื้อประกันรถยนต์

อีกเทรนด์หลังวิกฤตโควิด คือ การเปลี่ยนไปของพฤติกรรมการซื้อประกันรถยนต์ โดยข้อมูลจาก Priceza Money ระบุว่า ช่วงก่อนโควิดถึงระหว่างโควิด พฤติกรรมการเลือกซื้อประกันรถยนต์ของผู้บริโภคจะเน้นที่ ‘ราคาถูก’ เป็นหลัก เนื่องจากผู้ซื้อหรือลูกค้ายังไม่ได้ตระหนักรู้ถึงความต่างของแต่ละบริษัท 

แนวคิด ‘ที่ไหนขายถูก ก็เลือกที่นั่น’ จึงเห็นได้ชัดในช่วงปี 2019-2021 โดยบริษัทประกันรถยนต์ที่ผู้บริโภคนิยมเลือกมากที่สุด ได้แก่ สินมั่นคงประกันภัย ไทยศรีประกันภัย และ รู้ใจประกันภัย ซึ่งมีเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 เฉลี่ยที่ราคา 9,000 - 12,000 บาท 

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Priceza

แต่บทเรียนจากวิกฤตโควิดที่บางบริษัทประกันไม่สามารถจ่ายให้ผู้ติดโควิดได้ ทำให้คนไทยพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันต่างๆ มากขึ้น รวมถึงยอมจ่ายแพงขึ้น ซึ่งถ้าดูเฉพาะประกันรถยนต์ ราคาเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 จากค่าเฉลี่ย 9,000 - 12,000 บาท เพิ่มสูงขึ้นเป็น 15,000-18,000 บาท ในปี 2022 โดยบริษัทประกันที่ได้รับเลือกมากที่สุด คือ วิริยะประกันภัย ธนชาติประกันภัย กรุงเทพประกันภัย สวนทางกับ สินมั่นคงประกันภัย ที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการและยังคงขายประกันรถยนต์ราคาถูก (เฉลี่ย 9,000 บาท) แต่ลูกค้าก็ไม่คิดจะซื้อด้วยแล้ว

ประกันรถยนต์จะมีราคาถูกลง เงินในกระเป๋าผู้บริโภคก็จะลดลง คนจึงคิดมากขึ้นว่า ซื้ออะไรแล้วต้องคุ้มค่า ตอบโจทย์ Personalize คือไม่กลับไปจ่ายแบบเดิมแล้ว เทรนด์ ‘การเลือกบริษัทประกันก่อนราคา’ จึงคาดว่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้าอย่างแน่นอน” 

ธนาวัฒน์กล่าวเสริม พร้อมทั้งอธิบายพฤติกรรมการซื้อของคนไทยที่จะ ‘เลือกมากขึ้น’ นี่จึงเป็นโอกาสของเว็บเปรียบเทียบราคา ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา Priceza Money มี Conversion Rate หรือการเสิร์ชที่นำไปสู่การตัดสินใจซื้อ 20-30% จากที่มีผู้เข้าชมเว็บเฉลี่ยเดือนละ 100,000 คน

ทำความรู้จัก ‘ประกัน Tesla’ ผ่าน Priceza Money

ข้อมูลด้านบนทั้งหมดยังไม่รวมการมาถึงของ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะสามารถเก็บข้อมูลการขับขี่ได้ละเอียดขึ้น โดยบริษัทประกันจะสามารถบริหารความเสี่ยงในการเลือกรับประกันภัยจากแต่ละบุคคลได้ดีขึ้น จากพฤติกรรมการขับขี่ที่ทุกรูปแบบ ทุกสไตล์ ที่จะกลายเป็นข้อมูลในโลกดิจิทัล

เมื่อถามถึงเบี้ยประกันของ Tesla ที่ใช้กันแล้วในสหรัฐอเมริกา นายสิริวิชญ์ตอบว่า Tesla จะเก็บข้อมูลการขับขี่ผ่าน Telemetrics ซึ่งก็คือ AI ที่อยู่ในรถ แล้วประมวลผลข้อมูลทุกเดือน เบี้ยประกันที่คิดจึงเป็นแบบเดือนต่อเดือน ดังนั้น ผู้ขับขี่อาจจ่ายถูกลงหรือจ่ายแพงขึ้นในเดือนถัดไปก็เป็นได้

แม้ Tesla เข้ามาจดทะเบียนบริษัท TESLA Thailand แล้ว แต่ในด้านประกันภัย นายสิริวิชญ์ชี้ว่า ประกัน Tesla มีใช้แต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และไม่ว่า Tesla จะดำเนินธุรกิจในประเทศใด ต้องปรับแนวทางการเก็บเบี้ยประกันให้เข้ากับประเทศนั้นๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกมาก เนื่องจากผังเมือง ท้องถนน และบริบทต่างๆ ในแต่ละประเทศนั้นต่างกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...

Responsive image

นวัตกรรมใหม่ จะสร้างโอกาส หรือเข้ามา Disrupt ธุรกิจแบบเดิมๆ ? ส่องความเห็นจาก CEO ชั้นนำในยุคนวัตกรรม

อนาคตกำลังมาถึงเร็วขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย และกำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่คำถามสำคัญคือ นวัตกรรมอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้? ใครคือผ...