แง่คิดจาก ปตท. และ KP ปรับเปลี่ยนโดย ‘การประยุกต์ใช้’ ไม่ใช่ ‘การคิดค้นใหม่’ : การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการนำสินค้าอุปโภคบริโภคไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม | Techsauce

แง่คิดจาก ปตท. และ KP ปรับเปลี่ยนโดย ‘การประยุกต์ใช้’ ไม่ใช่ ‘การคิดค้นใหม่’ : การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการนำสินค้าอุปโภคบริโภคไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีกำลังเข้ามา Disrupt ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม โดยในงาน Techsauce Global Summit 2017 เองก็มี session ในเรื่องของพลังงานและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านบทสนทนาของ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม Innovation Lab, Express Solutions (หรือที่รู้จักกันในนาม ExpresSo) ปตท. กับ Brook Porter จาก Kleiner Perkins (KP) ที่มาพูดคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านพลังงานและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม โดย Porter เองเป็นพาร์ทเนอร์ของ Green Growth Fund ของ KP ซึ่งช่วยเหลือบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยประสบการณ์ด้านพลังงาน การขนส่ง และการเกษตรเป็นเวลาหลายปี

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา Porter และทีมงานของเขาที่ KP ตระหนักดีถึงแนวโน้มของหลากหลายทางเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้บริโภคกำลังถึงจุดอิ่มตัว และตอนนี้เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมแทน ซึ่ง Porter กล่าวว่า ในขณะที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมมีการเคลื่อนย้ายไปสู่อุตสาหกรรมแบบดิจิทัลจำนวนมหาศาล แต่ 2 ใน 3 ของ GDP ทั่วโลกยังไม่ได้ปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมแบบดิจิทัล นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีมาก

Porter และทีมงานของเขาได้ติดตามศึกษาเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาสำหรับผู้บริโภคซึ่งก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น เครื่องตรวจจับด้วยภาพ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน หุ่นยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเหล่านั้นพร้อมรองรับการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว อาทิ การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม โลจิสติกส์

จากผู้บริโภคไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม

Porter กล่าวว่า สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้เทคโนโลยีข้างต้นนี้สามารถนำไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมได้ โดยยกตัวอย่าง Nest ซึ่งเป็น Smart Thermostat (อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ) ที่ผลิตขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคใช้งานในบ้าน ซึ่งเมื่อเพิ่ม AI และ Design Thinking เข้าไปในอุปกรณ์ ก็ทำให้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการใช้งานในบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภคและผู้บริโภคได้อีกด้วย อีกตัวอย่างที่ดีคือ การพัฒนา Drones ให้มีราคาถูกลง ซึ่งสามารถลดหรือทดแทนแรงงานมนุษย์ที่มีต้นทุนแพงกว่าสำหรับการทำงานต่างๆ เช่น การตรวจสอบท่อ การตรวจหลังคาของแผงโซลาร์เซลล์

การที่ KP ตระหนักถึงโอกาสนี้ จึงได้สร้างกองทุนแยกต่างหากคือ G2VP เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดย Porter สรุปภารกิจของเขาว่า "เราลงทุนในทีมพิเศษที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ากับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ได้อย่างยั่งยืน" และระบุถึงองค์ประกอบเฉพาะ 5 ประการของภารกิจว่า

  • เป้าหมายหลัก: สร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น
  • ทีมผู้บริหารมีความสำคัญและและเราให้การสนับสนุนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • การประยุกต์ใช้โดยไม่ใช่การคิดค้นสิ่งใหม่
  • เลือกที่จะนำส่วนผสมที่ดีที่สุดมารวมกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ขยายโอกาสทางธุรกิจได้
  • สร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ Porter ยังกล่าวเสริมว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นด้วยความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

พูดถึงการประยุกต์ใช้ ไม่ใช่การคิดค้นสิ่งใหม่

เมื่อถามความเห็นของ Porter เกี่ยวกับ R&D (การวิจัยและพัฒนา) ของบริษัทแบบดั้งเดิม Porter ตอบว่างานวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นภายในบริษัทนั้นไม่มากพอ ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงสามารถมองหางานวิจัยจากภายนอกเพื่อนำมาสร้างความก้าวหน้าได้ ทั้งยังเน้นว่าการวิจัยและพัฒนาจากบริษัทแบบดั้งเดิมนั้น ไม่ควรถูกมองว่าเป็น ‘คู่แข่ง’ แต่ให้มองเป็น ‘คู่ค้า’ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีทรัพยากรจำนวนมากที่พร้อมจะถูกใช้งานอยู่แล้ว และนอกจากนั้น กองทุนของเขายังมุ่งจะอำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและบริษัทที่พวกเขาลงทุนด้วย

เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอุตสาหกรรมอย่างไร

ในภาคพลังงานนั้น ต้นทุนของโซลาร์เซลล์และแบตเตอรีลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งแนวโน้มนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนเป้าหมายไปที่พลังงานซึ่งกระจายตัวออกไปและการใช้พลังงานไฟฟ้าทุกส่วนของการขนส่ง โดยในการด้านการขนส่ง Porter และทีมงานของเขาคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ด้วยการพัฒนาของเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economies) กับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งจากอัตราการใช้ประโยชน์ 4% ของการใช้งานรถยนต์ส่วนตัว ที่มีค่าใช้จ่ายในการใช้รถ 1 ดอลลาร์/ไมล์ สำหรับรถยนต์มากกว่า 1 พันล้านคันทั่วโลกนั้น G2VP คาดการณ์ถึงอนาคตว่า อัตราการใช้ประโยชน์อาจเพิ่มขึ้นเป็น 40% โดยมีค่าใช้จ่ายในการใช้รถอยู่ที่ 0.20 ดอลลาร์/ไมล์ สำหรับการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติร่วมกัน ทั้งยังลดการใช้ยานพาหนะทั่วโลกได้ถึง 90%

ส่วนเทคโนโลยีโดรนอาจทำให้การตรวจสอบหลังคาและโครงสร้างสูงๆ เช่น สะพาน หอคอย มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมโดยการรวบรวมข้อมูลที่สามารถดำเนินการต่อได้แทนที่จะใช้การคาดการณ์ และนอกจากนี้ เทคโนโลยีนี้ยังนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายในด้านความปลอดภัยและสุขภาพ เช่น การตอบสนองขั้นต้นเพื่อช่วยชีวิต

อีกตัวอย่างคือ เซนเซอร์แบบเดียวกับที่พบในอุปกรณ์สวมใส่ขณะออกกำลังกาย สามารถใช้เก็บข้อมูลในโรงงานอุตสาหกรรมได้ โดยทั้งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ คุณภาพการผลิต และความปลอดภัย แต่ทว่าข้อมูลจำนวนมากนั้นมักจะขาดการเชื่อมต่อและทำงานบนแพลตฟอร์มเดิมๆ  ซึ่งถ้าสามารถเก็บข้อมูลจำนวนมากในรูปแบบดิจิทัลได้ เช่น ข้อมูลจากโรงไฟฟ้า คุณก็สามารถปรับปรุงระบบไฟฟ้า ทำให้โรงงานมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้นได้

การลงทุนอย่างชาญฉลาด

กวีวุฒิกล่าวว่า บริษัทไทยหลายแห่งเริ่มจัดตั้ง VC ของตนเอง และให้ Porter บอกแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินการดังกล่าว

ผมคิดว่านี่เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ มีบริษัทจำนวนมากที่ไปยังซิลิคอน วัลเลย์ และตั้งสำนักงานใหญ่ พวกเขารู้ว่านวัตกรรมจำนวนมากกำลังเกิดขึ้นที่นั่น จึงจำเป็นต้องเชื่อมต่อไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาถูก Disrupt แต่ต้องเอ่ยตามตรงว่าเราเห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้ทำในทิศทางที่ถูกต้อง พวกเขาคิดว่าเพียงแค่ส่งคนไม่กี่คนไปเป็นทัพหน้า และเริ่มต้นลงทุนโดยตรง แต่จริงๆ แล้วมันอาจมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก

หลายบริษัทไม่ได้ใช้เวลาในการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม และบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งก็ไม่เต็มใจที่จะยอมรับเงินแบบมีเงื่อนไข ซึ่ง G2VP ใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป โดยทำงานร่วมกับนักลงทุนเชิงกลยุทธ์และดูแลเรื่องความสัมพันธ์ไปด้วย นอกจากนี้ หลายๆ VC ยังอยู่ภายใต้แผนกการเงิน ซึ่งโดยทั่วไปขาดความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกิดขึ้นจริง แต่หาก VC รายงานไปยัง CTO หรือหน่วยธุรกิจเฉพาะที่มีความรู้ทางตรงจะดีกว่า เพื่อการตัดสินใจด้านการลงทุนที่ถูกต้อง

สำหรับสตาร์ทอัพที่สนใจทำงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรม Porter กล่าวถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘กฎข้อแรกของการร่วมทุน’ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยสตาร์ทอัพควรระบุความเสี่ยงที่มีโดยเร็วที่สุด เพื่อหาพาร์ทเนอร์ที่ใช่เพื่อขจัดปัญหานั้น

กวีวุฒิยังถามถึงวิธีการสร้างระบบนิเวศแบบซิลิคอน วัลเลย์  Porter ตอบโดยอ้างอิง 3 ส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่

  • มีคนที่มีพรสวรรค์ โดยหาผู้ที่มีความสามารถผ่านทางโรงเรียนชั้นนำ
  • มีผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ ซึ่งเป็นกองทุนที่เปิดกว้าง อดทนรอได้
  • มีวัฒนธรรมที่มีความอดทนต่อความล้มเหลว (อาจจะเป็นไปไม่ได้ในบางวัฒนธรรม)

วิธีการเลือกสตาร์ทอัพที่ควรลงทุนด้วย

Porter บอกว่า มันเป็นเรื่องระหว่างศาสตร์และศิลป์ ซึ่งมาตรวัดบางตัวอาจมีประโยชน์ อาทิ การจับคู่กันโดยใช้แบบแผน รวมไปถึงการเป็นผู้นำที่ดีด้วยการมีภูมิหลังที่แตกต่าง ซึ่งผู้ก่อตั้งจะนำพาธุรกิจให้มีความน่าสนใจมาก โดยต้องมีวิสัยทัศน์แรกเริ่มซึ่งเข้าใจถึงวิธีการขยายขนาดธุรกิจ และสิ่งสำคัญคือ ตัวของเทคโนโลยีเอง เป็น ‘ซอสพิเศษ’ ที่ทำให้มันแตกต่างออกไปหรือเปล่า ซึ่งการมองหาไอเดียและเทรนด์จากบรรดาลูกค้าเป็นสิ่งที่สามารถเป็นประโยชน์ได้ และการเรียนรู้สิ่งที่ลูกค้ากำลังทำอยู่จะช่วยระบุสิ่งที่จะทำให้เทคโนโลยีนั้นแตกต่างออกไปได้

หากคุณเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพหรือเทคโนโลยีขึ้นมาล่ะ?

ด้วยความมุ่งมั่นในการเพิ่มความหลากหลายและต่ออายุธุรกิจ  PTT ExpresSo จึงได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์บ่มเพาะและลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานที่มีศักยภาพ และหากคุณเป็นสตาร์ทอัพที่มีไอเดียสร้างสรรค์ก็อย่ารอช้า ตอนนี้ ExpresSo กำลังมองหาสตาร์ทอัพในอาเซียนอยู่!

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...

Responsive image

นวัตกรรมใหม่ จะสร้างโอกาส หรือเข้ามา Disrupt ธุรกิจแบบเดิมๆ ? ส่องความเห็นจาก CEO ชั้นนำในยุคนวัตกรรม

อนาคตกำลังมาถึงเร็วขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย และกำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่คำถามสำคัญคือ นวัตกรรมอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้? ใครคือผ...